บนความเติบโตของย่านถนนบรรทัดทอง ย่านที่มีทั้งร้านอาหารและอาคารสำนักงานหลากหลาย มีส่วนเปลี่ยนโฉมถนนเส้นนี้ ไปสู่ความคึกคักทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับ KiddNap (คิดแน็พ) หรือสำนักงานให้เช่าสำเร็จรูปแห่งใหม่
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ
KiddNap เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ช่วยเติมสีสันให้ย่าน ด้วยการรีโนเวตพื้นที่อาคารคอนกรีตเก่าสูง 10 ชั้น ให้กลายเป็นสำนักงานให้เช่าที่มีฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของคนทำงาน รวมถึงวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ที่คนอาจไม่ต้องเข้างาน 8.00 น. ออก 16.00 น. เหมือนอย่างเก่า
KiddNap จะเรียกว่าเป็นโครงการสาขา 3 ต่อจาก NapLab จุฬาฯ และ NapLab วังหลัง โคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีจุดเด่นที่บรรยากาศเป็นกันเอง และการมีพื้นที่ให้ “งีบ” ได้ ระหว่างการทำงาน โครงการทั้ง 3 ออกแบบ โดยสถาปนิก “ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ” แม้ทุก ๆ โครงการจะได้รับการออกแบบด้วยภาพลักษณ์เดียวกันให้ดูสนุกสนาน แต่ KiddNap ก็มีจุดยืนที่แตกต่างจาก 2 โครงการที่ผ่านมา ทั้งในด้านธุรกิจ และด้านการจัดสรรพื้นที่ใช้สอย
“โครงการก่อนหน้านี้ จะค่อนข้างเน้นให้บริการนักศึกษาและกลุ่มวัยรุ่น พอมาที่นี่เราอยากทำมันดูโตขึ้น” คุณเต็นท์ – ภัทราวุธ จันทรังษี สถาปนิกจากตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ เล่าให้ฟังถึงแนวคิด
“จากที่เดิมเราแบ่งพื้นที่คอมมอนสเปซของโคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นสัดส่วนประมาณ 75 – 80 เปอร์เซ็นขึ้นไป ที่เหลือเป็นสำนักงาน แต่ที่นี่เราทำกลับกัน โดย 80 เปอร์เซ็นต์ จะกลายเป็นพื้นที่เช่าของ Serviced Office หรือสำนักงานให้เช่าสำเร็จรูป”
KiddNap เป็นการเข้าปรับปรุง “อาคารมั่นคงเคหะการ” เดิม แล้วเปลี่ยนชื่ออาคารเป็น “Mint Tower” บนถนนบรรทัดทอง โดยปรับพื้นที่ชั้น 1 ให้เป็นพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้า ชั้น 5 ถึง ชั้น 10 ปรับปรุงเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับสำนักงานภายนอกทั่วไป ส่วนที่เหลืออย่าง ชั้นลอย ถึงชั้น 4 เป็นพื้นที่ของ KiddNap
ในฐานะสำนักงานให้เช่าสำเร็จรูป KiddNap มุ่งการสร้างพื้นที่เช่าสำหรับสำนักงานขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่เล็กถึงกลาง โดยชั้นแรกของ KiddNap เป็นล็อบบี้ ชั้นต่อมาเป็นส่วนนั่งทำงานคนเดียว หรือ Hot Desk จำนวน 90 ที่นั่ง ประกอบกับส่วนเล้านจ์ คาเฟ่ และส่วนนั่งพักผ่อน ทั้งหมดรวมกันเป็นส่วนโคเวิร์กกิ้งสเปซ
ต่อมาจึงเป็นส่วนใช้งานหลัก Serviced Office หรือสำนักงานที่ตกแต่ง และวางระบบพร้อมเช่ามีทั้งหมด 41 ห้อง รองรับคนได้ 300 คน กินพื้นที่สองชั้นบนสุดของโครงการ นอกจากนี้ยังได้มีการแทรกห้องแบบแคปซูลสำหรับนั่งทำงานคนเดียว 18 ห้อง บางห้องมีที่นอนไว้ให้งีบหลับได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมที่จุคนได้ตั้งแต่ 4 ที่นั่ง ไปจนถึง 80 นั่ง
“ที่นี่เราจัด Serviced Office เป็นสเกลเล็ก ๆ แต่มีจำนวนเยอะ โดยทุก ๆ ห้องควรจะได้ช่องเปิด ควรจะได้แสงธรรมชาติ” คุณโอ๋ – ภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ สถาปนิกอีกท่านล่าถึงแนวคิดการออกแบบ
“ในขณะที่รอบข้างอาคารนี้ไม่มีวิวอะไรเลย และเราอยู่ข้างในอาคารทึบตันทั้งหมด เพราะฉะนั้นสำหรับตึกนี้ เราเลยต้องสร้างวิวของตัวเอง แล้วก็สร้างมุมมองที่สวยงามของตัวเอง”
เมื่อต้องจัดการพื้นที่ใช้สอยจำนวนมาก แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานไปด้วย สถาปนิกจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องความทึบตันของตึกเก่า วิธีหลักที่ใช้มอบความโปร่งโล่ง และเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยแบบแบ่งชั้นชัดเจน คือการเจาะพื้นเชื่อมต่อพื้นที่ใช้สอยแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน
การเจาะพื้นเริ่มจากชั้นล็อบบี้ โดยเจาะเป็นช่องบันไดขึ้นสู่ชั้น 2 ให้เป็นช่องแสงจากชั้นล่าง และเป็นทางสัญจรหลักของผู้ที่จะใช้งานส่วน Co-working Space ต่อจากนั้น ได้เจาะพื้นเชื่อมชั้น 3 กับ 4 ช่วยสร้างเอกลักษณ์ด้านพื้นที่ใช้สอยให้ส่วนสำนักงานให้เช่า และเป็นเอกลักษณ์ด้านภาพลักษณ์ให้สถานที่นี้ไปด้วย
“คุณค่าที่เราต้องการสร้างในที่นี้ คือการสร้างดีไซน์ที่จะกระตุ้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี” คุณโอ๋เล่าต่อถึงแนวคิดการออกแบบ ซึ่งผมคิดว่ามันมีสองมิติซ้อนกันอยู่ มิติแรกคือเรื่องความเท่ ความว้าว สร้างความกระตือรือร้นผ่านสีสัน ผ่านรูปฟอร์ม และผ่านเส้นสาย เมื่อผู้ใช้งานเขาได้เห็นองค์ประกอบพวกนี้ ก็จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือความกระตือรือร้นมากขึ้น”
“กับอีกมิติหนึ่ง คือเรื่องความสบายและคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะได้เห็นสเปซที่ลื่นไหลหากันได้โดยตลอด ผ่านความโปร่งโล่ง ผ่านเรื่องของแสงที่เพียงพอ พอสองอันนี้มาซ้อนทับกันก็จะเกิดดีไซน์ที่ช่วยสนับสนุนเรื่องของการทำงานที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ สบาย และอยู่ได้นาน”
ดังที่เห็นได้จากองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏในงานออกแบบทั้งเส้นสายทรงโค้ง (Arch) ที่ถูกใช้ในช่องประตูต่าง ๆ ในสถานที่ ให้ทั้งความสนุกสนานและเป็นการล้อมาจากเอกลักษณ์ฟาซาดของอาคารเดิม ต่อมาผู้ออกแบบจึงคำนึงถึงสีสันที่ใช้ นอกจากบันไดสีส้มแดงสด ที่พาดผ่านช่องเปิดเชื่อมต่อชั้นบน ชั้น 3 และชั้น 4 เป็นจุดเด่นแล้ว สีสันที่เหลือก็เป็นการใช้คู่สีที่เข้าได้กับบันไดสีแดง แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยลดทอนไม่ให้บันไดดูกวนสายตาเกินไป อย่างการใช้สีเขียว สีขาว สีเทาสีไม้เฉดอ่อน และเฉดเทา
แม้ที่นี่จะถูกวางตัวเป็นพื้นที่ Serviced Office คุณภาพสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ แต่ทั้งเจ้าของโครงการและตัวสถาปนิก ก็ไม่ได้ต้องการให้ที่นี่ดูเข้มขรึม หรือเคร่งเครียดเกินไป พวกเขาอยากให้ที่นี่ดูสนุกและสบาย เหมือนบุคลิกคนไทย ดังจะได้เห็นการให้บริการเช่าเตียงนอนได้ หากใครทำงานติดลม หรือชื่นชอบสถานที่จนไม่อยากกลับบ้าน ดังที่คุณเต็นท์ กล่าวว่า
“เจ้าของโครงการใช้คำว่า อยากให้เป็นพื้นที่ทำงานที่คนอยากจะมา แม้ไม่ได้มีงานที่จะต้องทำ และเจ้าของโครงการก็เริ่มถนัดเรื่องการทำสถานที่ ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง เพื่อตอบความสนองต้องการที่สำนักงานให้เช่าทั่วไปให้ไม่ได้ การให้อยู่ได้ตลอด มีเครื่องปรับอากาศตลอด ผนวกกับเราทำบรรยากาศให้รู้สึกว่าคุณมาอยู่ที่นี่แล้ว รู้สึกเหมือนไม่ได้มาอยู่ในออฟฟิศ คุณสามารถเข้ามาใช้เวลาอยู่ที่นี่ได้ แม้จะไม่ต้องทำงานก็ตาม”
“หัวใจของมันก็คือ เราคิดว่าที่นี่พัฒนาต่อมาจากแบรนด์ NapLab เป็นคาแร็กเตอร์แบบไม่ใช่เด็กหน้าห้อง ที่ต้องตั้งใจเรียนนะ! ต้องจริงจัง! ต้องทำงานนะ! แต่เราเป็นคนธรรมดาสบาย ๆ นี่แหละ เล่นก็ได้ นอนก็ได้ จะไปกลิ้งทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ว่าเราก็ทำงานได้อย่างดีนะ และได้ประสิทธิภาพเช่นกัน”
—
ที่ตั้ง KiddNap Workplace
อาคาร Mint Tower ชั้น M ถนนบรรทัดทอง กรุงเทพฯ
โทร. 084-271-2233
ออกแบบ: Awaken Design Studio
Brand Identity Designer : After Design Studio
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: YAMASTUDIO, Awaken Design Studio
อ่านต่อ คุยกับ ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ
ถึงการออกแบบที่เน้นเสริมคุณค่าด้วยการทำความเข้าใจใน “ความหมาย”