ในวันที่เจ้าของบ้านได้เริ่มบอกเล่าความต้องการกับทีมสถาปนิก จุดเริ่มต้นของ แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังนี้คงไม่ได้แตกต่างอะไรจากบ้านหลังอื่นเท่าไหร่นัก หากแต่สิ่งที่ทำให้ผลลัพธ์ดูห่างไกลจากคำว่า “ธรรมดา” ไปมากนั้นน่าจะเป็นเรื่องราวที่สอดแทรกอยู่ “ระหว่างทาง” ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีของโครงการ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเหมือนช่วงเวลา “เวิร์คชอป” ของทีมสถาปนิกและเจ้าของบ้านในรูปแบบที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในบ้านเรา
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: A49 HD
เมื่อโจทย์คือ “บ้านที่แตกต่าง” บนแปลงที่ดินเปล่าในหมู่บ้านขนาดใหญ่ย่านชานเมืองล้อมรอบด้วยบ้านหน้าตาคล้ายกันหลายสิบหลัง ทั้งยังมาพร้อมกับสองคีย์เวิร์ดแสนสามัญอย่าง “โมเดิร์น” และ “รีสอร์ต” แรกเริ่มได้ถูกตีความออกมาในรูปแบบของ แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น ทรงกล่องดีไซน์เรียบนิ่งเปี่ยมฟังก์ชันกลิ่นอาย A49 ก่อนที่ทีมสถาปนิกจะค้นพบโดยบังเอิญว่าพวกเขาอาจเข้าใจความต้องการ “บ้านสไตล์โมเดิร์นในบรรยากาศรีสอร์ต” ของเจ้าของบ้านผิดไปถนัด
/ ตัวบ้านใช้สีขาวเป็นหลัก เราก็เลยอยากทำให้ที่นี่เป็นเหมือนแกลเลอรี่
ทุกอย่างเป็นประติมากรรมของบ้าน เสาทุกต้นแปลงสภาพให้ทั้งล้มทั้งเอียง
เป็นเหลี่ยมที่ไม่เหมือนกันเลย เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยน Structure ให้เป็น Sculpture /
“วันนั้นเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยตอนที่เราพรีเซ้นต์แบบเสร็จ โมเดลบ้านเกิดพังแล้วมันก็เอียง ซึ่งกลายเป็นว่าเขาบอกว่ามันน่าสนใจกว่า ทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว เขาไม่ได้ต้องการความแตกต่างด้วยฟังก์ชันหรือแค่สไตล์ของบ้าน “สเปซที่ไม่ธรรมดา” ต่างหาก คือความ “โมเดิร์น” ที่เจ้าของบ้านต้องการ เขาอยากพักผ่อนในรูปแบบใหม่ โดยหลุดออกจากโลกใน Grid หรือกรอบธรรมดาที่เขาทำงานอยู่ทุกวัน”
เมื่อบ้านกล่องไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป “ความไม่ธรรมดา” จึงถูกสื่อสารผ่านภาษาทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบของระนาบที่ลื่นไหลต่อเนื่องกันจนเกิดเป็นสเปซที่น่าสนใจภายในตัวบ้าน เส้นสายและรูปทรงสุดล้ำที่น่าตื่นเต้นทั้งหมดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากผ้าทอที่ม้วนอยู่ในกี่ทอผ้า ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจสิ่งทอของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี เมื่อตัวบ้านภายนอกเปรียบได้ดังผืนผ้า บรรยากาศภายในจึงออกแบบให้เป็นเหมือนเป็นแกนกลางที่สอดประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ผนังกระจกใสรอบบ้านดูเหมือนช่วยให้สเปซถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แต่แท้ที่จริงแล้วการเลือกใช้โทนสี วัสดุ รวมถึงเส้นสายของดีไซน์หรือแม้แต่ฟังก์ชันภายในบ้านที่ล้อไปกับตัวสถาปัตยกรรมภายนอกต่างหากที่สร้างความกลมกลืนให้บรรยากาศ “ภายนอก” และ “ภายใน” ดูเป็นหนึ่งเดียวกันแทบจะไร้รอยต่อ
“เนื่องจากบ้านหลังนี้แทบไม่มีผนังไหนทำมุมฉากกันเลย แถมเป็นกระจกเกือบทั้งหมดไม่มีระนาบผนังเป็นฉากหลังจึงถือว่าค่อนข้างยากในการจัดการสเปซ แต่ด้วยความที่ทีมสถาปนิกกับอินทีเรียดีไซเนอร์ทำงานร่วมกันตลอดตั้งแต่แรก ดังนั้นเราจึงได้เห็นว่าภายนอกและภายในดูต่อเนื่องกันทั้งหมด ถ้าเป็นโครงการอื่นสถาปนิกและอินทีเรียดีไซเนอร์อาจมาจากคนละบริษัท งานดีไซน์อาจถูกแบ่งแยกพื้นที่กันด้วยผนังกระจกหรือผ้าม่านแบบธรรมดา ๆ ”
การสร้างบ้านสีขาวหลังนี้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดของแกลเลอรีศิลปะ มีรูปทรงราวกับประติมากรรม ไม่เพียงท้าทายความรู้สึกของผู้พบเห็น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังท้าทายความสามารถของทีมสถาปนิกและวิศวกร รวมไปถึงความคาดหวังของเจ้าของบ้านแบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยข้อกำหนดด้านความงามที่ทำให้รายละเอียดงานโครงสร้างในหลาย ๆจุดต้องท้าทายแรงโน้มถ่วงโลกเป็นพิเศษ แต่ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างและการระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาก็นำพาสถาปัตยกรรมก้าวข้ามทุกขีดจำกัดมาถึงจุดนี้ได้อย่างสมบูรณ์
“เจ้าของบ้านชอบท่องเที่ยว จึงมีโอกาสเห็นโรงแรมเจ๋ง ๆ ในต่างประเทศมาเยอะ และรู้สึกว่าทำไมเมืองไทยยังไม่ถึงเวลามีแบบนั้นสักที เขาเลยเข้าใจว่าถ้าอยากได้คุณภาพที่ “ถึง” จริง ๆ ต้องลงรายละเอียดขนาดไหน คือเขาใช้ดีไซเนอร์คุ้มมาก ให้เราดีไซน์เต็มที่ ยิ่งเราสนุกเขายิ่งชอบ โดยเขาไม่เคยเข้ามายุ่งกับงานดีไซน์เลย แม้บางจุดที่เราดีไซน์กันจนเกินขีดความสามารถของเทคโนโลยี เราก็ต้องเปลี่ยนสิ่งที่พลาดให้เป็นจุดน่าสนใจแทน เขาก็ยังพร้อมสนับสนุน”
รางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ (Citation Awards) จากสมาคมสถาปนิกสยามปีล่าสุดคงไม่ได้เพียงการันตีความสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ หากยังยืนยันความสำเร็จของ “เวิร์คชอป” ที่ทุกคนต่างได้เรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียว คือการสร้างบ้านที่ผสานความงามเข้ากับการใช้ชีวิตอย่างลงตัว
เรื่อง : Monosoda
ภาพ : จิระศักดิ์, ดำรง
วิดีโอ : New Media
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : December 2014 No.142