BILID ฉากหวายสะท้อนความคิดที่แตกต่าง พลิกด้านต่างอารมณ์ - room

BILID ฉากหวายสะท้อนความคิดที่แตกต่าง พลิกด้านต่างอารมณ์

ฉากหวายกั้นพื้นที่ BILID ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการจับคู่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่กับโรงงานผู้ผลิต ภายใต้โปรเจ็กต์ Emerging PLANT พื้นที่การเรียนรู้ด้านการออกแบบจากประสบการณ์จริง สนามธุรกิจของจริง สำหรับนักออกแบบรุ่นเล็ก ภายใต้การดูแลของรุ่นพี่มืออาชีพ

BILID คือฝีมือการออกแบบของคุณศรัณย์พร บุญโต นักออกแบบรุ่นเล็กที่ร่วมมือกับแบรนด์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หวายชั้นนำของไทยอย่าง Corner 43 Decor ภายใต้คำแนะนำด้านการออกแบบจาก คุณธีรพจน์ ธีโรภาส ผู้ก่อตั้ง Kitt-Ta-Khon แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่โดดเด่นด้วยงานหัตถกรรมร่วมสมัย

หลังจากจบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คุณศรัณย์พรได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Emerging PLANT ที่จัดขึ้นโดย Design PLANT และเริ่มทำงานออกแบบภายใต้โจทย์ DOMESTIC โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดแสดงผลงานร่วมกับนักออกแบบรุ่นพี่อีกหลายสิบสตูดิโอในงาน Bangkok Design Week 2021 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 นี้

คุณศรัณย์พร บุญโต คุณศรุฒม์ พงศ์ไพโรจน์ จาก Corner 43 Decor  และคุณธีรพจน์ ธีโรภาส จาก Kitt-Ta-Khon

—-
Did you know?

Design PLANT การรวมตัวกันของนักออกแบบจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่รุ่นเก๋าไปจนถึงรุ่นใหม่ไฟแรง โดยในแต่ละปีจะร่วมกันจัดนิทรรศการงานออกแบบเพื่อนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิดที่น่าสนใจ และตอบโจทย์บริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีพลังการขับเคลื่อนวงการออกแบบไทย

Emerging PLANT คือเวทีรุ่นเล็กที่จัดขึ้นโดย Design PLANT ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์น้องใหม่ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในประสบการณ์จริง ภายใต้คำแนะนำของรุ่นพี่ โดยโครงการนี้มุ่งสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงวงการออกแบบไทยในระยะยาว พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่แข็งแรงของดีไซน์ไทยในระดับสากล
—-

คุณศรัณย์พร“การจับคู่นักออกแบบกับผู้ประกอบการทำให้โครงการนี้ท้าทายกว่าทุกปี เพราะไม่รู้ว่าเราจะได้ทำงานประเภทไหน ได้โค้ชเป็นใคร การทำงานก็เป็นประสบการณ์ใหม่มาก ต้องเดินทางมาโรงงานเอง คุมโปรเจ็กต์เอง เราได้เรียนรู้ทุกอย่างเร็วขึ้นมาก ได้ทดลอง ได้ผิดพลาด ได้ลองคิดว่าเราสร้างประโยชน์อะไรต่อโรงงานได้บ้าง ออกแบบอะไรที่เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอนเรียนเราไม่เคยนึกถึงมาก่อน

“เราไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับโรงงานเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่มาก่อนเลย และไม่เคยทำงานหวายด้วย หลังจากตีความโจทย์ก็คิดว่าจะเน้นการออกแบบแพตเทิร์น แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการผลิตหลายจุด เราก็ต้องแก้ปัญหา อีกทั้งงานหวายเป็นเรื่องของรูปทรงสามมิติมาก ดังนั้นพอเราตัดสินใจทำเป็นฉากกั้น จึงต้องคิดเรื่องการสร้างมิติให้ผิวสัมผัสมากขึ้น”

ตีความ DOMESTIC

DOMESTIC คือโจทย์ของ Design PLANT ในปีนี้ กลุ่มนักออกแบบร่วมกันสร้างผลงานที่บอกเล่าถึง “บริบทภายในประเทศ” และสะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นทศวรรษใหม่ท่ามกลางภาวะความปกติใหม่ที่เราต้องติดอยู่ในประเทศ อาจหมายถึงบริบทที่แวดล้อมเราอยู่ อาจเป็นสิ่งคุ้นเคย หรือสิ่งที่ใครไม่เคยสังเกตเห็น สิ่งที่อาจเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องยิ่งใหญ่ระดับชาติ อาจเป็นวัตถุดิบ หรือกระบวนการผลิตที่เป็นเหมือนอาวุธลับที่เราแอบซ่อนไว้ เป็นความร่วมมือของระหว่างชุมชน หรือการหยิบยืมความรู้จากอดีตมาปัดฝุ่นใหม่ เป็นงานออกแบบไทยที่จะพาเราไปข้างหน้า

ศรัณย์พร: จากโจทย์ DOMESTIC เราตีความจากการหันกลับมามองในประเทศของเรา เราเห็นมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วของผู้คนในสังคม เราได้ยินบางคนที่บอกว่าประเทศเราสงบสุข ในขณะที่อีกกลุ่มกลับมองว่า ประเทศเรากำลังขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้ง เราพยายามตีความนามธรรมเหล่านี้ ออกมาให้เป็นรูปธรรมบางอย่าง เลยออกมาเป็นฉากกั้นพื้นที่ ซึ่งมีสองด้านสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกันผ่านเส้นหวาย ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ประเทศเราเชี่ยวชาญ ตัวฉากฝั่งหนึ่งเรียบสื่อถึงอารมณ์ที่สงบนิ่งไปในทางเดียวกัน สร้างบรรยากาศที่เรียบสงบให้บ้าน ในขณะที่อีกด้านเส้นสายที่เป็นคลื่น สะท้อนถึงความขัดแย้ง สร้างบรรยากาศมีชีวิตชีวา และความเคลื่อนไหว”

“ส่วนชุดสี เราเลือกใช้สีโทนร้อนกับเย็น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นสองขั้วในชิ้นเดียวกัน โทนสีทั้ง 2 ขั้ว ที่แตกต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผสมผสานความต่างของสองชิ้นให้อยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ก็ผสมผสานหวาย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติกับวัสดุอุตสาหกรรมเข้าด้วยกันอย่าง ฐานไม้ โครงสร้างอะลูมิเนียม ถ้าทางแบรนด์นำไปผลิตขายต่อก็คงใช้เป็นสีธรรมชาติ ซึ่งก็สร้างบรรยากาศที่แตกต่างไปอีกแบบ”

คุณธีรพจน์ ธีโรภาส นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Kitt-Ta-Khon

ธีรพจน์: “แนวคิดตอนแรกของน้องคือการสร้างงานที่ให้อารมณ์ต่างกันในชิ้นเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงอาร์ตมาก เราก็แนะนำให้คิดแบบมีความเป็นงานเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น ใช้งานในพื้นที่อินทีเรียร์ได้มากขึ้น ผมแนะนำให้เน้นการทำงานพัฒนาผิวสัมผัส พัฒนาลวดลายใหม่ ๆ เทคนิคใหม่ ๆ ซึ่งจะมีประโยชน์กับทั้งโรงงาน และตัวน้องเองที่ถนัดงานกราฟิก ผมว่าการออกแบบเก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ก็เหมือนการแต่งตัว มีโครงสร้างอยู่ เราเปลี่ยนลวดลาย เปลี่ยนรูปแบบ อารมณ์ก็เปลี่ยน ซึ่งผมมองว่า ถ้าพัฒนาตรงจุดนี้ไปเรื่อย ๆ แบบต่อเนื่อง ก็น่าจะเจอสไตล์ของตัวเองในอนาคต

ตรงนี้ผมว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะได้ทำงานกับโรงงานจริง ๆ เป็นการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย เหมือนมืออาชีพจริง ๆ ผมเป็นนักออกแบบวิชาชีพ เราก็พอเข้าใจว่าน้อง ๆ ที่เพิ่งจบจะอยากทำงานออกแบบประมาณไหน และทางโรงงานอยากได้งานประมาณไหน เราก็เป็นเหมือนคนกลางคอยแปลภาษาให้”

