อีกหนึ่งงานรีโนเวตบ้านจีนแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “บ้านหูท่ง” ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยยังคงเก็บรักษาเอกลักษณ์ของบ้านหูท่งไว้ นั่นคือการมีคอร์ตยาร์ดขนาดเล็กซ่อนอยู่ในบ้าน สอดคล้องกับการอยู่อาศัยของครอบครัวชาวจีนสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากแล้ว
เริ่มแรกที่ทีมสถาปนิก
URBANUS เข้าไปสำรวจบ้านจีนโบราณหลังนี้ พบว่ามีสภาพทรุดโทรมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหลังคา ประตู และหน้าต่างล้วนผุพังหมดแทบทั้งสิ้น คงเหลือไว้แต่ต้นไม้ใหญ่จำนวน 2 ต้น จนเป็นที่มาของ “ห้องกลางบ้าน” เพื่อเก็บรักษาต้นไม้ทั้งสองนี้ไว้ โดยหลังคาบริเวณที่ติดกับต้นไม้ได้ถูกรื้อออก แล้วแทนที่ด้วยโครงไม้ไผ่ที่ยังคงระยะเดิมของโครงสร้างหลังคา ผ่านวิธีการซ่อมแซมแบบดั้งเดิม ในรูปแบบของโครงหลังคาโปร่งเพื่อให้แสงสว่างสามารถเข้าถึงต้นไม้บริเวณกลางคอร์ตได้
เพื่อให้แน่ใจว่าขนาดพื้นที่ใช้สอยไม่ถูกลดทอนลง สถาปนิกจึงทำการขยายห้องข้างคอร์ต โดยเหลือคอร์ตไว้เป็นรูปทรงน้ำเต้าบริเวณตรงกลาง ที่มาพร้อมซุ้มทางเข้าที่สามารถเข้าถึงคอร์ตได้โดยตรง
ผนังโค้งบริเวณคอร์ตที่ดูคดเคี้ยวเหมือนงู ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตโดยออกแบบผนังไม้ไผ่เป็นซี่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นม่านสร้างความเป็นส่วนตัวที่ยอมให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้ามาในบริเวณช่องว่างระหว่างอาคารเก่ากับส่วนต่อเติม ทั้งยังช่วยกรองความร้อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ด้านในโดยตรง ถัดไปด้านหลังเป็นสวนที่แยกออกจากคอร์ตโดยสิ้นเชิงเพื่อสร้างความรู้สึกที่แตกต่าง
คอร์ตขนาดเล็กนี้ทำการเชื่อมต่อกับพื้นที่ใช้สอย 3 รูปแบบ กล่าวคือในฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันออกเฉียงใต้แบ่งเป็นส่วนของอพาร์ตเมนต์จำนวน 2 ห้อง ในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้เป็นส่วนของออฟฟิศ และฝั่งตะวันตกด้านในสุดใช้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการและอีเว้นต์สเปซ ซึ่งทางเข้าทั้งสองฝั่งในทิศเหนือและใต้สามารถใช้แยกกันได้
เพื่อเป็นการรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของคอร์ตยาร์ดไว้ให้มากที่สุด ทีมผู้ออกแบบจึงทำการศึกษาและปรับปรุงความดั้งเดิม ความเป็นพื้นถิ่น และลักษณะทางประวัติศาสตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่พื้นที่ภายในได้รับการพัฒนาเพื่อตอบรับการสร้างประสบการณ์ที่พิเศษ
โปรเจ็กต์นี้เป็นอีกหนึ่งการรีโนเวตเพื่อสร้างความสงบภายในพื้นที่เมือง ผ่านการสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ในบริบทเดิม เผยให้เห็นถึงรูปแบบและศักยภาพในการปรับปรุงพัฒนาเมืองเก่า ให้ตอบโจทย์การใช้งานรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น
ภาพ: Yang Chaoying
เรียบเรียง: BRL