โรงเรียน แนวคิดใหม่ที่ออกแบบโดยบริษัท Plan Architect แห่งนี้ ไม่ใช่เพียงรูปทรงอาคารที่น่าสนใจและแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป แต่เบื้องหลังของรูปทรงที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากแนวคิดของการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ใช้พื้นที่ตามจินตนาการ ค้นหาการรับรู้ใหม่ผ่านพื้นที่ “เล่น” ที่ปลุกเร้าความสนใจ ด้วยรูปทรงอิสระและผนังโค้งที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ และนี่ก็คือ Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษ ที่เชื่อว่าการเล่นคือ การเรียนรู้ที่ดีที่สุด หรือที่เรียกว่าหลักสูตร Play-based Learning นั่นเอง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Plan Architect
“เรียน ผ่าน การเล่น” กับโรงเรียนที่เป็นเหมือนกับโรงเรียนสอนพิเศษ มีกิจกรรมที่หลากหลาย การสร้างทักษะต่าง ๆ รวมถึงการเรียนรู้ที่ผ่านกระบวนการเล่นเป็นหลัก เพื่อสร้างความรู้สึกให้ผู้เรียน “อยากไปโรงเรียน” เพราะในวัยแรกเรียนรู้เช่นนี้ การสร้างทัศคติที่ดีต่อการเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้เองจึงส่งผลให้พื้นที่ต่าง ๆ ของโรงเรียน ได้รับการออกแบบให้มีบรรยากาศน่าสนใจและไม่จำเจ เหมือนห้องเรียนที่อยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมอย่างที่เราทุกคนคุ้นชินเมื่อพูดถึง “โรงเรียน”
จาก ห้องสี่เหลี่ยม สู่ อาคารรูปวงกลม
สำหรับรูปทรงของอาคารแห่งนี้ ทีมสถาปนิกได้เริ่มต้นจากการกำหนดพื้นที่ใช้งานขึ้นก่อน และแบ่งพื้นที่สีเขียวออกตามขนาดที่ดิน จากนั้นได้มีการเรียบเรียงการเข้าถึงแต่ละพื้นที่ด้วยรูปแบบ Linear ไล่เรียงกันไป ด้วยวิธีการนี้ การเข้าถึงแต่ละพื้นที่ทั้งการใช้งานและธรรมชาติโดยรอบ จึงสามารถทำได้ทั้งสองฝั่งของอาคาร
การออกแบบอาคารในรูปแบบ Linear ข้างต้นนั้น เมื่อถูกเพิ่มเติมด้วยหลักการวางอาคารตามทิศแดด ลม ฝน (Orientation) และเพื่อให้เหมาะกับการวางผังอาคารสำหรับเด็กที่เน้นการมองเห็นกันและกันได้ทั้งหมด ผังอาคารที่ Centerise เข้าสู่พื้นที่กลางอาคาร จากเส้น Linear แนวตรง ได้ถูกพัฒนาเป็นเส้น Linear แนวโค้งแบบวงกลม ด้วยรูปแบบนี้จึงช่วยให้ห้องทุกห้องสามารถเห็นกันได้ และมีธรรมชาติอยู่ทั้งส่วนกลางอาคารและโดยรอบ
เมื่อได้ผังอาคารรูปวงกลมมาแล้ว จากเดิมที่การออกแบบอาคารมักเพิ่มการใช้งานลงไป โดยสร้างเป็นชั้นที่ 2 และชั้น 3 แต่เพื่อให้ทุกพื้นที่ยังมีความเชื่อมโยงที่ลื่นไหลเป็นเนื้อเดียวกัน Kensington Learning Space จึงเลือกที่จะออกแบบให้จากส่วนต้อนรับ ผังอาคารค่อย ๆ ยกตัวขึ้นแบบ Spiral จนไปถึงชั้่นที่ 3 ผลพลอยได้คือ รูปทรงอาคารที่น่าสนใจไม่แข็งกระด้าง และดูต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันทั้งอาคาร
อาคาร + ธรรมชาติ = สนามเด็กเล่นขนาดยักษ์
นอกจากรูปทรงของอาคารที่ดูเป็นธรรมชาติผ่านออกแบบที่ไร้เหลี่ยมมุม มีความเป็นรูปทรงที่อิสระ และเสริมสร้างจินตนาการแล้วนั้น การออกแบบที่สร้างมุมมองที่แตกต่างระหว่างภายในกับภายนอกในทุก ๆ มุมของอาคารยังเป็นสิ่งที่สำคัญอีกด้วย เพราะจากแนวผนังทรงโค้งซึ่งยื่นเข้าออกรับกับสวนภายนอก ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของอาคารจะไม่รู้สึกเป็นมุมซ้ำซากที่น่าเบื่อแต่อย่างใด ทั้งพื้นที่สระว่ายน้ำที่ชั้นล่าง สนามเด็กเล่นที่ส่วนกลางอาคาร ไปจนถึงห้องต่าง ๆ ที่ไล่เรียงตัวขึ้นไปจนถึงชั้น 3
ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อสร้างให้เหล่าเด็ก ๆ เกิดความสนใจในการค้นหาพื้นที่ที่ตัวเองชอบในอาคารหลังนี้ ราวกับที่นี่ได้กลายเป็นสนามเด็กเล่นขนาดยักษ์ให้พวกเขาได้เล่นสนุกเพลิดเพลินทุกวันที่ได้มาโรงเรียน และส่งเสริมให้การเรียน ๆ เล่น ๆ แบบ Play-based Learning สัมฤทธิ์ผลได้ดียิ่งขึ้น
จิตนาการ สำคัญพอ ๆ กับความรู้