ความร่วมมือใหม่ ความเป็นไปได้ใหม่

ภายใต้การนำของ คุณศรุฒม์ พงศ์ไพโรจน์ Corner 43 Decor คือแบรนด์ผู้ผลิตอายุกว่าสามทศวรรษ ที่เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งจากงานจักสานวัสดุหวาย Corner 43 Decor ทำงานร่วมกับนักออกแบบชั้นนำของไทยมากมาย พัฒนาต่อยอดจากงานหวายดีไซน์คลาสิกสู่การสร้างสรรค์งานออกแบบจากวัสดุที่แตกต่างออกไปอย่างเชือก หวายเทียม หนัง ฯลฯ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยและกระแสนิยมมากขึ้น การทำงานร่วมกับ Emerging PLANT  จึงเป็นอีกแนวทางการเปิดรับแนวคิดใหม่แบบไร้กรอบจำกัด

คุณศรุฒม์: โครงการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้กันและกันจากทั้งสองฝั่ง ในฐานะผู้ผลิตเราก็อยากเข้าใจนักออกแบบรุ่นใหม่ อยากเรียนรู้ และการพัฒนารูปแบบการผลิตให้รองรับงานออกแบบของเขาได้ อยากสร้างความเป็นไปได้ใหม่ในการผลิต ปรับต้นทุนให้สอดคล้องกับราคาเป้าหมายที่น้องนักออกแบบวางไว้ เพราะเป้าหมายหลักก็คืองานออกแบบนั้นต้องขายได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ พัฒนาอยู่ตลอด

“จริง ๆ แล้ว การได้ทำงานกับนักออกแบบใหม่ ๆ ก็ทำให้เราได้เห็นอะไรแปลกใหม่ หลายครั้งก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่า เราจะสามารถทำได้ และท้ายที่สุดพอทุกคนช่วยกันจนผลิตออกมาได้จริง ก็เหมือนเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทุกฝ่ายได้เรียนรู้เพิ่มเติม สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่น ๆได้อีก ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ win-win ทุกฝ่าย ยิ่งสำหรับเราที่เป็น SMEs ที่เน้นงานหัตถอุตสาหกรรม มักมีข้อจำกัดบางอย่าง แต่นักออกแบบก็ช่วยเติมเต็มได้  ด้วยการดึงจุดเด่นของโรงงานมาสร้างความแตกต่าง”

ดีไซเนอร์รุ่นใหม่กับอนาคตดีไซน์ไทย

คุณธีรพจน์: “ผมว่า Emerging PLANT คือตัวเร่งที่ดี เพราะอย่างผมหรือรุ่นพี่คนอื่น ๆ ตอนเรียนจบใหม่ ๆ กว่าเราจะได้มีโอกาสทำงานออกแบบจริงจังก็ยากพอสมควร ผมว่างานชิ้นแรกสำหรับนักออกแบบค่อนข้างสำคัญเลย Design PLANT ดีตรงที่มีเพื่อนอีกเยอะแยะมากมายให้เราเปรียบเทียบตัวเอง เป็นชุมชนที่น่าสนใจ ได้เรียนรู้กันเอง อย่างผมเองตอนที่เข้ามาร่วมงานกับ Design PLANT ก็ได้เจอพี่ที่ผมปลื้มงานเขา เราก็ได้เรียนรู้จากเขา ผมว่าอยู่ที่เราจะตักตวงประสบการณ์มาได้อย่างไร

“เราเป็นนักออกแบบก็พยายามจะพัฒนาวงการออกแบบไทย ช่วยกันสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ แต่ถ้าจะพูดถึงเวทีสากลระดับโลก มันไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบแล้ว แต่ยังมีอีกหลายมิติ ทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์ การสนับสนุน ถ้าเราเรียนรู้จากเมืองนอกจะพบว่ามันเป็นแผนระดับประเทศ ตอนนี้ในประเทศเรามันเหมือนยังตัวใครตัวมันอยู่”

