ก่อนจะเป็น สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ พื้นที่ตรงนี้คือชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งเป็น “ชุมชนชานกำแพงพระนคร” ที่เหลืออยู่แห่งสุดท้ายของเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านมากว่า 2 ปีกับการรื้อถอนชุมชนออกเพื่อปรับเป็นสวนสาธารณะอย่างในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้จัดงาน “ยลป้อมมหากาฬยามสายัณห์…ในวันดอกไม้บาน” เป็นสวนดอกไม้ในพื้นที่ 4 ไร่ ที่เปิดให้คนกรุงได้ชมเชยระหว่างเวลา 05.00 – 21.00 น. ทุกวัน จนถึงต้นปีหน้ากันเลย
สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ
นอกเหนือจากการไปชมความสวยงามของดอกไม้แล้ว เราควรตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า สวนแห่งนี้ได้ทำหน้าที่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ตามที่ กทม.ใช้เป็นเหตุผลในการรื้อชุมชนกลบหน้าประวัติศาสตร์ออกไปหรือไม่ เรามาฟังความคิดเห็นของ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ สถาปนิกผู้เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และ คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้ชำนาญการพัฒนาเมืองและการมีส่วนร่วมของชุมชน
ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถาปนิกและนักประวัติศาสตร์ผู้ทำวิจัยเรื่องบ้านโบราณในชุมชนมานานก่อนการไล่รื้อครั้งสุดท้าย และเป็นส่วนหนึ่งที่เสนอให้เก็บบ้านเก่าไว้คู่กับวิถีชีวิตชุมชนเพื่อทำให้เป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ร่วมกับหลายองค์กรภาคสังคม รวมถึงเป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมหลายแห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นเวลาไม่น้อย ได้ให้ความคิดเห็นว่า
สวนสาธารณะที่ถูกปิดล้อม
“ตั้งแต่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬมาเป็นสวนสาธารณะกว่า 2 ปี ตามที่เห็นกัน ถือเป็นสวนสาธารณะที่ล้มเหลวตามที่คาดการณ์ไว้ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งและบริบทไม่เหมาะกับการทำเป็นสวนสาธารณะอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด ขนาบด้วยคลอง และกำแพงเมืองเก่า จึงเข้าถึงพื้นที่ด้านในยาก ผลที่ตามมาคือ มีคนใช้งานน้อย” (อ่านรายละเอียดในบทสัมภาษณ์เรื่อง ย่านเก่า…ทำไมเราไม่เลือกเก็บ? – ย้อนมองกรณี ชุมชนป้อมมหากาฬ กับ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ )
“ส่วนการทำเป็นสวนดอกไม้เป็นอีกประเด็น ซึ่งถือเป็นอีเว้นต์ชั่วคราวและตกแต่งด้วยดอกไม้ที่บานสวยแบบชั่วคราวเช่นกัน ไม่ใช่ว่าอีเว้นต์สวนดอกไม้แบบนี้ไม่ดีนะ แต่มันไม่คุ้มค่ากับ “คุณค่า” ของพื้นที่ เราไม่เรียกร้องการเอาชุมชนกลับมา แต่พื้นที่ตรงนี้ทาง กทม. โปรโมทมาตลอดว่า เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ถ้ารื้อชุมชนแล้วจะเผยให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถาน และจะทำเป็นสวนสาธารณะที่ให้คนเมืองมาใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เท่าที่รับรู้ ยังไม่มีอะไรสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทั้งสองอย่างนั้น”
เราไม่อาจย้อนอดีต แต่ควรไปในทิศทางที่ถูกต้อง
“จากการประเมินช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาทาง กทม. อาจจะไม่ได้มีการวางแผนระยะยาว ในอนาคตที่ตรงนี้อาจจะเป็นเพียงพื้นที่ว่างสำหรับจัดอีเว้นต์ตามเทศกาล แต่ความคาดหวังและสิ่งควรจะเป็นไป คือ ควรกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เคยโปรโมทไว้เมื่อหลายปีก่อน และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองพูดจริง ๆ ว่าจะพัฒนาพื้นที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ “ชานกำแพงพระนคร” เหลืออยู่แห่งเดียวในเกาะรัตนโกสินทร์อย่างไร”
