ภาพคุ้นชินฉบับไทยสตรีทที่สะท้อนผ่านองค์ประกอบ รูปลักษณ์ และฟังก์ชันของ “ตึกแถว” กลายเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจของกลุ่ม San Design จนนำพามาสู่การสร้างสรรค์ผลงานเชิงทดลอง “ตู้กึ่งฉาก” เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแบบโมดูลาร์ที่เป็นได้ทั้งตู้ใส่ของและฉากกั้นพื้นที่ในร่างเดียว
San Design คือการรวมตัวกันแบบเฉพาะกิจของสามสาวเพื่อนสนิทจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำโดย พิมพลอย ทรัพย์เจริญ จากสาขาการออกแบบเฟอร์นิเจอร์, นภิสา ศุภนันธร และเจนนิสสา ตริยางกูรศรี จากสาขาการออกแบบบรรจุภัณฑ์เเละกราฟิก ที่ได้รับคัดเลือกจากรุ่นพี่นักออกแบบกลุ่ม Design PLANT* ให้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มนักออกแบบหน้าใหม่ หรือ Emerging PLANT** ประจำปี 2021 เพื่อทำงานออกแบบภายใต้โจทย์ DOMESTIC และนำผลงานชิ้นนั้นมาจัดแสดงร่วมกับนักออกแบบรุ่นพี่อีกหลายสิบชีวิตภายในงาน Bangkok Design Week 2021 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
Tenement H. เป็นตู้อะลูมิเนียมที่ได้รับเเรงบันดาลใจมาจากการเรียงตัวของห้องในตึกเเถว ซึ่งแต่ละห้องจะมีการออกแบบเปลือกอาคาร (Facade) ให้เหมาะกับการใช้งานและบริบทที่ต่างกัน San Design จึงออกแบบให้เป็นตู้ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกวิธีการจัดวาง และลักษณะหน้าบานได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถสลับข้างการเปิด-ปิด หรือเลือกให้เปิดสองฝั่งได้ ทำให้เหมาะกับนำไปใช้เป็นตู้กึ่งฉาก (Partition) สำหรับแบ่งพื้นที่ในห้องได้ด้วย
Tenement H. ผลิตโดย KUN แบรนด์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์อะลูมิเนียมที่ดูแลโดยจุไรรัตน์ คุณาวิชยานนท์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงาน Kunakij Furniture Industry โดยมี ease studio นำโดย วนัส โชคทวีศักดิ์ และณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก เป็นผู้ให้คำแนะนำด้านการออกแบบ
ตึกแถวย่อส่วน
San Design: “พอเราได้โจทย์ว่าเป็นการร่วมมือกับโรงงาน จึงกลายเป็นการคิดเรื่องวัสดุโดยเน้นไปที่อะลูมิเนียม ซึ่งทางโรงงาน KUN ก็อยากให้เน้นที่เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง เราจึงศึกษาหลายๆ โปรดักท์ที่เป็นอะลูมิเนียม ตั้งแต่ของเล็กๆ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ จากนั้นเราจึงพยายามหาประเด็นที่คนไทยจะเข้าใจได้ง่าย หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยไว้ก่อน แล้วเรามาสนใจมากๆ เกี่ยวกับเรื่องประตูเหล็กยืด ทั้งเรื่อง Mechanics (กลไกล) ก็น่าสนใจ รูปลักษณ์ของความเป็นสตรีทก็น่าสนใจ และมันก็ล้อไปกับวัสดุที่มีความเป็นโลหะหรือเป็นเหล็ก”
“แต่พี่ๆ จาก ease studio ก็ช่วยแนะนำว่าให้ลองดูให้ชัดว่าเราสนใจอะไรที่สุด เราก็เลยถอยกลับมามองภาพที่มันกว้างขึ้น จากแค่ประตูเหล็กยืดเพียงอย่างเดียว ก็กลายมาเป็นตึกแถวทั้งตึกที่ไม่ได้มีองค์ประกอบแค่ประตูเหล็กยืด แต่มีหน้าต่าง ระเบียง ลูกกรง สุดท้ายเลยออกแบบมาเป็นตู้เก็บของที่มีลักษณะเหมือนกล่อง ๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดในเชิงสถาปัตยกรรมที่ปกติบ้านจะถูกจัดเรียงตาม Floor plan แต่พอเป็นตึกแถวจะถูกเอาผังของห้องมาต่อกันไปเรื่อยๆ เหมือนการเรียงตัวกันตามแนวตั้ง แต่ละห้องก็มีฟังก์ชันต่างกัน เราจึงมาดูว่าจะสามารถประยุกต์ฟังก์ชันตรงนี้เป็นอะไรได้บ้าง”