คุณศรุฒม์: “ถ้ามีกลยุทธ์ระดับประเทศที่เราวางแผนร่วมกัน ดูเรื่องดีไซน์ เรื่องต้นทุนการผลิต มันจะช่วยให้เราสู้คนอื่นได้ในตลาดโลก ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของการสร้างแนวคิดให้คนทั่วไปชื่นชมความงามของศิลปะ ของดีไซน์ บางทีคนก็สนใจแต่ฟังก์ชันเกินไป ถ้าคนส่วนใหญ่หันมาชื่นชมอะไรแบบนี้มาก ๆ ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นโอกาส ว่าคนในประเทศยังให้ความสำคัญกับงานออกแบบ ก็จะมีการสร้างสรรค์ออกมาเรื่อย ๆ เด็กรุ่นใหม่จะเติบโตมาท่ามกลางความสวยงาม เหมือนการปลูกฝังพวกเขาไปในตัว”

คุณศรุฒม์ พงศ์ไพโรจน์ จาก Corner 43 Decor

คุณธีรพจน์: แม้ว่าเราจะพยายามผลักดันงานออกแบบไปเมืองนอก แต่ถ้าตลาดภายในประเทศเงียบ ผมว่าก็คงแย่เหมือนกัน เราก็ต้องช่วยกันเองก่อน สร้างวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่จะส่งเสริมธุรกิจออกแบบได้แบบยั่งยืน อย่างทุกวันนี้ อุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบได้เข้าไปทำงานมันจำกัดมาก ผมเรียนด้านออกแบบผลิตภัณฑ์มา ตอนเรียนเราเรียนออกแบบทีวี ตู้เย็น มือถือ แต่ทุกวันนี้บริษัทที่เหลืออยู่ในไทยก็เป็นงานเฟอร์นิเจอร์อินทีเรียร์เสียมาก ที่ผ่านมามันไม่ได้มีโรงงานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือมีโอกาสให้ทำงานออกแบบอุตสาหกรรมเท่าไหร่เลย แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นผู้ประกอบการรุ่นสองทำรองเท้า ทำทีวี เริ่มมีโอกาสใหม่ ๆ มากขึ้น เราน่าจะส่งเสริมตรงนี้ ช่วยให้วงการออกแบบเราชัดขึ้น สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ กับเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นหัตถกรรมเป็นไปได้ไหม”

คุณศรุฒม์: บางทีเราทำงานแบบดั้งเดิมพอจะมาบวกกับเทคโนโลยี หรือระบบออโตเมชั่น มันกลายเป็นว่าเราต้องซื้อเทคโนโลยีจากที่อื่น เราไม่ได้มีคิดอะไรเป็นของตัวเองเลย นักออกแบบกลายเป็นว่าตอนนี้ พอผลิตออกมาก็กลายเป็นของธรรมดา ขาดนวัตกรรม บางอุตสาหกรรมเราก็ไม่ได้รับความสนใจ ดีไซเนอร์ไทยต่างประเทศ​ที่ทำงานอุตสาหกรรม หรือนวัตกรรมมีมากอยู่ หรือเพราะประเทศเราไม่มีโอกาสมากพอรึเปล่า”

——

ตามไปชมผลงานจริงได้ในนิทรรศการของกลุ่มนักออกแบบ Design PLANT และ Emerging PLANT ที่รวมตัวกันนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด DOMESTIC งานออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นทศวรรษใหม่ท่ามกลางภาวะความปกติใหม่ ที่เราต้องติดอยู่ในประเทศ ชวนทุกคนมาร่วมตีความการออกแบบภายใต้ “บริบทภายในประเทศ” กระตุ้นให้ผู้คนในประเทศ สถาปนิก นักออกแบบ และผู้บริโภค เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนผลงานจากฝีมือ และวัตถุดิบในประเทศของเรา

สัมผัสผลงานจากกว่า 50 สตูดิโอออกแบบ ได้ในงาน Bangkok Design Week 2021 ติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ทาง www.design-plant.com

ติดต่อ 

เรื่อง: MNSD

ภาพ: นันทิยา


ประสบการณ์จับจ่ายใน “สะดวกซื้อ” นิทรรศการล่าสุดของ DESIGN PLANT