เมื่อปีกลาย Jaime Hayon (ไฮเม่ ฮายอน) ดีไซเนอร์ระดับโลกสัญชาติสเปน แปลงโฉมบ้านเก่าอายุกว่า 70 ปี ในซอยสมคิด ย่านชิดลม ให้กลายเป็น House of Fritz Hansen Bangkok โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังจากเดนมาร์ก และในโอกาสที่เขาเยี่ยมเยือนไทยเพื่อเปิดนิทรรศการ Jaime Hayon Design Showcase เราจึงขอชวนคุณไปพูดคุย พร้อมทำความรู้จักกับดีไซเนอร์คนดังแบบเจาะลึก ทั้งแนวคิดงานดีไซน์ การใช้ชีวิตและการทำงานกับ Fritz Hansen (ฟริตซ์ ฮานเซ่น)
หากใครได้พูดคุยกับ Jaime Hayon สักครั้ง เชื่อว่าต้องสัมผัสได้ถึงพลังงานแห่งการสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยม สำหรับ room เขาคือนักออกแบบผู้ไม่เคยกลัวที่จะทำทุกอย่างตามความคิด ไม่เคยยินยอมทำอะไรซ้ำสอง ไม่เชื่อเรื่องการหยุดพักเพื่อเฉลิมฉลองกับความสำเร็จ และปัญหาใหญ่สำหรับเขาคือ การมีเวลาที่ไม่เคยเพียงพอสำหรับการออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และใช้ชีวิต
“ผมพยายามเป็นผู้กำหนดเทรนด์อยู่เสมอ ผมชอบออกนอกกรอบ เล่นนอกกฎ อย่างงานออกแบบเก้าอี้ดีไซน์แรก ๆ ของผม ผมเลือกใช้พลาสติก ใช้แม่สีอย่างไม่ลังเล เป็นเก้าอี้สีแดง สีน้ำเงิน และสีเหลือง เพราะตอนผมได้เข้ามาสัมผัสโลกดีไซน์ใหม่ ๆ ผมว่ามันน่าเบื่อมาก ทุกอย่างเป็นสีเทา ถ้าไปเดินในงานดีไซน์แฟร์ในมิลาน จะเห็นทุกคนแต่งตัวสีเทา หรือสีดำ ไม่มีความสนุกสนานแม้แต่น้อย มันเป็นจุดที่ทำให้ผมลองทบทวนว่าจริง ๆ แล้วการออกแบบคืออะไร”
—
Did you know?
Jaime Hayon เกิดในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ในปี ค.ศ. 1974 หลังจากจบการศึกษาทางด้านการออกแบบอุตสาหกรรมในมาดริด และปารีส เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสาขาวิชาการออกแบบที่ Fabrica ประเทศอิตาลี และในปี 2000 เขาได้ก่อตั้ง Hayon Studio สตูดิโอออกแบบของตัวเองขึ้น ปัจจุบัน เขากลายเป็นศิลปินที่โด่งดังระดับโลก ร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย และเป็นเจ้าของผลงานออกแบบชั้นยอด อาทิ นิทรรศการ The Cosmos of Jaime Hayon ที่ฮ่องกง Swarovski Carousel งานอินสตอลเลชั่นม้าหมุนที่ประดับตกแต่งด้วยคริสตัล ที่ประเทศออสเตรีย Serious Fun Exhibition งานโซโล่เอ็กซิบิชั่นในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ รวมไปถึงนิทรรศการ Mediterranean Digital Baroque ที่ David Gill Gallery ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ—
Fritz Hansen x Jaime Hayon
ฮายอนทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกมาแล้วมากมายตั้งแต่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงแบรนด์แฟชั่น และ Fritz Hansen ก็คือหนึ่งในนั้น แม้ว่าผลงานของเขาจะสะท้อนตัวตนอย่างชัดเจน แต่นั่นก็เกิดจากการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของแต่ละแบรนด์อย่างลึกซึ้ง ผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกับฟริตซ์ ฮานเซ่น คือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนการพบกันครึ่งทางระหว่างแบรนด์กับนักออกแบบได้อย่างน่าสนใจ
