บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง ที่แฝงตัวเงียบสงบอยู่เบื้องหลังผนังอิฐ ภายในโปร่งสบายด้วยการเชื่อมต่อระหว่างภายนอก-ภายใน และการออกแบบที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ เอื้อให้มีทั้งแสงธรรมชาติ และอากาศหมุนเวียนได้อย่างทั่วถึง
เจ้าของ: คุณบัณจง-คุณพฤทธิ์ ธนะแพสย์
ออกแบบ: Research Studio Panin
บ้านในอำเภอเมืองฯ จังหวัดร้อยเอ็ด หลังนี้คือผลงานของ Research Studio Panin นำโดย รศ.ดร. ต้นข้าว ปาณินท์ หรือ อาจารย์ต้นข้าว ของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับคุณธนาคาร โมกขะสมิต ซึ่งออกแบบ บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง หลังนี้ภายใต้เงื่อนไขหลักจากเจ้าของบ้านคือ ต้องการให้บ้านมีความโปร่งโล่งอยู่สบาย พร้อมกันนั้นยังต้องมีมุมพักผ่อนอย่างสระบัวตั้งอยู่ด้านในสุดของที่ดิน ประกอบกับสวนที่ติดกับสระว่ายน้ำ รวมเป็นลานพักผ่อนขนาดใหญ่สำหรับสมาชิกครอบครัว
“ความต้องการแรกของเจ้าของบ้าน คือต้องการให้บ้านโล่งมาก ๆ เพราะที่นี่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด เขาบอกว่าอากาศที่นี่โอเค ถึงแม้จะร้อนบ้าง แต่เขาก็อยากจะลองดูว่าถ้าลองเปิดโล่งหมด แล้วไม่ต้องใช้แอร์จะเป็นอย่างไร” อาจารย์ต้นข้าว สถาปนิกโครงการเล่าถึงที่มาที่ไปของแนวคิดในการออกแบบ
บ้านที่ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ
เมื่อต้องมีสวนหลังบ้านและสระว่ายน้ำนั่นจึงเป็นที่มาของการออกแบบ และวางผังให้บ้านมีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) ล้อมสระว่ายน้ำซึ่งหันหน้าไปสู่ด้านหลัง อันสอดคล้องกับจุดเด่นสำคัญ นั่นคือการทำผนังบ้านทั้งสองฝั่งให้โปร่งทะลุถึงกันได้ตามแนวคิดการอยู่อาศัยที่ไม่ต้องการพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ ฉะนั้นวัสดุที่เลือกใช้ทำผนังบ้านจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ดังเช่นที่สถาปนิกกล่าวว่า
“ผนังอาคารด้านที่ติดถนนเราใช้อิฐบล็อกช่องลมเพื่อให้ลมและอากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้มากที่สุด ส่วนผนังทางเดินด้านในที่อยู่ติดกับสระว่ายน้ำ เราเลือกใช้บานประตูตะแกรงอะลูมิเนียมฉีกทำสี เลยดูโปร่งโล่งแบบโอเพ่นแอร์ทั้งหมด”
บานเปิดสร้างพื้นที่กึ่งภายนอก-ภายใน
ประตูอะลูมิเนียมฉีกบานสูงทำสีเทา – ดำยาวตลอดแนวผนังบ้านด้านในนั้น สถาปนิกออกแบบให้มีความสูงจากพื้นจรดคานและเพดานทั้งชั้น 1 และชั้น 2 เปลือกอาคารด้านนี้จึงเป็นผนังที่สามารถเปิดออกได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยแทบไม่มีองค์ประกอบอื่นใดมาปิดกั้น ตลอดทั้งผนังจึงสามารถนำความปลอดโปร่งเข้าสู่พื้นที่ภายในได้ทุกส่วน เหมือนเป็นการเชื่อมพื้นที่ระหว่างข้างนอก และข้างในได้อย่างไร้รอยต่อ ในขณะที่บรรดาผนังห้องที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้นอย่างผนังของห้องนอนที่อยู่ด้านในแม้จะปิดทึบ แต่แทบทุกผนังในนี้ก็ยังมีประตูกระจกบานใหญ่ที่สามารถเปิดออกไปสัมผัสอากาศภายนอกได้ ราวกับพื้นที่ทั้งภายนอกและภายในสามารถเชื่อมต่อกันได้หมดเป็นพื้นที่เดียว