สีสันที่สะท้อนความสนุกสนาน
San Design: “เราลองทำออกมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่โมโนโทนแบบสีเดียว และแบบไล่เฉด เพราะเรามองว่าจริงๆ มันสามารถเป็นได้ทั้งโมโนโทนและสีสัน แต่ด้วยงานที่เราจะต้องเอาไปจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ ซึ่งต้องการให้ผู้ชมรู้สึกดูแล้วสนุกไปด้วย เราก็อยากจะดันเอาความสนุกและความหลากหลายของงานนี้ไปให้สุด และเรื่องสีสันมันก็ตอบโจทย์กับ KUN ด้วยเหมือนกัน”
วนัส: “ถ้าเป็นภาษาที่ผมทำก็อาจจะเป็นสีเรียบไปเลยสีเดียว เพื่อให้เข้ากับพื้นที่ได้ง่ายๆ แต่ว่าถ้ามันเป็นตัวแรก และกับสิ่งที่น้องนำเสนอ ผมรู้สึกว่าน้องๆ ยังมีความสนุกอยู่ ซึ่งจริงๆ มันก็จะมีตลาดแบบนี้อยู่ ถ้าอยากให้มันเป็นงานของน้องๆ จริงๆ ผมก็อยากให้น้องเลือกสีที่ชอบ ผมแค่พยายามจะบอกว่าเลือกแล้วลองมาดู มาทำหลายๆ ตัวเลือก สุดท้ายมันก็ได้สามสีที่สามารถจัดเซ็ตเป็นสีที่เรียบๆ ได้ เป็นสีที่โรงงานทำได้ ซึ่งผมว่าสีที่เลือกมามันถูกจับให้เห็นว่ามิกซ์กันได้จริงๆ”
อะลูมิเนียม น้ำหนักเบา และไม่เป็นสนิม
จุไรรัตน์: “KUN Decorate มีจุดเริ่มต้นจากคุณพ่อที่มองว่าเหล็กทำแล้วมันดีสู้เมืองจีนไม่ได้ จึงต้องหาช่องทางใหม่เพื่อให้เรายังอยู่ในตลาดเฟอร์นิเจอร์ต่อไปได้ จึงเริ่มทำงานกับดีไซเนอร์มากขึ้น คุยกับกรมส่งเสริมฯ รู้จักดีไซเนอร์มากขึ้นซึ่งเมื่อก่อนเราไม่เคยเลย ทำงาน Mass อย่างเดียว”
“แต่ปัญหาหลักในปัจจุบันนี้ คือด้วยความเป็นอะลูมิเนียม คนไทยจะไม่ค่อยรู้จัก ด้วยรูปแบบคนจะเข้าใจว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์เหล็ก หรือต่อให้เข้าใจว่าเป็นอะลูมิเนียม ก็ยังไม่เข้าใจว่าดีอย่างไร ทำไมถึงราคาสูง แต่ว่าจากการที่เราทำเหล็กแล้วผันมาทำอะลูมิเนียม เรากลับใช้งานฝีมือเยอะขึ้น ปัจจุปันเราเน้นที่งานฝีมือ งานที่ทำยากขึ้น ต้องคุยกับดีไซเนอร์ คุยกับช่างเยอะมากในการทำแบบหนึ่งชิ้น แต่นั่นเป็นจุดแข็งจุดหนึ่งของบริษัทเรา จนทำให้เก้าอี้ของเราได้รางวัล DEmark และ Gmark และนั่นเป็นเหตุผลที่เราอยากให้น้องเน้นอะลูมิเนียม แม้จริงๆ เราทำได้ทั้งเหล็ก และสเตนเลส แต่อยากให้ทำอลูมิเนี่ยมเพราะเราถนัดด้านนี้ ทำแล้วมองความเป็นไปได้ ทำออกมาแล้วขายจริงได้ไหม”
การทดลองเพื่อเฟ้นหาทางกำจัดเศษอะลูมิเนียมจากโรงงานให้เกิดมูลค่า
“ผลิตง่าย ทำราคาได้ ไม่เปลืองต้นทุน”
วนัส: “ด้านดีไซน์เราแทบจะไม่ปรับจากสิ่งที่น้องๆ คิดมาเลย เพราะเราอยากให้มันเป็นงานที่น้องภูมิใจ ไม่ใช่งานที่กลายเป็นภาษาของเราจนหมด จริงๆ เราเป็นเหมือนล่ามมากกว่า เราแค่อยากให้งานออกมาแล้วเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งมันอาจจะเป็นโอกาสดีที่น้องๆ ได้ทดลองทำงานและเรียนรู้เทคนิคในการผลิตกับโรงานจริงๆ ส่วนโรงงานก็ควรได้เทคนิคที่ไม่เพลย์เซฟ ไม่ใช่การทำอะไรที่คุ้นชิน ได้ทดลองเทคนิคบางอย่างที่โรงงานไม่เคยทดลอง หรือว่าไม่คิดจะทดลองเพราะอาจจะสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นสกิลที่โรงงานอาจจะได้รับไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต ของชิ้นนี้มันอาจจะยังไม่ดีพอที่จะขายได้ในทันที แต่ถ้าได้ลองเอาไปพัฒนาต่อ ผมก็มองว่ามันน่าจะเป็นงานที่ผลิตขายจริงได้เช่นกัน”
