/ บ้านหลังนี้จะสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเหล่าผู้รักการแต่งบ้าน
ด้วยของสะสมสไตล์ American Vintage ได้อย่างน่าทึ่ง /
เราสนใจ บ้านสไตล์ลอฟต์ หลังนี้ ตั้งแต่มีตำแหน่งพ่วงท้ายเป็นบ้านหลังใหม่ของช่างภาพหนุ่ม คุณเต้-ณัฐพล วุฒิเพ็ชร์ แห่ง เดย์ โพเอทส์ (daypoets) ซึ่งบ้านหลังเก่าของเขาก็เป็นที่รู้จักกันในวงการช่างภาพว่ามีสไตล์จัดจ้าน จนกลายเป็นแหล่งยืมพร็อปส์ชั้นเลิศ
เมื่อทีมงานเดินทางมาถึงประตูรั้วเหล็กขึ้นสนิมหน้าบ้านที่ดูดิบเท่ ไปจนถึงสวนขนาดเล็กแวดล้อมด้วยจัดกระถางรูปทรงแปลกตา เราก็ทราบแล้วว่าบ้านหลังนี้จะไม่ทำให้แฟน ๆ ชาว room ต้องผิดหวังแน่นอน ด้วยสไตล์การตกแต่งที่น่าสนใจไม่แพ้โปรไฟล์ของเจ้าของบ้านเลย
คุณเต้เป็นช่างภาพให้กับนิตยสารชื่อดังอย่าง a day และ HAMBURGER ถนัดงานถ่ายภาพแนวพอร์เทรตเป็นพิเศษ ทั้งยังเป็นนักสะสมตัวยง เห็นได้จากการนำของสะสมที่เขารักมาใช้ตกแต่งบ้านได้อย่างกลมกลืนน่ามอง และด้วยความที่เป็นช่างภาพ เขาจึงเลือกออกแบบบ้านแยกออกมาอีกหลังหนึ่งใกล้ ๆ กันสำหรับใช้เป็นโฮมสตูดิโอถ่ายภาพ
“ความตั้งใจแรกของผมคือต้องการมีสตูดิโอถ่ายภาพในบ้าน เพราะเวลาทำงานอยู่บ้านไม่เคยรู้สึกเหนื่อยเลย ผมจึงเลือกทำสตูดิโอแบบที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ และตกแต่งสไตล์เดียวกับบ้าน โดยสามารถนำของตกแต่งในบ้านมาเป็นพร็อปส์ใช้ในการทำงานได้เลย”
บ้านหลังใหม่ของคุณเต้มีขนาด 80 ตารางวา ตั้งอยู่ในย่านพระรามเก้า แม้จะมีมูลค่าค่าเช่าที่ค่อนข้างแพง แต่เนื่องจากเดินทางไปทำงานสะดวก เขาจึงตัดสินใจขอเช่าบ้านระยะยาวถึง 7 ปี เพื่อจะได้รีโนเวตบ้านเช่าหลังนี้ที่เคยมีสภาพทรุดโทรมให้กลับมาน่าอยู่อีกครั้งได้อย่างเต็มที่
“ด้วยความที่เป็นบ้านเช่า ก่อนหน้านี้จึงโทรมมาก มีปัญหาหลายอย่าง ทั้งน้ำรั่ว ท่อระบายน้ำตัน การเดินท่อน้ำทิ้งไม่ถูกวิธี และมืดมาก แต่แปลกที่แม้จะมีปัญหา แต่ผมก็รู้สึกว่าบ้านหลังนี้โอเค ตอนแรกมีความลังเลอยู่เหมือนกันว่าจะเช่าดีไหม แต่ในระหว่างที่คิดอยู่ ผมก็เซ็นสัญญาวางเงินมัดจำไปเรียบร้อยแล้ว รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นบ้านของผมไปแล้ว คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรต่อไปดี (หัวเราะ)
“พอดีผมจบสถาปัตย์ลาดกระบัง จึงมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง นี่จึงเป็นเหมือนโจทย์ให้เราต้องแก้ปัญหา เริ่มจากการฉีดโฟมกันความร้อนที่หลังคาใหม่ทั้งหมด เดินท่อน้ำใหม่ เดินไฟใหม่ รื้อฝ้าออก กั้นห้องเพิ่ม ปรับเปลี่ยนประตูหน้าต่างตามหลักฮวงจุ้ย ถือเป็นข้อดีจากเงื่อนไขการทำสัญญาระยะยาว เพราะทำให้ผมสามารถรีโนเวตบ้านได้เต็มที่”
ที่น่าสนใจคือเป็นการรีโนเวตบ้านเดี่ยวอายุหลายสิบปีในหมู่บ้านธรรมดา ให้เข้ากับบรรยากาศการตกแต่งที่มีกลิ่นอายสไตล์ American Vintage ได้อย่างเหมาะเจาะ ตั้งแต่การคงพื้นไม้ปาร์เกต์ชั้นหนึ่งเอาไว้เพราะมีลวดลายเข้ากับพื้นอิฐนอกบ้าน การรื้อฝ้าชั้นหนึ่งออกเผยให้เห็นเพดานพื้นไม้บนชั้นสอง และการก่อกำแพงอิฐสีขาวขึ้นมาใหม่ทั้งตัวบ้าน พร้อมกับดีไซน์ให้มีประตูเหล็กขึ้นสนิม ซึ่งล้วนเป็นสไตล์ที่เขาชื่นชอบ
