หากกล่าวถึงชื่อ FH Office หรือ ฟาร์มาฮอฟ เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะคุ้นหู แต่หากเป็นชื่อ ฟาสซิโน (Fascino) ร้านจำหน่ายยา และเวชภัณฑ์แบบครบวงจรที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง นั้น หลายคนอาจคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากแบรนด์ฟาสซิโนนั้นเป็นหนึ่งในเครือของบริษัทฟาร์มาฮอฟ และด้วยการดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 37 ปี ทำให้พื้นที่สำนักงานเดิมไม่ตอบโจทย์กับการเติบโตของธุรกิจและทีมงาน ทางบริษัทจึงตัดสินใจขยับขยายพื้นที่ใช้งาน โดยได้วางใจให้ คุณวรัญญู มกราภิรมย์ และคุณสณทรรศ ศรีสังข์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง TA-CHA Design มารับหน้าที่ในการออกแบบในครั้งนี้
FH Office เป็นอาคารประเภทมิกซ์ยูสประกอบด้วยพื้นที่สำนักงาน 5 ชั้น โดยชั้น 6-7 เป็นพื้นที่พักผ่อนของผู้บริหาร รูปทรงอาคารมีลักษณะคล้ายตัวแอล (L) และเว้นระยะร่นตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้สำหรับรถดับเพลิงสามารถขับได้รอบอาคาร ซึ่งก่อนจะเป็นอาคารที่เห็นในปัจจุบัน แรกเริ่มนั้นพื้นที่โครงการมีอาคารสูง 3 ชั้น อยู่ก่อนแล้ว โดยจุดประสงค์แรกเริ่มคือการรีโนเวตอาคารเดิม แต่เมื่อทดลองกำหนดพื้นที่ใช้สอยในผังแล้ว ก็พบว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถรองรับความต้องการด้านการใช้งานได้เพียงพอ ดังนั้น จากแนวคิดการรีโนเวต จึงเปลี่ยนเป็นการรื้อถอนอาคารเดิม และสร้างอาคารใหม่สูง 7 ชั้น ขนาด 1,900 ตารางเมตร ขึ้นมาแทนที่
“ก่อนออกแบบทางเราต้องทำการบ้านกันหนักพอสมควร เนื่องจากที่นี่ไม่ใช่แค่การออกแบบสำนักงานทั่วไปแต่เป็นการออกแบบสำนักงานสำหรับบริษัทที่เกี่ยวกับยารักษาโรคโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากเรื่องยาแล้วทางบริษัทของลูกค้ายังมีธุรกิจในเครืออื่น ๆ อีก เราจึงขอเข้าไปลองนั่งทำงานในสำนักงานเดิมเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร และการทำงานแต่ละแผนกเพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดก่อนเริ่มต้นออกแบบที่ใหม่”
แนวคิดในการออกแบบ FH Office นั้น มีที่มาจากวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจของเจ้าของโครงการ
“ด้วยผลประกอบการที่เติบโตของบริษัทยาของลูกค้า เป็นการบ่งชี้ว่าคนไทยนั้นเจ็บป่วยกันมากขึ้น ซึ่งทางผู้บริหารคิดว่า คงจะดีกว่าถ้าหากคนไทยเจ็บป่วยกันน้อยลง เราจึงได้นำแนวคิดนี้มาตีความเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารให้ออกมาในรูปแบบกายภาพที่ชัดเจน”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงขั้นตอนการออกแบบ สถาปนิกจึงนำเสนอแนวคิด ‘คู่ตรงข้ามหรือ Dualism of Structure’ ที่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เป็นเรื่องของระบบโครงสร้างที่มีการผสมผสานกันระหว่างโครงสร้าง Post-Tension Slab และระบบเสา-คานจากเหล็ก นอกจากจะช่วยส่งเสริมความแข็งแรงทางสถาปัตยกรรมแล้ว สถาปนิกยังตั้งใจให้โครงสร้างดังกล่าวทำหน้าที่สร้างให้เกิดระบบโมดูล่าร์ขนาด 3 x 3 x 3 เมตร โดยภายในโมดูลาร์นั้นจะกลายพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร
ส่วนที่สอง คือเรื่องระหว่างพื้นที่ภายใน และภายนอกอาคาร เนื่องจากขณะออกแบบสถาปนิกได้คิดในทุกองค์ประกอบมีความสอดคล้องกัน ทั้งด้านพื้นที่ใช้สอย รูปลักษณ์ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละแผนก ความเป็นส่วนตัว รวมถึงเส้นทางสัญจร ไปจนถึงพื้นที่พักผ่อนของฝ่ายบริหาร โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนเกิดแรงจูงใจในการใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามความถนัดของ TA-CHA Design โดยเริ่มจากการวางตำแหน่งลิฟต์ไว้ด้านหลังของอาคาร และออกแบบบันไดวนขนาดใหญ่เพื่อเป็นกระตุ้นให้พนักงานอยากเดินขึ้น-ลง แต่นอกจากการออกแบบบันไดให้สวยงามแล้ว สถาปนิกยังจัดวางตำแหน่งแต่ละแผนกให้เอื้อต่อการใช้บันไดด้วยเช่นกัน อย่างการวางตำแหน่งแผนกที่ต้องประสานงานกับบุคคลภายนอกเป็นประจำไว้ชั้น 3 เพื่อสะดวกในการติดต่อประสานงาน และวางแผนกฝ่ายบุคคลและไอทีไว้บริเวณชั้น 4 เนื่องจากเป็นฝ่ายภายในที่มีความเกี่ยวข้องกับแผนกอื่น ๆ ในบริษัทบ่อยที่สุด หากต้องเดินไปยังชั้นอื่นก็จะเดินขึ้น-ลง เพียงชั้น 3 และ 5 เท่านั้น
ส่วนพื้นที่ชั้น 2 มีลักษณะกึ่งเปิดโล่ง (Semi-outdoor) เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีการระบายอากาศ และเปิดรับแสงธรรมชาติที่ดี ชั้นนี้วางผังให้เป็นโรงอาหารสำหรับพนักงาน ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่รองรับพนักงานฝ่ายการตลาดที่ไม่มีโต๊ะทำงานประจำ และมีกำหนดการประชุมที่สำนักงานประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งสำนักงานเก่ามักจะเกิดปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอในการรองรับพนักงานแผนกนี้ ด้วยเหตุนี้การออกแบบพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารจึงต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นที่ประชุมได้ด้วย เพื่อลดข้อจำกัดทั้งด้านการใช้พื้นที่ รวมถึงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า อันเนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดโล่ง (open air) ได้อย่างยั่งยืนที่สุด
นอกจากชั้น 2 ที่สถาปนิกตั้งใจดึงกระแสลมธรรมชาติเข้ามาใช้แล้ว พื้นที่ชั้นอื่น ๆ สถาปนิกก็ใช้แนวคิดนี้เช่นเดียวกัน โดยวิเคราะห์ทิศทางลมและแสงธรรมชาติตามฤดูกาล พร้อมวางตำแหน่งและออกแบบขนาดช่องเปิดให้เหมาะสม จัดวางตำแหน่งของพื้นที่ใช้สอยให้มีความเหลื่อมและซ้อนกัน หากมองจากภายนอกเหมือนกับบางโมดูลาร์ของอาคารมีการเลื่อนเข้า-ออก นอกจากเป็นการสร้างภาพจำให้กับงานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้แสงและลมทำธรรมชาติหมุนเวียนไปยังส่วนอื่น ๆ ของอาคารได้อย่างทั่วถึง รวมถึงยังเป็นการ ‘ล้อ’ (Juxtaposition) ไปกับบริบทตึกแถวโดยรอบ สะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรมที่ถอดรหัสออกเป็นรูปแบบโมดูลาร์ ที่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตรและกลมกลืน
ออกแบบ: คุณวรัญญู มกราภิรมย์ และ คุณสณทรรศ ศรีสังข์ จาก TA-CHA Design
ภาพ: BeerSingnoi
เรื่อง: Ektida N.