คุณยศพล บุญสม
ภูมิสถาปนิกและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท ฉมา จำกัด และ บริษัท ฉมา โซเอน จำกัด ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อทำเมืองให้น่าอยู่ ได้ให้ความคิดเห็นว่า
ดิสนีย์แลนด์ข้างกำแพงเมือง
“การเป็นพื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวที่เป็นสนามหญ้าเรียบ ๆ และวัด วัง เท่านั้นที่ถือเป็นสิ่งมีคุณค่าคู่ควรกับเมือง ถ้ามีกรอบแนวคิดแบบนั้น จะทำให้วิถีชุมชนและชาวบ้านซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเมืองก็จะหายไปด้วย และจะกลายเป็นเมืองที่ไม่มีชีวิต เป็นเมืองที่ตอบสนองนักท่องเที่ยวซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับรากที่เราเป็น คิดง่าย ๆ หากเราเดินเข้าไปในสถานที่นั้นแล้วไม่รับรู้ถึงความเป็นมา ก็เหมือนเราไปดิสนีย์แลนด์ เมื่อย้อนกลับมาดูที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬที่เป็นสนามหญ้าเรียบร้อยมีสวนดอกไม้ก็กำลังกลายเป็นแบบนั้น ซึ่งไม่มีอะไรที่จะส่งต่อหน้าประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นต่อไปได้”
“หากมองในแง่การท่องเที่ยวของยุคนี้ เราไม่ได้ท่องเที่ยวเพื่อไปดูสิ่งก่อสร้างที่ตายไปแล้ว แต่อยากเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตที่เป็นรากของพื้นที่นั้นๆ เป็นเรื่องน่ากังวลว่าพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์กำลังทำในสิ่งตรงกันข้ามที่วิถีชีวิตค่อยๆ หายไป แลกกับเมืองที่ดูสวยเป็นระเบียบขึ้น ซึ่งจริงๆ มันมีตรงกลางที่จะทำได้ทั้งการรักษาวิถีชีวิตและเมืองที่เป็นระเบียบ”
หัวใจของพื้นที่สาธารณะที่ดี ไม่ใช่พื้นที่แต่คือผู้คน
“ต้องบอกว่าน่าเสียดายที่สวนแห่งนี้ขาดใน 2 ประเด็น ใหญ่ ๆ คือ ไม่ได้รับการออกแบบด้านกายภาพให้มีคุณภาพ และวิธีการที่จะให้คนเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ดั้งเดิม อีกประเด็นคือ ขาดการบริหารจัดการที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมที่ยึดโยงย่านกับผู้คนเข้าด้วยกัน เราไม่ควรจะมาถึงจุดนี้ที่ลบภาพเดิมออก แล้วมาจำลองประวัติศาสตร์ที่เคยอยู่ตรงที่เราลบมันไป”
“กรณีการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬนั้นแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่อาจเกิดกรณีอื่นๆ อีก ถ้าเราไม่ทบทวนการพัฒนาเมืองในรูปแบบนี้ ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่การปรับทัศนคติของภาครัฐว่า พื้นที่สาธารณะที่ดีเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่ที่สวยงามปลูกต้นไม้เป็นแนวเท่านั้น แต่คือการมีส่วนร่วมของผู้คนให้เกิดความรักในย่านและชุมชน ผู้คนจึงควรมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก คิดร่วมกันว่าจะพัฒนาและบริหารจัดการกันอย่างไร ซึ่งมีหลายโครงการในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นแล้วและทำได้ดี สุดท้ายคือการปรับกลไกของหน่วยงานภาครัฐ จะใช้กลไกเดิมๆ ที่ กทม. ทำเองทุกอย่างไม่ได้แล้ว อาจต้องมีความร่วมมือจากภาคเอกชน มีการประกวดแบบ และอีกหลายๆวิธี แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ถ้าเราอยากให้เมืองดีขึ้น เราก็ควรต้องทำ”
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ฝ่ายภาพนิตยสาร room, บ้านและสวน
อ่าน ย้อนเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ
ย่านเก่า…ทำไมเราไม่เลือกเก็บ? – ย้อนมองกรณี ชุมชนป้อมมหากาฬ กับ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ
อ่าน โครงการที่ประสบความสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของชุมชน