ไม่ไกลจากตัวอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา “ชลาลัย พูล วิลล่า” (Chalalai pool villa) คือบ้านรับรองของ Chalalai property ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการมาสังสรรค์ของแขกจากต่างถิ่น ด้วยพื้นที่ตั้งซึ่งเป็นเนินขนาดย่อม ด้านหน้าติดถนนเล็ก ๆ ที่เป็นเหมือนซอยลัดมีผู้คนสัญจรไปมาอยู่พอสมควร ขณะที่ด้านหลังมีโค้งน้ำดูสวยงาม เเละมีป่าอันสมบูรณ์อยู่ฝั่งตรงข้าม
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Juti Architects
เหตุผลทั้งหมดทำให้ คุณจุติ กลีบบัว สถาปนิกผู้ออกแบบ ชลาลัย พูล วิลล่า เลือกจัดการกับพื้นที่เป็นอันดับแรก ด้วยการสร้างพื้นที่ส่วนตัวติดริมน้ำ เพื่อกันเสียงและมุมมองจากถนนที่อยู่ด้านหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องการให้อาคารมีความสอดคล้องกับพื้นที่ที่เป็นเนินขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถเปิดรับวิวต้นไม้และโค้งน้ำด้านหลังอาคารได้มากที่สุด
โดยสถาปนิกได้นำไม้หมอนรถไฟที่เจ้าของโครงการสะสมไว้ และมีความตั้งใจว่าจะนำไปสร้างกระท่อมท่อนซุงแบบ LOG CABIN โดยใช้ความประทับใจจากรูปแบบการเก็บกองไม้มาเป็นไอเดีย
เขาอธิบาว่า “สเปซที่ถูกบีบให้แคบระหว่างกองไม้และขยายใหญ่ขึ้น ให้มิติด้านมุมมองที่ทั้งแคบ ดูมืดสลัว และมีความโปร่งสลับกันเป็นจังหวะ ซึ่งดูเป็นความไม่ตั้งใจแต่น่าสนใจ ความสูงต่ำที่ดูมีระเบียบบนความไม่สมดุลของกองไม้ แสงที่ลอดผ่านกองไม้เเล้วกระทบลงบนผิวหยาบของไม้ และเงาที่ตกกระทบกองไม้ที่สูง-ต่ำ หรือมีความยื่นเหลื่อมล้ำกันไปบ้าง เป็นแรงบันดาลใจมาสู่อาคารที่คลี่คลายจากภาพที่ดูเป็นนามธรรม มาสู่รูปเเบบมินิมัลลิสต์ที่เรียบง่ายขึ้น”
“อาคารถูกออกแบบให้เกิดการลดหลั่นกันตามความสูงของแผ่นผนัง แล้วแทรกพื้นที่พักอาศัยเข้าไปอยู่ระหว่างกลาง บนการสลับสูง-ต่ำของพื้นที่อย่างกระชั้น เช่นจากพื้นที่สูงเปิดปกติ ไปเป็นพื้นที่ที่สูงขึ้นไปอีกหนึ่งเท่าตัว และลดลงมาเป็นความสูงปกติอีกครั้งในพื้นที่ส่วนตัวที่อยู่ถัดออกมา หรือการเจอพื้นที่แคบลึกถัดจากพื้นที่ขนาดกว้างในทันที โดยทุก ๆ ส่วนยังคงสามารถเปิดรับเเสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาได้จากช่องเปิด รูปทรงเหลี่ยมในความสูงต่าง ๆ ที่ว่าไปนี้ จะเป็นเหมือนการสร้างกรอบให้แก่วิวป่าสีเขียวด้านหลังไปในตัว”
การลดหลั่นของขนาดอาคารและครีบของผนังที่มีความยื่นไม่เท่ากันนี้เอง สร้างมิติและเงาตกกระทบลงบนพื้นผิวอาคารให้เกิดความน่าสนใจ แบ่งอาคารได้เป็น 2 ยูนิต ประกอบด้วยยูนิตแบบ 2 ห้องนอน 1 ห้องโถง และยูนิตแบบ 3 ห้องนอน 1 ห้องโถง และ 1 moon deck ที่สามารถใช้งานเชื่อมต่อกันรวมเป็น 1 อาคาร 5 ห้องนอนได้
สำหรับไม้หมอนรถไฟเก่า ถูกนำมาผ่าและแบ่งการใช้งานต่างกันดังนี้ ไม้ผิวนอกที่ขรุขระและขัดไม่ได้ นำไปกรุส่วนอาบน้ำนอกอาคาร และเฟอร์นิเจอร์บางส่วน ส่วนที่ขัดทั้งผิวนอกและส่วนด้านในของไม้หมอน นำไปกรุในส่วนผนังภายนอกอาคาร และในส่วนของผนังภายในอาคารใช้ส่วนในของไม้หมอนรถไฟที่สามารถขัดเรียบได้ ถูกนำมากรุผนัง
นอกจากนี้ผนังปูนฉาบเปลือยผิว หินกาบ และหินอ่อนซับกระทิงลาย ล้วนเป็นวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ นอกจากให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติเเท้ ๆ เเล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงกับบริบทที่ตั้ง ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งผลิตหินตกแต่งอาคารแหล่งใหญ่ จึงช่วยลดงบประมาณเเละเวลาการขนส่งลงไปได้มาก
การใช้ไม้ที่ถูกใช้งานมาแล้ว (Reclaimed Wood) ในส่วนของงานเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน เคาน์เตอร์ในห้องนอน และลูกบันได รวมถึงการใช้พื้นกระเบื้องยางลายไม้แทนที่การซื้อไม้มาปูพื้นเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการหารือร่วมกันของสถาปนิกและเจ้าของโครงการ เพื่อหาจุดลงตัวในการใช้วัสดุให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุดในแง่ของงบประมาณ และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยที่พื้นที่ภายในอาคารยังได้ความรู้สึกที่เป็นการพักอาศัยเเบบกระท่อมท่อนซุงกลางป่า ตามความตั้งใจแรกของเจ้าของโครงการไว้ได้อย่างครบถ้วน
เจ้าของ-ก่อสร้าง: Chalalai property
ออกแบบ: JUTI architects
สถาปนิก: จุติ กลีบบัว
วิศวกรโครงสร้าง: มงคล แจ้คำ
ภาพ: พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ (www.addcandid.com)
เรียบเรียง: ND24