เมื่อมองจากภายนอก อาจเห็นเป็นเพียง บ้านโมเดิร์นสีขาว ที่โดดเด่นจากบริบทรอบ ๆ ทว่าในความเป็นจริง ใจความสำคัญของที่นี่คือ การสร้างคุณภาพชีวิตของเจ้าของบ้านให้ดียิ่งขึ้นในทุกวัน โดยให้สถาปัตยกรรมทำหน้าที่หลอมรวมระบบนิเวศเข้ามาทีละน้อย ๆ จนถึงวันหนึ่งที่ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน นั่นจึงเป็นความสมบูรณ์แบบของการอยู่อาศัยที่แท้จริง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: AAd – Ayutt and Associates Design
บ้านโมเดิร์นสีขาว ที่ภายในอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดการออกแบบที่น่าสนใจ มีจุดเริ่มต้นมาจากเจ้าของบ้านที่ต้องการสร้างบ้านสำหรับใช้ชีวิตในวัยเกษียณ โดยมีโจทย์ว่าบ้านต้องมีความโมเดิร์น และอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ คุณอยุทธ์ มหาโสม จาก Ayutt and Associates design (AAd) จึงออกแบบบ้านหลังนี้ให้มีความถ่อมตน และน้อมรับธรรมชาติให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสถาปัตยกรรม
วางแผนให้บ้านขาวกลายเป็นสีเขียว
บ้านหลังนี้ได้รับการวางแผนให้มีพื้นที่สีเขียวถึง 150 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายอาคารกำหนดไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่ว่างอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์เสียอีก ด้วยการเพิ่มต้นไม้ลงไปในแทบทุกส่วนของบ้าน เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าไว้ปลูกต้นไม้ รวมถึงพื้นที่สีเขียวแนวตั้งที่เข้ามาเติมบรรยากาศให้บ้านสีขาว เปรียบเสมือนตัวบ้านเป็นผ้าแคนวาสขนาดใหญ่ที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีเขียวหลากหลายเฉดสีจนเต็ม
“ผมมีหน้าที่ออกแบบบ้านให้ดีที่สุด ส่วนบ้านจะเติบโตหรือเปลี่ยนเฉดสีไปอย่างไร หลังจากนี้ ให้เป็นเรื่องราวของเจ้าของบ้านกับระบบนิเวศ สำหรับงานส่วนใหญ่ของ AAd นั้น เราตั้งใจอยากให้บ้านทุกหลังมีพื้นที่สีเขียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการอยู่อาศัยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์”
ระแนงสีขาวที่ห่อหุ้ม
นอกจากการนำธรรมชาติให้ค่อย ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านแล้ว ผู้ออกแบบยังให้ความสำคัญกับเฉดสีของแสงเงา เพื่อประโยชน์ด้านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระแนงบริเวณทางเดินเข้าบ้านและฟาซาดที่ห่อหุ้มอาคารเอาไว้ ซึ่งมีผลมาจากกฎของหมู่บ้านที่กำหนดไม่ให้ก่อสร้างรั้วบ้านโดยเด็ดขาด นั่นทำให้บ้านทุกหลังของโครงการไม่มีรั้วบ้าน สถาปนิกจึงต้องออกแบบระแนงและเปลือกอาคารขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สร้าง “ความปลอดภัย” ให้กับบ้านไปพร้อม ๆ กับสร้างความสวยงามแทนการใช้เหล็กดัดหรือการก่อผนังปิดทึบทั่วไปในด้านของฟังก์ชันและงานสถาปัตยกรรม
ผนังโปร่งสีขาวที่เกิดจากการนำเหล็กเส้นมาสานเป็นลายตารางตลอดแนวทางเดินชั้น 1 ใต้สระว่ายน้ำ ยังเป็นส่วนช่วยพรางสายตาก่อนก้าวเข้ามาสู่อาณาเขตของบ้าน จึงช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวได้ตั้งแต่ด่านแรก โดยผนังโปร่งนี้จะขนาบข้างทางเดินและโอบล้อมห้องพระกลางสวนไว้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับมุมมองและทิศทางการมองเห็นรวมไปถึงใช้กำหนดการสัญจรให้เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ และใช้เป็นโครงสร้างสำหรับให้ไม้เลื้อยเจริญเติบโต แม้ว่าทุกช่องจะมีขนาดและตั้งอยู่ในระนาบเดียวกัน หากแต่มองจากองศาอื่น เส้นของระแนงเหล็กลายตารางที่เห็นซ้อนกันอยู่นั้น จะกลายเป็นผนังพรางตาที่สร้างความเป็นสัดส่วนและเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ใช้งานภายใน โดยยอมให้แสงและลมธรรมชาติเข้ามาได้เต็มที่