“ที่จริงน้องๆ มีไอเดียที่ค่อนข้างหลากหลาย เราก็พยายามตบกลับมาให้คิดถึงการเป็นโรงงานผลิตแบบอุตสาหกรรม อยากให้น้องๆ ซีเรียสเรื่องการทำออกมาแล้วเขาต้องขายได้ ไม่ใช่ทำมาเพื่อเป็นชิ้นงานไว้โชว์อย่างเดียว คิดถึงเรื่องสัดส่วนให้มาก คุยกันถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจว่าสนใจเรื่อง Mechanics หรือแค่หน้าตาของมัน แล้วเอามาบาลานซ์กัน สุดท้ายเรามองว่า ถ้าจะประยุกต์ทุก Mechanics เข้ามามันก็เปลือง ถ้าน้องซีเรียสเรื่องความงาม หรือภาพลักษณ์ ผมว่าเราตัดได้อย่างเช่น บานเฟี้ยม อาจไม่ต้องพับได้แบบบานเฟี้ยมให้มันเปลือง แต่ให้เอาเศษอะลูมิเนียมที่เหลือจากโรงงานมาสร้างรูปลักษณ์ให้มันเหมือนบานเฟี้ยม แล้วทำบานเลื่อนแบบที่คุ้นชิน ผมมองว่าสิ่งที่จะช่วยโรงงานได้ คือของที่น้องๆ จะทำนั้นสเกลมันไม่ได้ใหญ่มาก น่าจะพอช่วยกำจัดเศษเหลือของโรงงานได้”
Did you know?
Design PLANT* การรวมตัวกันของนักออกแบบจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่รุ่นเก๋าไปจนถึงรุ่นใหม่ไฟแรง โดยในแต่ละปี จะร่วมกันจัดนิทรรศการงานออกแบบเพื่อนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิดที่น่าสนใจ และตอบโจทย์บริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีพลังการขับเคลื่อนวงการออกแบบไทย
Emerging PLANT** คือเวทีรุ่นเล็กที่จัดขึ้นโดย Design PLANT ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์น้องใหม่ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในประสบการณ์จริง ภายใต้คำแนะนำของรุ่นพี่ โดยโครงการนี้มุ่งสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทั้งภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมถึงวงการออกแบบไทยในระยะยาว พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่แข็งแรงของดีไซน์ไทยในระดับสากล
“Emerging PLANT เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับน้องๆ เพราะรุ่นเรากว่าจะได้ทำงานกับโรงงานจริงก็ตอนเรียนจบไปแล้ว ตอนนี้น้องๆ ยังเรียนอยู่ แต่ได้มาทำงานกับโรงงานจริง ได้คิดแบบตั้งแต่ต้น ได้มาดูโรงงาน ได้ทดลองคุยกับพี่ดีไซเนอร์ In-House ได้คุยกับช่าง ได้คุยกับผู้ประกอบการจริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร มันเป็นทางลัดที่ดีมากๆ”
“ถ้าในอนาคต ถ้ามันเป็นไปได้ ถ้ามีเวลามากกว่านี้ วิธีการที่จะทำให้น้องๆ รู้ว่าทำไมต้นทุนจึงสำคัญ อยากให้น้องๆ เอาของชิ้นนี้ไปลองยืนขายเองเลย ให้ลูกค้าได้ดูแล้วตั้งคำถาม น้องๆ ก็อาจจะได้คิดว่าอะไรที่น้องต้องปรับ และโลกแห่งความเป็นจริงที่น้องจะต้องออกมาเจอมันคืออะไร”
วนัส โชคทวีศักดิ์ / ease studio
ตามไปชมผลงานจริงได้ในนิทรรศการของกลุ่มนักออกแบบ Design PLANT และ Emerging PLANT ที่รวมตัวกันนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด DOMESTIC งานออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นทศวรรษใหม่ท่ามกลางภาวะความปกติใหม่ ที่เราต้องติดอยู่ในประเทศ ชวนทุกคนมาร่วมตีความการออกแบบภายใต้ “บริบทภายในประเทศ” กระตุ้นให้ผู้คนในประเทศ สถาปนิก นักออกแบบ และผู้บริโภค เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนผลงานจากฝีมือ และวัตถุดิบในประเทศของเรา
สัมผัสผลงานจากกว่า 50 สตูดิโอออกแบบได้ในงาน Bangkok Design Week 2021 ติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ทาง www.design-plant.com
เรื่อง: นวภัทร
ภาพ: นันทิยา