ถึงแม้ภรรยาคุณชัยจะไม่ชอบบ้านกล่อง แต่เนื่องจากเรานำสเปซบ้านไทยมาปรับใช้ เราก็เลยแอบลองออกแบบบ้านเป็นกล่องขึ้นมา เพื่อเป็นการตั้งคำถามว่า จริง ๆ แล้วคำว่า “ไทย” คืออะไร
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: TA-CHA Design
ณ เช้าวันฟ้าโปร่ง แสงแดดแรงสร้างเงาเฉียบพาดผ่านทุกเหลี่ยมมุมของบ้านหลังใหญ่เบื้องหน้า หลังคาหน้าจั่วรูปทรงแปลกตา ทว่ามีกลิ่นอายแบบไทย ๆ ที่เราคุ้นชินดูโดดเด่นท่ามกลางหมู่บ้านจัดสรรย่านชานเมือง แม้อากาศภายนอกจะร้อนระอุตามฤดูกาล แต่เมื่อก้าวเข้ามาภายในตัวบ้านสไตล์โมเดิร์นร่วมสมัยของคุณชัย-สิทธิชัย บูรณะกิจไพบูลย์ เรากลับรู้สึกเย็นสบายใต้ร่มไม้ใหญ่ในโถงกลางบ้าน พร้อมสัมผัสได้ถึงสายลมบางเบาที่พัดผ่านให้ใบไม้ปลิวไหวเป็นระยะ
คุณชัยตั้งใจสร้างที่นี่ให้เป็นบ้านหลังใหญ่แสนอบอุ่นสำหรับครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 เจนเนอเรชั่น คือคุณแม่ของคุณชัย ครอบครัวของน้องสาว และครอบครัวของคุณชัยเอง ซึ่งแต่ละครอบครัวก็มาพร้อมเด็ก ๆ วัยกำลังซนที่ต้องการพื้นที่สำหรับวิ่งเล่น
“ผมชอบคอนเซ็ปต์ของบ้านไทยนะ แต่ก็ไม่อยากได้เรือนไม้แบบโบราณ ผมอยากได้อะไรที่ทันสมัยด้วย”
คุณชัยเล่าย้อนไปถึงวันแรก ๆ ที่ได้เริ่มพูดคุยกับคุณแตน-วรัญญู มกราภิรมย์ และคุณแชมป์-สณทรรศ ศรีสังข์ ทีมสถาปนิกของ TA-CHA Design นับจากวันนั้นคำว่า “บ้านไทย” ได้ถูกนำมาตั้งคำถามในกระบวนการออกแบบหลายต่อหลายครั้งในหลากหลายแง่มุม จนท้ายที่สุดแล้วแนวคิดของ “ชาน” ดูจะเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายตกผลึกว่าครอบคลุมทุกโจทย์ความต้องการที่แตกต่างของครอบครัวขยาย และกลายเป็นคอนเซ็ปต์หลักของบ้านพื้นที่ 450 ตารางเมตร หลังนี้
“เรามองว่าแนวคิดของ “ชานบ้าน” น่าจะเป็นตัวเชื่อมที่ดีระหว่างสมาชิกครอบครัวทั้ง 3 รุ่น และยังช่วยเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติอีกด้วย”
คุณแชมป์เล่าถึงการออกแบบสเปซที่พัฒนารูปแบบมาจากการวางผังบ้านเรือนไทยภาคกลางสมัยก่อน ซึ่งจะมีต้นไม้อยู่ตรงกลาง มีชานล้อมรอบ และมีเรือนอยู่ 4 มุม เพื่อปรับดีไซน์ให้เข้ากับบ้านสมัยปัจจุบัน พื้นที่ใช้สอยหลักได้รับการผนวกรวมเข้าเป็นแมสสองข้าง โดยยังคงต้นไม้กับชานบ้านไว้ตรงกลาง เหมือนใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทุกคนในครอบครัว นอกจากนี้ รายละเอียดต่าง ๆ ตามแนวคิดของบ้านไทย ยังได้รับการนำมาตีความใหม่ในรูปแบบที่ร่วมสมัยขึ้น
“เราสนใจการเปลี่ยนถ่ายสเปซของบ้านไทยที่ค่อยเป็นค่อยไปมาก บ้านสมัยก่อนเมื่อเดินขึ้นมาบนบ้านจะพบกับระนาบพื้น พอเข้าไปในชานก็จะมีระนาบผนังโดยรอบ พอเข้าไปในศาลาหอฉัน หอนก จะมีระนาบหลังคา พอจะเข้าเรือนก็จะเจอชาน มีระนาบด้านข้างด้านหลังด้านบนแต่ไม่มีด้านหน้า ซึ่งเป็นวิธีการปรับความรู้สึกทั้งสายตา และอุณหภูมิ เราก็เลยลองออกแบบบ้านให้มีการถ่ายเทความรู้สึกเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนั้นบ้าง เมื่อเข้ามาโถงกลางบ้านจะสว่าง แต่พอเราเดินจากบันไดขึ้นมาแสงจะค่อย ๆ น้อยลงก่อนจะเข้าห้องนอน”
จากสเปซภายในสู่ภายนอก ชานไม้ประดู่กลางบ้านทอดตัวยาวเชื่อมกับชานหน้าบ้านซึ่งปูด้วยไม้เทียมให้ดูแลรักษาง่าย เลือกใช้ไม้มาเป็นวัสดุอันดับแรก ๆ เพื่อตอบรับกับรสนิยมรักธรรมชาติของเจ้าของบ้าน อีกทั้งยังช่วยลดความกระด้างของวัสดุเหล็ก และปูนเปลือย แม้ว่าวัสดุไม้ รูปทรงหลังคา และสเปซจะให้กลิ่นอายความเป็นไทยที่ค่อนข้างเด่นชัดในสายตาเรา แต่คุณแชมป์กลับบอกว่าสำหรับเขาแล้วรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้สำคัญไปมากกว่าฟังก์ชันของบ้านเลย
“ผมได้ไปเห็นบ้านของชาวบ้านริมคลองบางกอกน้อยซึ่งอยู่ด้านหลังของบ้านนี้ ชาวบ้านเขาจะสร้างตัวบ้านหลักก่อน พอมีคนเพิ่มเขาก็ขยายออกไป เห็นได้จากหลังคาที่ขยายออกไป เรารู้สึกว่าตัวบ้าน และหลังคามันเป็นความไม่สมมาตรที่น่าสนใจ เพราะไม่ได้เกิดจากแบบแผนจริงจังเหมือนเรือนคหบดี ซึ่งจริง ๆ แล้วเราเองก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องหน้าตาของบ้านเท่ากับว่าหลังคามันจะหุ้มผนังอย่างไร หรือจะช่วยให้สเปซดีขึ้นหรืออยู่แล้วสบายแค่ไหน”
บางทีการออกแบบความเป็นไทยอาจไม่ใช่เรื่องซับซ้อน พอ ๆ กับที่เราไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะเป็นตัวของตัวเอง เมื่อภูมิปัญญาจากอดีตผสานกับการตอบโจทย์ในบริบทปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้อาจคือความเป็นไทยแท้ ๆ โดยที่บางทีเราเอง…ก็อาจไม่รู้ตัว
เรื่อง : Mone
ภาพ : ดำรง
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : May 2014 No.135
อ่านต่อ ผลงานออกแบบของ TA-CHA Design
Premium Ice Factory สถาปัตยกรรมที่นำพลังงานธรรมชาติมาใช้ประโยชน์