“ฟริตซ์ ฮานเซ่น คือแบรนด์ที่มาพร้อมประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ผมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากเวลาเราทำงานกับลูกค้าเราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเขาคือใคร สำหรับผมจุดเริ่มต้นคือการพยายามเข้าใจที่มาประวัติศาสตร์ และมรดกทางความคิดที่สืบทอดมาของแบรนด์ ซึ่ง Fritz Hansen คือแบรนด์สแกนดิเนเวียนอันดับแรก ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และยังคงรักษาชื่อเสียงไว้จนถึงทุกวันนี้ได้ด้วยงานช่างฝีมือที่ยอดเยี่ยม และความพยายามในการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน
“การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของฟริตซ์ ฮานเซ่น เกิดขึ้นในยุคโมเดิร์นช่วงปีทศวรรษที่ 1950 -60 ซึ่งนับเป็นการเติบโต และพัฒนาก้าวใหญ่ของแบรนด์อย่างแท้จริง และนั่นคือดีเอ็นเอที่สำคัญที่สุด จนถึงทุกวันนี้ ฟริตซ์ ฮานเซ่น ยังคงสร้างงานออกแบบที่แปลกใหม่และมีความพิเศษภายใต้ความงามที่ไร้กาลเวลา สิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือเฟอร์นิเจอร์คุณภาพเยี่ยม ความสมบูรณ์แบบ วัตถุดิบชั้นยอด และรายละเอียดการออกแบบไร้ที่ติ”
“ตอนเริ่มต้นทำงานกับฟริตซ์ ฮานเซ่น ผมพยายามทำความเข้าใจดีเอ็นเอของแบรนด์ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ง่ายนักเพราะผมมาจากยุโรปตอนใต้ (กรุงมาดริด ประเทศสเปน) ซึ่งเป็นเมืองที่สดใส สนุกสนาน ขี้เล่น และร่าเริงมาก ในขณะที่เดนมาร์กคือความเรียบง่ายตรงไปตรงมา สุขุม แต่ผมก็ชอบการผสมผสานระหว่างความเรียบง่าย และความเป็นมืออาชีพเข้ากับความร่าเริงสนุกสนาน นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามเป็นตัวของตัวเองไปพร้อม ๆ กับเข้าใจความเป็นฟริตซ์ ฮานเซ่น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นแบรนด์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์อันดับต้น ๆ ของโลก แต่ก็เปิดกว้างสำหรับดีไซน์ที่สนุกและแตกต่าง”
“ผมพยายามสร้างคอลเล็กชั่นที่เหมาะกับทุกคน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่รักในงานฝีมือชั้นยอด ดีไซน์เท่ แต่หรูหราด้วยคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็ดูทันสมัย ผมว่าคนรุ่นใหม่ยุคนี้มีพลังมาก ทั้งอำนาจทางการจับจ่าย และพลังการสร้างสรรค์ พวกเขาต้องการออกนอกกรอบจากความเป็นทางการ และแน่นอนว่าพวกเขาคืออนาคตของเรา ผมว่าอนาคตของเราคือ “ผู้คน” ไม่สำคัญว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย มันคือเรื่องของคนที่มีสไตล์มีรสนิยมของตัวเอง เรื่องของตัวตน และนี่คือจุดเปลี่ยนของโลก”
House of Fritz Hansen Bangkok