เพื่อลบกรอบเดิม ๆ ที่มาบังคับความคิดของเหล่าเด็ก ๆ การออกแบบอาคารหลัง จึงตั้งใจสร้างความเปิดกว้างให้เด็ก ๆ เกิดจินตนาการที่จะสร้างความใฝ่รู้ให้กับพวกเขา ทั้งรูปทรงและจังหวะของพื้นที่ เช่น สระว่ายน้ำใต้อาคาร ที่ทำเป็นรูปทรงคล้ายถ้ำสร้างความรู้สึกของการผจญภัย หรือการต่อเชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยบันได และสไลเดอร์ หลายส่วนของอาคารมีการออกแบบให้เหมือนเป็น Sculture Form หรือรูปทรงมีความเป็นเอกลักษณ์ เช่น สวนที่มีการปั้นเนิน หรือการเปลี่ยนระนาบปกติของอาคารให้ต่อเนื่องแตกต่างกัน เพื่อให้เด็ก ๆ มีพื้นที่พิเศษที่ตัวเองสามารถจดจำ (และอาจยึดเอาเป็นพื้นที่โปรดของตัวเอง) ตามแต่พวกเขาจะจินตนาการ สร้างให้ผู้เรียนรู้สึกมีส่วนร่วม (Engagement) กับพื้นที่ และอยากที่จะมาโรงเรียนในทุก ๆ วัน
อาคารที่ส่งเสริมการเล่นเพื่อเรียนรู้แบบ Play-based
เพราะที่นี่ได้รับการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ว่าจะวิชาดนตรี กีฬา ภาษา หรือแม้แต่คณิตศาสตร์ ทุกวิชาจะเปลี่ยนให้เป็นการเล่นทั้งหมด เป็นเหมือนการกระตุ้นให้เด็ก ๆ มีพลังที่อยากจะเรียนรู้ และสนุกไปกับสิ่งนั้นได้ตลอด การออกแบบอาคารจึงต้องสร้าง Dynamic หรือความเป็นพลวัตรให้สื่อถึงพลังงานดี ๆ ที่ไหลเวียนอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ผู้ออกแบบค้นพบคือ รูปทรงของอาคารที่สามารถช่วยสื่อสารแนวคิดเหล่านี้ได้ ไม่ใช่แต่เพียงเด็กนักเรียน แต่รวมไปถึงผู้ปกครอง และเหล่าผู้ใหญ่ที่มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนเช่นกัน เมื่อรูปฟอร์มของอาคารมีพลวัตรที่สร้างความรู้สึกน่าค้นหา ผนวกกับพื้นที่สีเขียวของโรงเรียน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความรู้สึกร่มรื่น ผ่อนคลาย(Enjoyment) และกระตุ้นความรู้สึกสนุกกับการเรียน(Playfulness)ไปพร้อม ๆ กัน จึงทำให้เด็ก ๆ ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียน(เล่น)ที่โรงเรียนแห่งนี้เลย
สีสันจากเด็กน้อย คือสีจริงของอาคาร
ส่วนสุดท้ายเมื่อถามถึงสาเหตุที่สีของอาคารแห่งนี้เป็นสีขาว หาใช่สีฉูดฉาดอย่างที่เราคุ้นชิน เมื่อคิดถึงอาคารที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นเยาวชน สิ่งที่เราได้คำตอบมาจากผู้ออกแบบจึงทำให้เราเข้าใจ เพราะสีขาวที่ใช้นั้น แท้จริงแล้วเปรียบได้กับผืนผ้าใบ เพราะเมื่ออาคารถูกใช้ เหล่าเด็ก ๆ มือซนก็จะเริ่มแต่งแต้มผ้าใบสีขาวผืนนี้ขึ้นมาด้วยความสดใสของพวกเขาเอง รวมทั้งเหล่าเครื่องเล่น ผลงานศิลปะ และอะไรก็ตามที่เป็นผลผลิตจากการ “เล่น” ของพวกเขา สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นสีจริงของอาคารไปในที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคิดมาแล้วว่า การเลือกสีใดสีหนึ่งไปก่อนนั้น อาจไปจำกัดจินตนาการ และอาจเป็นทั้งที่ชอบและไม่ชอบของเด็กบางคนได้นั่นเอง
และนี่ก็คืออีกหนึ่งการออกแบบโรงเรียนที่น่าสนใจและอยู่ในรูปแบบที่เราอาจไม่คุ้นชินกันนัก โดย Plan Architect แต่เชื่อเหลือเกินว่า ในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นการศึกษาในรูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งการศึกษาในหลักสูตร Play-based Learning อย่างเช่นที่ Kensington Learning Space แห่งนี้ มากยิ่งขึ้นเป็นแน่นอน ถ้าให้เลือกระหว่างเล่นกับเรียน คุณผู้อ่านก็คงตอบได้ไม่ยากใช่ไหมละครับว่าชอบอะไร
Kensington Learning Space
Architect : Plan Architect (Design Team: Wara Jithpratugs, Premprajak teyarajkul )
Landscape Design : Plan Architect Interior Design : IF (Integrated Field) Environmental Graphics : IF (Integrated Field) Structure Engineer : Prawit Phanwiroj, Dr.Arthit Petchsasithon, Nattapon Wathanamunkong Mechanical Engineer : Plan Engineering (PEN) Photographer : Ketsiree Wongwan
Text : Wuthikorn Sut