“ผมว่าอิฐมันบ่งบอกถึงอายุได้ เราสามารถทาสีให้เรียบทั้งหมดแล้วดูใหม่ หรือจะทำให้ดูเก่าด้วยการป้ายสีแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ บางส่วน เอากระดาษทรายมาขัด แค่นี้ก็สามารถเนรมิตให้เป็นยุคสมัยตามที่เราต้องการ เหล็กกับไม้ก็เป็นวัสดุที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน อย่างประตูเหล็กในบ้านก็ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วนำไปวางตากแดด พรมน้ำ แล้วรอให้ขึ้นสนิม คอยดูทุกวันจนได้สีที่ชอบ แล้วจึงทาสีฟิคมันไว้”
คุณเต้มองว่าพื้นผิวที่มีเท็กซ์เจอร์เหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้ของตกแต่งของเขากลับไปอยู่ในยุคที่มันเคยอยู่ เพราะของตกแต่งทั้งหมดในบ้านนี้ ต้องใช้เวลาสะสมมานานหลายปี แล้วค่อย ๆ หล่อหลอมจนกลายเป็นสไตล์ของตนเองมาเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าการตกแต่งบ้านหลังนี้เริ่มต้นมาจากสิ่งของที่ชื่นชอบ เพื่อให้สิ่งของเหล่านั้นกลายเป็นชิ้นงานที่สวยที่สุดในแต่ละมุม
ไอเดียของการออกแบบคุณเต้บอกว่ามาจากการเปรียบเทียบบ้านเป็นเสมือนกล่องสี่เหลี่ยมที่เขานำมาไว้ใส่สิ่งของล้ำค่า และจะทำอย่างไรให้บ้านกับสิ่งของที่เขามีอยู่สามารถมิกซ์รวมกันได้อย่างสวยงามลงตัวในแบบที่เขาต้องการ
“จริง ๆ แล้วการเลือกของแต่งบ้านสำหรับผมไม่ได้มีสไตล์อะไรเลย ผมแค่ชอบ ไม่จำเป็นต้องอเมริกัน แอนทีก อินดัสเทรียล หรืออะไรทั้งนั้น แต่ก็มีบ้างที่ต้องหยุดคิดว่าของที่เราชอบซื้อมา มันจะเข้ากับของที่มีอยู่ก่อนหน้านี้หรือเปล่า กลายเป็นเรื่องสนุกว่า เราจะทำอย่างไรให้ของแต่ละชิ้นอยู่ด้วยกันได้”
เมื่อเจ้าของบ้านเลือกตกแต่งบ้านจากความชอบมากกว่ากฎเกณฑ์การตกแต่งใด ๆ คำว่าสไตล์จึงไม่อาจมาเป็นตัวควบคุมบ้านหลังนี้ได้เลย จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้พบโคมไฟสมัยใหม่ตั้งอยู่คู่กับสัตว์สตัฟฟ์ หรือเก้าอี้คลาสสิกอยู่คู่กับกรอบรูปโปสเตอร์โฆษณา
ถ้าสิ่งของทั้งหมดมีที่มาจากความชื่นชอบ ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างมากที่คุณเต้สามารถเลือกของตกแต่งแต่ละชิ้นให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เคอะเขิน จนกลายเป็นสไตล์โดดเด่นในแบบของตนเอง ราวกับมีแรงดึงดูดให้เอกลักษณ์และตัวตนของเจ้าของบ้านปรากฏชัดเจนขึ้นภายในบ้านหลังนี้ อย่างที่เขาได้ให้สัมภาษณ์กับเราว่า “ผมเคยพยายามทำบ้านเรียบ ๆ แต่สุดท้ายก็มีเท็กซ์เจอร์แบบนี้อยู่ดี ใจผมมันไปไหนไม่ได้เลย” บ้านหลังนี้จึงเป็นมากกว่าบ้าน แต่คือพื้นที่ที่เขาได้ฝากตัวตนฝังเอาไว้…
เรื่อง : กษมา
ภาพ : นันทิยา, ดำรง
วิดีโอ : New Media
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : November 2014 No.141