บ้านเม็กซิโก สีแดงดูร้อนแรงหลังนี้ สร้างขึ้นสำหรับใช้ตากอากาศ ท่ามกลางราวป่าในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเม็กซิโก โดยเกิดขึ้นจากความต้องการของคู่สามีภรรยาที่อยากอยู่อาศัยในธรรมชาติ พร้อม ๆ การได้ใช้ชีวิตในวันหยุดอย่างเรียบง่ายและเป็นส่วนตัว
ทีมสถาปนิกจาก TACO taller de arquitectura contextual จึงเน้นการออกแบบที่ช่วยสร้างประสบการณ์การพักผ่อนอย่างเต็มที่ แม้ตัวบ้านจะมีขนาดเล็กกะทัดรัดเพียง 42 ตารางเมตร (452 ตารางฟุต) แต่กลับจุฟังก์ชันเพื่อความรีแลกซ์ไว้ภายในได้อย่างตอบโจทย์ ที่สำคัญยังดึงประโยชน์ของแสงและลมเข้ามาช่วยเติมเต็มการพักผ่อนให้น่าอภิรมย์ยิ่งขึ้นด้วย
เนื่องจากตัวบ้านตั้งอยู่กลางป่า สถาปนิกจึงออกแบบอาคารให้ยกสูงจากพื้นดินราว 2 เมตร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนัก และสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนผนังสีแดงที่เห็นนั้นเกิดจากการฉาบปูนที่ผสมกับแร่ธรรมชาติในท้องถิ่น ขณะที่ประตูเเละหน้าต่างบานเฟี้ยมแบบบานเกล็ด ก็ทำมาจากไม้ซีดาร์ซึ่งหาได้ในท้องถิ่นเช่นกัน ทั้งยังลดความน่าเบื่อของอาคารทรงกล่องด้วยเส้นสายซิกแซกของลูกตั้งและลูกนอนบันได
เมื่อเข้ามาด้านในตัวบ้านจะพบกับบรรยากาศที่ดูอบอุ่นและชวนผ่อนคลาย ด้วยการเลือกฉาบผนังปูนดิบที่มีส่วนผสมของปูนขาว ผสานไปกับการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ และของตกแต่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานทำมือจากวัสดุธรรมชาติ ดูเป็นเรื่องราวเดียวกันกับตัวอาคารและบริบทรอบ ๆ ผังพื้นที่ใช้งานชั้นล่างประกอบด้วยมุมที่เก็บของเล็ก ๆ ตรงข้ามกันคือห้องน้ำที่มีฝักบัวกลางแจ้ง มีห้องครัว และมุมรับประทานอาหารที่เปิดโล่งออกสู่ระเบียงพร้อมสระว่ายน้ำ ให้สามารถชื่นชมวิวและดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบ ๆ ได้เต็มที่ นอกจากความชิลแบบสุด ๆ แล้วยังมีข้อดีอีกอย่างคือเมื่อลมพัดผ่านจะหอบนำความเย็นสบายเข้ามาสู่พื้นที่ภายในบ้านด้านในด้วย
ส่วนพื้นที่ของห้องนอนได้รับการออกแบบให้อยู่บนชั้นลอยที่ต้องก้าวบันไดขั้นเล็ก ๆ ขึ้นไป หัวเตียงคือช่องหน้าต่างบานเฟี้ยมที่เปิดออกรับลมได้จนสุดในวันอากาศดี หรือจะปิดเข้ามาทั้งหมดเพื่อความเป็นส่วนตัว โดยที่ยังยอมให้ลมและแสงสว่างลอดผ่านเข้ามาด้านในได้ แสงที่ลอดผ่านเข้ามาตามซี่บานเกล็ดนั้น เมื่อตกกระทบลงบนพื้นผิวต่าง ๆ จะเกิดเป็นลวดลายของแสงเงาที่เปลี่ยนทิศทางไปตามแต่ละช่วงเวลาของวันดูสวยงามไปอีกแบบ
เรียกว่าแม้ภายนอกบ้านหลังนี้จะดูคล้ายอาคารทรงกล่องปิดทึบวางซ้อนกันแบบเรียบง่าย (เมื่อปิดหน้าต่างบานเฟี้ยมทั้งหมดเข้าหากัน) อันมาจากโจทย์ด้านความเป็นส่วนตัว แต่หากเมื่อเข้ามาด้านในแล้วจะพบว่า พื้นที่ทั้งหมดกลับถูกออกแบบให้เปิดรับและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ องค์ประกอบอย่าง ประตู และหน้าต่าง รวมถึงบรรดาของตกแต่ง หรือแม้แต่การเชื่อมโยงแสงแดด น้ำ ลม และต้นไม้เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ทุกนาทีของการมาพักผ่อนในบ้านตากอากาศแห่งนี้ เป็นความสุขจนแทบไม่อยากจะกลับไปเผชิญความวุ่นวายในเมืองอีกเลยทีเดียว
ออกแบบสถาปัตยกรรม : TACO taller de arquitectura contextual
http://www.arquitecturacontextual.com/
ภาพ : Leo Espinosa
เรียบเรียง : Phattaraphon