SHADE HOUSE เป็นบ้านขนาด 3 ชั้น ที่มีพื้นที่ใช้สอย 950 ตารางเมตร เนื่องด้วยกฎที่ทำให้ไม่สามารถสร้างรั้วบ้านได้นั้น บริเวณชั้น 1 จึงมีเพียงห้องพระขนาดใหญ่กลางสวน ห้องนอนแขก และโถงเข้าบ้านเท่านั้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและคัดกรองการเข้าถึงจากแขกที่มาพบ โดยยกพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวทั้งหมดขึ้นไปไว้ที่ชั้น 2 และ 3 ซึ่งประกอบด้วยห้องนอน ห้องนั่งเล่น และสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถมองเห็นเรือนยอดของต้นไม้เขียวชอุ่มได้ในระดับสายตาจากชั้น 2 แทนที่จะเห็นแต่โคนของลำต้นอย่างสระว่ายน้ำอื่น ๆ ที่สร้างบนระดับพื้นดินทั่วไป ขณะที่ด้านล่างของสระว่ายน้ำสถาปนิกออกแบบเป็นทางเดินในร่มกึ่งเอ๊าต์ดอร์ มีผนังระแนงสีขาวขนาบข้างล้อไปกับตัวอาคารสีขาวและสร้างเส้นสายของแสงเงาได้อย่างน่าสนใจ
เฉดสีของแสงเงา
ส่วนจุดเด่นของบ้านอย่างเปลือกอาคารที่ห่อหุ้มชั้น 2 และ 3 ไว้นั้น ทำจากแผ่นอะลูมิเนียมเจาะรู โดยเป็นการเจาะรู ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแตกต่างกันไปตามระดับสายตา และตำแหน่งของฟังก์ชันที่อยู่ภายใน เช่น บริเวณห้องนั่งเล่นขนาดของช่องอะลูมิเนียมจะใหญ่กว่าส่วนอื่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องให้ลม และอากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก ขณะเดียวกันก็ยังช่วยพรางสายตาจากภายนอกไปในตัว ส่วนพื้นที่ห้องนอนที่มีขนาดช่องอะลูมิเนียมเล็กกว่าพื้นที่อื่น ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ ด้วยความที่ช่องอะลูมิเนียม มีหลายขนาด เมื่อแสงแดดลอดผ่านเข้ามาแล้วตกกระทบลงบนพื้นผิวระนาบต่าง ๆ จะเกิดเฉดสีของแสงเงา ตลอดจนแพตเทิร์นที่มีมิติหลากหลาย สร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่ภายในตลอดทั้งวัน
จัดสรรพื้นที่ภายในด้วยระดับฝ้าเพดาน
ด้านการตกแต่งภายในที่นี่เน้นความเรียบง่ายเป็นหลัก ทั้งในแง่ของโทนสีและขนาดเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะบริเวณห้องนั่งเล่นโถงดับเบิลสเปซที่สามารถชมวิวหรือเดินไปยังสระว่ายน้ำบนชั้น 2 ได้โดยตรง ซึ่งชั้นนี้ประกอบด้วยส่วนรับประทานอาหารแพนทรี่ และชุดโซฟานั่งเล่น โดยสถาปนิกตั้งใจแบ่งฟังก์ชันแต่ละส่วน ด้วยการใช้ระดับฝ้าเพดานแทนการกั้นผนังและการจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบโอเพ่นแปลน กำหนดตำแหน่งพื้นที่นั่งเล่นที่เจ้าของบ้านให้ความสำคัญด้วยฝ้าเพดานแบบสูง และเลือกใช้ความสูงของฝ้าเพดานระดับทั่วไปกับบริเวณแพนทรี่ ซึ่งเป็นการสร้างความรับรู้ด้านการใช้งานผ่านสัดส่วนของฝ้าเพดานได้อย่างชาญฉลาด โดยไม่ต้องมีการกั้นห้องแบบปิดทึบอย่างสมัยก่อน ทั้งเผยให้เห็นมุมมองของบ้านที่ดูปลอดโปร่งไม่อึดอัด
หลายครั้งที่เราพบว่าธรรมชาติได้รับการวางบทบาทเพื่อเป็นส่วนส่งเสริมให้สถาปัตยกรรมนั้น ๆ ดูโดดเด่น แต่สำหรับบ้านหลังนี้กลับทำตรงข้าม โดยตั้งใจเป็นหลักที่มั่นคงให้ระบบนิเวศที่อยู่รายล้อมสามารถอาศัย และเติบโตสร้างความเขียวขจีเป็นหนึ่งเดียวกับสถาปัตยกรรม เพราะเสน่ห์ของ SHADE HOUSE คือเฉดสีและร่มเงาของธรรมชาติ ซึ่งจะหมุนเวียนไปตามแต่ละช่วงเวลาและฤดูกาล พร้อมการใช้งานของเจ้าของบ้านที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
—
ภาพ คุณเฉลิมวัฒน์ วงษ์ชมภู Sofography
เรื่อง Ektida N.