“ประตูรั้วหันหาทิศปัจฉิมจะมีงานรื่นเริงมิได้ขาด ประตูอาคารหันหาทิศอุดรจะมีผู้มาเยือนมิขาดสาย…อาตี๋ ลื้อจะสร้างร้านเหล้าใช่ไหม” ซินแสดูฮวงจุ้ยหน้าโรงหนังไชน่าทาวน์ราม่า เอ่ยคำทำนายทันทีที่เห็น Conceptual Design ของ แบบบ้านเหล็ก TINMAN ที่ผมทำไว้ ซู้ดดดดดด ผมซดก๋วยจั๊บเผ็ดร้อนเจ้าดังในเยาวราชลงท้องตอนตีสองครึ่ง พร้อมนึกในใจถึงคำพูดของซินแส “ฮาเลลูย่า! เรามาถูกทางแล้ว!”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ : Junsekino Architect and Design
คุณหวัน – วสันต์ ติรางกูร วิศวกรที่ปรึกษาด้านพลังงาน คือเจ้าของ แบบบ้านเหล็ก ทรงแปลกตาซึ่งซุกตัวอย่างสงบในซอยเล็ก ๆ ท่ามกลางความพลุกพล่านไม่เคยหลับใหลในย่านสุทธิสาร เขาเริ่มเล่าเรื่องราวของ TINMAN ให้เราฟังพร้อมรอยยิ้ม
“บ้านนี้มีชื่อว่า TINMAN เพราะผมประทับใจคาแร็คเตอร์ของหุ่นกระป๋องผู้ออกเดินทางตามหาหัวใจ จากวรรณกรรมอมตะเรื่อง The Wonderful Wizard of Oz” คุณหวันบอกเราถึงที่มาของบ้าน โดยมี คุณจูน เซคิโน สถาปนิกลูกครึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้สานต่อโจทย์ความต้องการให้
“คุณหวันทำบ้านหลังนี้ตอนหัวใจเขาโสดสนิท แต่กลับสร้างบ้านสำหรับ ‘ครอบครัวเล็ก ๆ ลูกสอง’ ในฝันของเขา ผมว่ามโนมาก (หัวเราะ) แต่เมื่อ TINMAN สร้างเสร็จ ชื่อนี้ก็สื่อถึงตัวบ้านแบบดิบ ๆ เหล็ก ๆ และตัวของเจ้าของได้เป็นอย่างดี”
“ส่วนคุณจูน ตั้งแต่เริ่มโครงการก็โสดสลับไม่โสดอยู่หลายรอบ จนมาลงเอยกับภรรยาเมื่อตอนบ้านนี้สร้างเสร็จนี่แหละครับ (ฮา)” คุณหวันแซวสถาปนิกคู่ใจแบบเป็นกันเอง
// เราออกแบบเอง เราก็คิดซ้ายคิดขวา คิดสนุก ๆ พอชี้ตรงไหนก็สามารถเล่าได้ว่าชิ้นนี้มาจากไหน ทุกมุมของบ้านยึดหลักฟังก์ชันมาก่อนแล้วให้สถาปนิกออกแบบ ทุกอย่างมีเหตุมีผลเสมอ //
เมื่อถามถึงที่มาและการเลือกโลเกชั่นก่อนลงมือสร้างบ้าน คุณหวันบอกเราว่า “ผมเลือกบ้านจากโลเกชั่นเพราะไม่ต้องการเสียเวลาในเดินทาง จึงตั้งโจทย์ว่าหากไม่ติดรถไฟฟ้าก็ต้องติดรถไฟใต้ดิน ตระเวนดูหลายสิบที่อยู่เป็นปี แต่กลับค้นพบที่นี่โดยบังเอิญ บ่ายวันหนึ่งผมขับหลงทางเข้ามาในซอย แล้วเจอป้ายประกาศขายบ้านข้างใน ก็เลยเลี้ยวเข้ามาเจอบ้านเก่า เนื้อที่ประมาณ 53 ตารางวา กลับไปนอนคิดอยู่คืนนึง เช้าวันต่อมาก็ตัดสินใจซื้อเลย ขำอยู่นิดนึงว่า เวลาผมบอกใคร ๆ ว่าบ้านอยู่หลัง สน.สุทธิสาร ส่วนใหญ่จะนึกไม่ออก พอผมบอกว่าอยู่แถวโพไซดอนเท่านั้นแหละ อ๋อกันทุกคน” เขาเล่าเบื้องหลังการได้ที่ดินผืนนี้มาอย่างอารมณ์ดี
“คุณหวันจะทำร้านเหล้าใช่ไหมครับ” คุณจูนถามผมทันทีหลังจากเห็นแบบร่างเบื้องต้น ผมให้เขาดูรูปหลายพันรูปของตัวอย่างสถาปัตยกรรมสไตล์ลอฟต์และมินิมัลที่ผมชื่นชอบแล้วคัดเก็บไว้ ผมร้องในใจ “ใช่แล้ว! ต้องสถาปนิกคนนี้แหละ หนึ่งเดียวที่เข้าใจอารมณ์ของ TINMAN โดยไม่ต้องอธิบาย” ผมเลยบอกว่า “ตกลงผมให้คุณมาดูแลบ้านนี้ให้ผมนะ มาร่วมผจญภัยด้วยกัน!”