บ้านเก่ากลางกรุงจากช่วงปีทศวรรษ 1950 ช่วงเวลาเดียวกับความสำเร็จอันเฉิดฉายในยุค Mid-Century Modern ของฟริตซ์ ฮานเซ่น โอกาสนี้ ไฮเม่ ฮายอน ได้แปลงโฉมบ้านให้กลายเป็นโชว์รูมใหม่ ที่สดใส เป็นมิตร ผสมผสานความสนุก ขี้เล่นเข้ากับความคลาสิกของตัวอาคาร บอกเล่าถึงการรักษากลิ่นอายดั้งเดิมของสถานที่ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของที่ตั้งอย่างย่านชิดลม
“ผมว่ามันเจ๋งเลยทีเดียวที่ได้ออกแบบโชว์รูมที่นี่ เพราะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยถ่ายทอดสิ่งที่แบรนด์อยากบอกเล่าให้ชัดเจนขึ้น ตอนเริ่มต้นออกแบบผมคิดว่าโชว์รูมควรสีสันสดใสกว่านี้ มีเส้นสายโค้งเว้าเป็นมิตร ผมเลยเกิดไอเดียที่จะทำให้ที่นี่กลายเป็นแกลเลอรี่ที่ผู้คนจะได้รับแรงบันดาลใจและรับรู้ถึงแนวคิด รวมถึงตัวตนของแบรนด์ที่เราต้องการสื่อสาร สำหรับ ฟริตซ์ ฮานเซ่น หัวใจสำคัญคือการผสมผสานนวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ ๆ เข้ากับบางอย่างที่คลาสสิกและร่วมสมัย บ้านหลังนี้จึงสะท้อนแนวคิดนั้นได้อย่างดี”
“ผมพยายามสร้างบรรยากาศที่สดใหม่ด้วยการเลือกใช้วัสดุ องค์ประกอบต่าง ๆ ผมอยากให้ที่นี่สร้างแรงบันดาลใจ ของการใช้ชีวิต ผ่านการผสมผสานความเก่าและความใหม่ เส้นสายโค้งเว้าลื่นไหลที่อยู่ร่วมกับอาคารเก่าแก่ทำให้มันดูลงตัวทีเดียว ผมอยากลดความเป็นเหลี่ยมมุม และกรอบจำกัดต่าง ๆ”
“ผมชอบเส้นโค้งเว้า เพราะมันมีที่มาจากร่างกายมนุษย์ ตัวเราไม่มีเหลี่ยมมุมสักหน่อย ดังนั้นงานของผมจึงเชื่อมโยงกับผู้คน เป็นมิตร เป็นธรรมชาติ น่าสัมผัส รูปทรงต่าง ๆ ดูเชื้อเชิญให้เข้าไปกอด ไปสัมผัส ทุกอย่างดูต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าเฟอร์นิเจอร์หรือดีไซน์ต้องใกล้ชิดมนุษย์ อีกอย่างคือผมชอบแสงเงา แม้จะเป็นสิ่งสามัญ แต่มันสร้างมิติ และความรู้สึกดี เรียกได้ว่าเป็นซิกเนอเจอร์ของผมก็ได้ “
“ฟริตซ์ ฮานเซ่น เชื่อมโยงกับงานดีไซน์จากยุค Mid-Century Modern อย่างมาก และหลาย ๆ คนก็สะสมงานดีไซน์จากอดีตเหล่านี้ แต่ผมอยากสร้างแกลลอรี่ที่พาผู้คนไปสู่อนาคต ไม่ใช่ไปสู่อดีต นี่คือหัวใจของ House of Fritz Hansen มันควรเป็นแกลอรี่ที่ให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตในอนาคต”
“งานออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียน มักเน้นการเผยให้เห็นเนื้อแท้วัสดุ แต่สำหรับที่นี่ ผมไม่ได้เน้นตรงนั้นเท่าไหร่ ผมให้ความสำคัญกับการมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นธรรมชาติ ความเป็นไปรอบตัว ผมชอบแนวคิดของการเก็บสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ทั้งหมด เพื่อบอกเล่าถึงสถานที่ ความเป็นกรุงเทพฯ ความเป็นไทย ความเป็นทรอปิคัล ขณะเดียวกันก็สะท้อนตัวตนของนักออกแบบที่คลุกคลีกับแบรนด์มานาน มันคือสมดุลที่ดี”
Hayon Studio: Then and Now
นับตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอในปี 2000 มาวันนี้ Hayon Studio อายุมากกว่าสองทศวรรษ ทำงานมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่งานศิลปะ อินทีเรียดีไซน์ เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ ไปจนถึงงานแฟชั่น และดูเหมือนว่า “ความท้าทาย” คือพลังขับเคลื่อนให้เขาทำงานสร้างสรรค์ได้โดยไม่เคยหยุดพัก