ผนังต่างวัสดุ สองอารมณ์ ต่างฟังก์ชั่น
ในขณะที่ที่ดินขนาดกว่า 2 ไร่ 3 งาน ถือเป็นข้อได้เปรียบหลักอันนำมาซึ่งความโปร่งโล่งของบ้านหลังนี้ แต่ด้วยความที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักของเมืองอันคลาคล่ำไปด้วยการจราจรอย่างถนนแจ้งสนิท จึงเป็นข้อจำกัดด้านการออกแบบที่ส่งผลถึงแนวคิดในการเลือกใช้อีกหนึ่งวัสดุ
“เราใช้ตะแกรงอะลูมิเนียมฉีกทำสีมันก็เลยโล่งทั้งหมด ส่วนอีกด้านหนึ่งเราใช้อิฐบล็อกช่องลม ฟาซาดด้านนี้ก็เลยเหมือนเป็นสกรีนจากถนนใหญ่ เราเลยตัดสินใจใช้ภาษาของผนังทั้งสองด้านที่ไม่เหมือนกันเลย ถ้าดู เผิน ๆ จะเหมือนกับเป็นบ้านคนละหลัง”
เมื่อมองจากหน้าบ้าน ผู้คนที่ผ่านไปมาจะมองเห็นเพียงแผงผนังอิฐช่องลมสีส้ม สูงใหญ่หนึ่งแผงอยู่เบื้องหลังแนวรั้ว และสวนสีเขียว หากไม่ทราบที่มาที่ไป หลายคนอาจจะเดาไปต่าง ๆ นานาว่าที่นี่เป็นโรงแรม โรงงาน บ้าน หรืออาคารอะไรสักอย่างซึ่งนั่นเป็นหนึ่งความตั้งใจของผู้ออกแบบในการสร้างความปลอดภัยด้านมุมมองและปิดกั้นความวุ่นวายจากถนนภายนอก หรืออาจเรียกว่าอาคารนี้กำลังพยายามสื่อสารตัวเองกับท้องถนนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“ไม่อยากให้มันพูดอะไรมาก เพราะมันติดถนนใหญ่ ไม่อยากให้คนมองเข้ามาแล้วรู้ว่าเป็นอะไร ไม่รู้ว่ามันเป็นบ้านหรือเป็นอะไรกันแน่ คือ อยากให้มันดูกลาง ๆ รวมถึงไม่รู้ว่ามีอะไร หรือห้องอะไรอยู่ภายในบ้าง”
สเปซแบบกึ่งปิดกึ่งโปร่ง
จากแนวคิดทั้งหมดนี้ นอกจากผนังอะลูมิเนียมฉีก และผนังอิฐช่องลมที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น พื้นที่ภายในยังเน้นความโปร่งด้วยการทำช่องทางเดินขนาดใหญ่กว่าปกติไว้รอบพื้นที่ใช้สอยหลัก นอกจากจะเป็นที่โล่งเหมือนห้องอเนกประสงค์อีกห้องหนึ่งแล้ว ยังช่วยในเรื่องการลดความร้อนที่จะกระทบเข้าสู่ตัวบ้าน ช่วยกันฝนเหมือนเป็นชายคายื่นยาว และช่วยกันฝุ่นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังเช่นที่สถาปนิกสรุปไว้ในตอนท้าย
“แน่นอนว่ามันก็ต้องมีประเด็นเรื่องของแมลงหรืออะไรบ้าง แต่คือเราต้องคุยกันว่า คนที่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตในบ้านที่เหมือนบ้านไทยสมัยก่อนอย่างนี้ก็ต้องมีปัญหาเรื่องนี้บ้าง เป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็อยากจะให้ได้สเปซแบบนี้ คือเป็นสเปซกลาง ๆ ไม่รู้สึกเหมือนกับว่าโอเพ่นแอร์นัก ไม่เท่าเรือนไทยหรือชานบ้านไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถึงขนาดปิดกั้น อยากได้พื้นที่ที่มันก้ำ ๆ กึ่ง ๆ พอใช้งานจริง ห้องที่มีกระจกปิด เขาก็สามารถเปิดหน้าต่างได้หมดเลย มันก็เลยกลายเป็นโอเพ่นแอร์ทั้งหมด ซึ่งเราก็แฮ็ปปี้นะ รู้สึกว่าจริง ๆ มันเป็นวัตถุประสงค์แรกอยู่แล้วที่เราอยากให้บ้านเป็นอย่างนี้”
บ้านหลังนี้จึงสามารถมอบสภาวะน่าสบายให้แก่ผู้อาศัยผ่านการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุ ที่เอื้อให้การอยู่อาศัยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศเป็นไปได้อย่างแท้จริง
ภาพ: Spaceshift Studio
เรื่อง: กรกฎา