แล้วบ้านสี่ชั้นรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 415 ตารางเมตร ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพบนพื้นที่จำกัด มีโถงบันไดทำหน้าที่เป็นแกนหลักหรือ Core Ventilation Stack โถงทางเดินภายในมีลักษณะเป็นเส้นตรง (Linear) สำหรับแจกฟังก์ชันสู่ห้องต่าง ๆ ชั้นหนึ่งประกอบด้วยที่จอดรถ โถงนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องเอนเตอร์เทน ชั้นสองแบ่งเป็นห้องสมุด ห้องทำงาน ห้องแต่งตัว ห้องนอนสำหรับแขก ส่วนชั้นสามจัดให้มีห้องนอนใหญ่ ห้องนอนสำหรับลูก และชั้นสี่ออกแบบให้มีสวนพร้อมมุมนั่งเล่น
“รายละเอียดทั้งหมดนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่บนพื้นที่ใช้สอยภายในเพียง 53 ตารางวา นี่คือความต้องการที่ผมกับคุณจูนใช้แนวคิด Form Follows Function มาตอบโจทย์การออกแบบเบื้องต้น นอกจากหลักวิศวกรรมประหยัดพลังงานแล้ว ผมยังใช้ Ergonomic Design ในการกำหนดหน้าที่ ขนาด มิติ และผังทั้งหมดของ TINMAN ส่วนคุณจูนรับหน้าที่ Detail Design เพื่อทำให้กล่องปูนเหลี่ยม ๆ เหล็ก ๆ กลายเป็นบ้านที่ถึงพร้อมซึ่งความงามเชิงสถาปัตยกรรม”
เรียกได้ว่าคุณหวันมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านของเขาเองทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการวาง Conceptual Design ซึ่งมีที่มาจาก Ergonomic Design หรือการออกแบบพื้นที่ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการใช้งานทางกายภาพของสรีระมนุษย์ทุกอย่างผ่านการคำนวณมาอย่างดี ดังนั้นบ้านนี้จึงมีคอนเซ็ปต์ชัดเจน มีที่มาที่ไปซึ่งเกิดจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
“ทำไมโครงสร้างเป็นปูนแทนที่จะเป็นเหล็ก ทำไมตีฝ้าแทนที่จะเปิดเปลือยงานระบบเพื่อให้ดูแลรักษาง่ายและป้องกันการหมกเม็ดของผู้รับเหมา ทำไมประตูเป็นบานสะวิงแทนที่จะเป็นบานเลื่อนซึ่งกินพื้นที่น้อยกว่าและไม่มีปัญหาการเปิดไปกระแทกคนหรือของฝั่งตรงข้าม ที่ดินก็แสนแพง แล้วไฉนทำเป็นหลังคาแทนที่จะเป็นดาดฟ้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งาน เรากำลังออกแบบจากความเคยชินรึเปล่า ผมทำตัวเป็น ‘เจ้าหนูจำไม’ ตลอดเวลา ส่วนคุณจูนก็รับกรรม ต้องมาตอบโจทย์ไอเดียนี้กับผมเหมือนเป็นการนำเสนอวิทยานิพนธ์ร้อยกว่ารอบ ฮ่า ๆ ๆ” คุณหวันหัวเราะ เมื่อเล่าถึงวิธีการทำงานร่วมกับสถาปนิกดวงดี
“การออกแบบด้วยแนวคิดมินิมัลไม่ได้หยุดอยู่แค่ลุคของตัวบ้าน แต่ลงไปถึงระดับการใช้งานของส่วนต่าง ๆ เช่น ทั้งบ้านไม่มีกุญแจลูกบิด แต่ใช้วิธีล็อกประตูด้วยนอตตัวผู้ (Bolts) แทน” คุณจูนยกตัวอย่างชิ้นงานที่ออกแบบตามหลักมินิมัลให้เราเห็นภาพ “ไม่มีกุญแจ ก็ไม่ต้องกลัวจะถูกสะเดาะกุญแจ เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบเซนครับ (ฮา)” คุณหวันพูดเสริม