THEN
“ในระยะแรกผมเป็นเหมือนนักสำรวจ ในตอนนั้นเราต้องบอกเล่า นำเสนอสิ่งต่าง ๆ มากมายให้ลูกค้าเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง เพราะเขาไม่รู้จักผม ผมพยายามเป็นตัวเองมาตลอดโดยไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ผมคิดว่าบางทีเราก็ขี้กลัวกันเกินไป สุภาพเกินไป บางบริษัทอยากทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ก็กลัว ผมไม่เคยกลัวที่จะนำเสนอสิ่งที่แตกต่างมาแต่ไหนแต่ไร และรู้ตัวอีกทีผมก็อยู่ในนิตยสารที่นั่น ที่นี่ ต่าง ๆ ทั่วโลก คงเพราะผมทำทุกอย่างตามความคิด ผมไม่อยากเป็นเหมือนคนอื่น ทุกวันนี้ผมมีความสุข ไม่มีคำว่าเบื่อ เพราะผมเริ่มจากศูนย์ใหม่ทุกวัน
“ทุกโปรเจ็กต์ ผมจะบอกกับทีมงานว่าเรามาเริ่มกันใหม่กันเถอะ ถ้ามีใครบางคนบอกว่างานชิ้นนี้ของคุณขายดีมาก ทำอะไรแบบนี้อีกได้ไหม แน่นอนว่าผมจะตอบว่า ไม่! ผมเป็นคนที่ปฏิเสธเก่งมาก เพราะผมอยากทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตื่นมาทุกวัน และพบว่าชีวิตช่างสวยงาม ทุกอย่างมันสดใหม่ตลอดเวลา”
NOW
“จากจุดเริ่มต้นในวิชาชีพจนถึงวันนี้ ผมว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ Comfort zone ผมต้องการความท้าทายเสมอ ปรัชญาของผมคือ ผมจะไม่นั่งรอ “ความสำเร็จ” แล้วเฉลิมฉลองความสำเร็จนั้น และผมก็ไม่ได้สนใจด้วยว่าอะไรคือความสำเร็จ สิ่งที่ผมต้องการคือการได้ไปที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือความงดงามในการทำงานออกแบบของผม และทำไมวันนี้ หรือปัจจุบันขณะ จึงถือเป็นความงดงามสำหรับผม ก็เพราะผมไม่เคยนั่งเฉย ๆ อย่างสบายใจ ผมออกเดินทางเสมอ เราจะพยายามขีดเส้นระบุความสำเร็จกันไปทำไม ผมไม่สนใจหรอก ความสำเร็จของผมคือการลงมือทำของใหม่ไปเรื่อย ๆ มันเจ๋งมากที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา”
“สำหรับผมการออกสำรวจ และทำความรู้จักวัฒนธรรมใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่น่าหลงใหลและน่าตื่นเต้นที่สุดในโลก ซึ่งถ้าผมไม่ทำเช่นนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรอย่างอื่นแล้ว ผมชอบผู้คน วัฒนธรรมท้องถิ่น ความแตกต่างของแต่ละชาติพันธุ์ วัสดุพื้นถิ่น ผมได้แรงบันดาลใจใหม่ทุกวัน จากอาหาร จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว”
“ผมมีปัญหาเดียวเลย คือผมอยากใช้ชีวิตแบบนี้ต่ออีกสัก 20 รอบ เพราะผมยังมีไอเดียมากมายที่อยากทำ ผมอยากออกสำรวจทุกอย่าง ผมอยากค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ผมรู้สึกมีความสุข และตกหลุมรักการใช้ชีวิตมาก ๆ “
ตามไปเยี่ยมชมโชว์รูมและลองสัมผัสผลงานออกแบบของไฮเม่ ฮายอนอย่างใกล้ชิดได้ที่ House of Fritz Hansen ซอยสมคิด ถนนชิดลม เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line official @norse_republics หรือ www.norserepublics.com
—
เรื่อง: MNSD
ภาพ: นันทิยา