สนามเด็กเล่น แห่งนี้ เกิดจากการเปลี่ยนพื้นที่ของศูนย์อุตสาหกรรมเก่าบริเวณตอนเหนือของกรุงปักกิ่ง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโกดังเก็บสินค้าประเภทเมล็ดพืชสำหรับการขนส่งเพื่อกระจายสินค้า โดยลูกค้าของโปรเจ็กต์นี้ คือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสังเกต และสนับสนุนพัฒนาการของเด็กที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว สำหรับกลุ่มอายุที่หลากหลาย
จากการศึกษาพบว่า สิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ในเมืองใหญ่ที่ขาดหายไปคือการมีพื้นที่สาธารณะอย่าง สนามเด็กเล่น ให้เด็กได้ใช้งาน ผู้ออกแบบจึงหวังที่จะออกแบบประสบการณ์การเล่นตามท้องถนน จำลองการเล่นบอร์ดเกม และเกมมือถือ โดยทำการผสานคาแร็กเตอร์ดังกล่าวให้เข้ากับบริบทพื้นที่ โดยสามารถแบ่งออกตามลักษณะดังต่อไปนี้
1.Hide and seek การซ่อนหา กิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาการแบบกลุ่ม เสริมสร้างจินตนาการ และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์
2.Adventure playground ความสมดุล คือสิ่งที่มองไม่เห็นจนกว่าจะเสียมันไป เด็ก ๆ จะได้ทำการตัดสินใจว่าจะทำ หรือไม่ทำกิจกรรม ที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เพื่อจะได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ
3.Nook and Cranny สเปซที่ให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่สำรวจ และทำความเข้าใจการยศาสตร์ หรือสรีระร่างกายของตัวเอง
4.Maze เขาวงกต ที่ให้เด็ก ๆ ได้ทำการค้นหา ไม่ว่าจะหนทางที่ยาก ง่าย หรือสลับซับซ้อน โดยทางที่คิดว่าไปง่าย อาจจะไม่ใช่ทางออกเสมอไป
5.Fantasy พื้นที่แลนด์สเคปแบบแอ็บสแตร็กต์ (Abstracted) เสริมสร้างจินตนาการการวิ่งเล่นได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
ตัวพื้นที่สนามเด็กเล่นเป็นคอร์ต รายล้อมไว้ด้วยหมู่อาคาร พื้นที่ภายในมีการแบ่งระดับการเล่นที่แปรผันตามช่วงวัย โซนแรกเป็นสนามระดับเดียวที่มีความสูง 6 เมตร สำหรับเด็กอายุ 2-4 ขวบ มีลักษณะเป็นพื้นที่สำหรับคลานตัวพื้นที่ออกแบบให้มีพื้นผิวที่อ่อนนุ่มรองรับเด็กทารก ทั้งยังมีร้านอาหารและห้องสมุดคอยให้บริการ
โซนสอง เป็นพื้นที่แนวตั้งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ รวมไปถึงพื้นที่แบบใต้ดิน สำหรับเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป ออกแบบให้สามารถปีนป่ายไปบนโครงตาข่ายที่มีความลาดเอียง ส่วนของชั้น 2 และ 3 ประกอบไปด้วยห้องเรียนแบบมัลติฟังก์ชันทั้งหมด 6 ห้อง จากชั้นนี้มีเนินขนาดความสูง 7 เมตร เชื่อมลงไปยังชิ้นหนึ่งได้ โดยทุกอาคารจะมีเนินหลังคาที่เชื่อมต่อกันหมด เอื้อให้พ่อแม่สามารถดูแลลูก ๆ ได้อย่างทั่วถึง
องค์ประกอบ 3 อย่าง ที่ผู้ออกแบบนำมาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นจินตนาการและเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ๆ คือ
1.ท่อ: เพื่อทดสอบการรับรู้ของร่างกาย ถูกจัดเรียงเป็นชุดด้วยสะพาน และบันไดที่เชื่อมต่อกัน
2. หลังคา: เสนอทางเลือกให้เด็ก ๆ ได้ออกนอกกรอบ โดยสามารถเดินทางจากระเบียง ข้ามใต้เนิน และผ่านสไลเดอร์ที่มีความสูงต่างกัน ตั้งแต่ 4.3 – 7 เมตร
3.เนิน: เสริมพัฒนาการในด้านความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับความสมดุล (Balance) และเสรีภาพในการตัดสินใจ เพราะเนินดินช่วยให้เด็ก ๆ ได้สำรวจ และตัดสินใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเอง โดยคำนึงถึงความเสี่ยง และก้าวข้ามความลาดเอียงต่าง ๆ ด้วยความเร็ว
สนามเด็กเล่น คือเครื่องมือที่ใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็เอื้อให้เด็ก ๆ มีจินตนาการ พัฒนาความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับสมดุล และการตระหนักรู้ เพราะ “การเล่น” เป็นช่วงเวลาเดียวที่เด็กได้ตัดสินใจด้วยตนเอง
ออกแบบ : waa
ออกแบบโครงสร้าง : LAVA Structure
ภาพ : Tian FangFang
เรียบเรียง : BRL
เรียบเรียง : BRL