ส่วนการตกแต่งเน้นโชว์สัจวัสดุสไตล์ลอฟต์ มีการนำไม้ที่ได้จากการรื้อถอนบ้านหลังเก่าของเจ้าของบ้านมาปรับใช้เป็นชั้นหนังสือขนาดยักษ์ (กว้าง 0.60 เมตร สูง 3 เมตร และยาวรวมกันถึง 29 เมตร) โต๊ะทำงาน โต๊ะหัวเตียง พื้นห้อง ฯลฯ จัดวางเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ โดยนำวัสดุที่ใช้งานเชิงอุตสาหกรรมมาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ เช่น ท่อน้ำเหล็ก แผ่นเหล็กเจาะรูกลม ตะแกรงเหล็กฉีก แผ่นเหล็กลายกันลื่น ฯลฯ งานแต่ละชิ้นจึงมีความเฉพาะตัวสูงมาก นอกจากนี้ยังมีการนำแม่สีมาใช้ในการแต่งแต้มให้บ้านดูมีชีวิตชีวา โดยมี 3 สีไฮไลต์ คือ สีแดง โค้ดสีเดียวกับตู้ดับเพลิง สีเหลือง โค้ดสีเดียวกับเส้นถนนทางหลวง และสีน้ำเงิน Majorelle Blue
“แค่อยากจะยืนยันความเชื่อของเราว่า ‘ประชาธิปไตยคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของความต่าง’ ก็เลยเลือกใช้สีเหลืองแดงรวมกัน ส่วน Majorelle Blue เมื่อ 3 ปีก่อนมีโอกาสไปชื่นชม Jardin Majorelle Garden ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก ประทับใจสุด ๆ กับความจัดจ้าทรงพลังของสีสัน จึงอยากได้สีนี้ที่บ้านมาก แต่น่าเสียดายว่าสีน้ำเงินเฉดนี้ไม่ตรงกับโค้ดสีใด ๆ ของแพนโทนเลย งานนี้ต้องขอบคุณทาง TOA ที่ช่วยผสมสีขึ้นมาใหม่ให้ใกล้เคียงกับที่อยากได้” คุณหวันเล่าประวัติของสีต่าง ๆ ที่นำมาใช้แต่งบ้านให้เราฟัง
รูปทรงของบ้านผ่านการออกแบบที่ชัดเจน เรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ภายในกลับดูมีชีวิตชีวา ซุกซน สนุกสนาน เหมือนชายหนุ่มผู้มีลุคดิบเท่และสนุกสนานอยู่ในคนเดียวกัน บ้านหลังนี้มีความสวยงาม กลมกลืนกันทุกรายละเอียด มีเหตุและผลที่ตอบสนองการใช้งานจริง ฟังก์ชันทุกอย่างออกแบบให้สัมพันธ์กันหมดทั้งบ้าน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ครอบครัวคนรุ่นใหม่อย่างครอบครัวของคุณหวันได้อย่างเพอร์เฟ็กต์สุด ๆ
“จริง ๆ แล้วมีเวลาอยู่บ้านค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเดินทางเยอะ แต่เวลาที่ได้อยู่บ้านจะเอนจอยและรู้สึกแฮ็ปปี้มาก หากถามว่าชอบมุมไหนเป็นพิเศษ เรารักทุกมุมเลย เพราะแต่ละมุมออกแบบเพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ โมเมนต์ไหน อยากทำอะไรก็จะไปอยู่มุมนั้น พูดได้เลยว่าบ้านหลังนี้ออกแบบโดยมีเราเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นทุกอย่างในบ้านจะต้องตอบสนองเรา (ยิ้มกว้าง) ผมรักบ้านหลังนี้มากครับ บ้านกำลังเติบโตและมีเรื่องราวของมัน ผมไม่ได้ยึดติดกับเทรนด์อะไร แม้เวลาผ่านไปอีก 20 – 30 ปี เราเชื่อว่าดีไซน์ของบ้านที่ค่อนข้างอกาลิโก แม้จะผ่านเวลาไปนานแค่ไหนก็ยังดูร่วมสมัยไม่เปลี่ยน”
ก่อนจากกันคุณหวันทิ้งท้ายพร้อมให้ข้อคิดที่สุดประทับใจสำหรับคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองว่า
“เราอยากบอกกับคนที่อยากมีบ้านว่า ถ้าอยากมีบ้านที่เป็นตัวเราเองจริง ๆ ไม่ใช่บ้านที่เป็นของสถาปนิก เราต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ เพราะเราเป็นหัวใจของบ้าน สำหรับ TINMAN House หลังนี้ก็เช่นกัน หัวใจเกิดจากเจ้าของบ้าน”
เจ้าของ: คุณวสันต์ ติรางกูร
ออกแบบ: Junsekino Architect and Design
เรื่อง : Sara’
ภาพ : ดำรง