ในขณะเราพยายามนำพางานหัตถกรรมดั้งเดิมให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว แต่นอกเหนือไปจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย ทั้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และกระบวนการเบื้องหลังงานฝีมือก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม และยังคงต้องการการพัฒนาไม่แพ้กัน Domestic Loom คือกี่ทอผ้าดีไซน์ใหม่ ที่ชวนให้เราหันกลับมามองต้นทางของงานหัตถกรรมสิ่งทออีกครั้ง
Domestic Loom กี่ทอผ้าฝีมือการออกแบบของ คุณพิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิกและนักออกแบบจาก Plural Designs ถือเป็นตัวแทนบอกเล่าความเป็นไปได้ใหม่ในการ “รีดีไซน์” เครื่องไม้เครื่องมือเบื้องหลังงานหัตถกรรมสิ่งทอ ให้ตอบโจทย์ยุคสมัย และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของช่างผีมือยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น จุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์นี้มาจากประสบการณ์ของคุณพิบูลย์ ที่ได้มีโอกาสเดินทางพบปะ ทำงานร่วมกับช่างทอ และนักออกแบบสิ่งทอในหลากหลายชุมชนหัตถกรรม ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมจะพบว่าเครื่องมือหลักของช่างทอทั่วประเทศ ล้วนเป็นกี่ไม้เรียบง่าย ที่ผลิตขึ้นใช้เองในท้องถิ่น และแน่นอนว่าคนทอไม่ได้เป็นผู้สร้าง และคนสร้างไม่เคยได้ลองใช้ทอ
คุณพิบูลย์: “ในชุมชนช่างทอ เราจะเห็นกี่ทำจากโครงไม้เป็นส่วนใหญ่ คล้ายกันแทบทุกหมู่บ้าน อาจเป็นเพราะทำง่าย ใช้วัสดุในท้องถิ่นได้เลย แต่ก็ยังไม่เห็นกี่ที่มีการพัฒนาให้ดูสวยขึ้น ช่วยให้นั่งใช้งานได้สบายขึ้น กี่แบบดั้งเดิมมีเสา 4 ด้าน ดูเกะกะ มักใช้งานไม่สะดวกสำหรับช่างทอผู้เฒ่าผู้แก่ จริง ๆ ผมเคยคิดไว้นานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ลองทำ คราวนี้ได้คุยกับอาจารย์นุสรา เตียงเกตุ ที่ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้า บ้านไร่ใจสุข จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์ก็บอกให้ลองทำดู เพราะส่วนใหญ่ช่างทอกับช่างทำกี่ จะเป็นคนละคนกัน เขาอาจจะไม่ได้ปรับปรุงการใช้งานมากนัก แต่ถ้าเราออกแบบช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้นก็น่าจะดี”
ก่อนหน้านี้ในแวดวงหัตถกรรมสิ่งทอของไทย ก็มีผู้เชี่ยวชาญ และครูช่างที่ออกแบบ และพัฒนากี่ทอผ้ารุ่นใหม่อยู่หลากหลายรูปแบบ อาทิ ครูจรูญ พาระมี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ที่พัฒนากี่กระตุกขนาดเล็ก โดยมีต้นแบบจากกี่กระตุกโบราณ ให้ช่างสามารถทอผ้าหลากหลายลวดลายได้รวดเร็ว และมีขนาดเล็กลง เคลื่อนย้ายง่าย ใช้พื้นที่น้อยลง แต่การรีดีไซน์กี่ทอผ้าครั้งนี้ของคุณพิบูลย์ อาจมีเป้าหมายที่ต่างออกไป ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ Domestic Loom มีประโยชน์ในวงกว้าง เหมาะสำหรับทั้งผู้เริ่มต้นเรียนรู้ ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้รูปลักษณ์ที่น่าสนใจ และสามารถกลมกลืนในบริบทตามสมัยนิยมได้อย่างไม่แปลกแยก
ก่อนออกแบบ
โปรเจ็กต์นี้ คุณพิบูลย์ได้รับคำปรึกษาจาก ผศ.ดร.วิทวัน จันทร และ อ.ดร.วุฒิไกร ศิริผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยให้กี่ทอผ้าโมเดลใหม่นี้ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับช่างทอได้อย่างแท้จริง ภายในอาคารปฏิบัติการหรือโรงทอสำหรับการเรียนการสอนสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์นี้ เต็มไปด้วยกี่ทอผ้าหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่กี่พื้นฐานไปจนถึงกี่ประยุกต์ กี่ไทยพื้นบ้าน ไปจนถึงกี่ด๊อบบี้แบบฝรั่ง ซึ่งกี่เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงในการออกแบบของคุณพิบูลย์
ดร.วุฒิไกร: “จริง ๆ แล้วการเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องสิ่งทอ ใช้เครื่องมือแบบไหนก็ได้ มีบ้างที่ประยุกต์จากแบบดั้งเดิม เพื่อให้กี่มีจริตของทั้งแบบไทย และแบบตะวันตก แต่ที่เราพยายามเน้นสิ่งที่หาง่าย สอนด้วยกี่พื้นบ้าน เพราะเมื่อวันที่เด็กออกไปทำงานร่วมกับชุมชน จะทำให้พวกเขาเข้าใจง่าย เชื่อมโยงกับช่างทอท้องถิ่นได้ และกลมกลืนกับชุมชนได้ดี”
กี่ทอผ้าดีไซน์ใหม่
แต่แม้การใช้กี่ทอผ้าพื้นบ้าน จะช่วยให้นักศึกษาสามารถทำความเข้าใจระบบการทอแบบไทยที่มีความซับซ้อนสูงได้ แต่รูปทรงของกี่ไม้สี่เสาที่ออกจะเทอะทะ ก็เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่กระทบต่อเทคนิคการใช้งานเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน กี่ทอผ้ารูปแบบใหม่ของคุณพิบูลย์ จึงได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิดที่ไม่ต่างกับเฟอร์นิเจอร์สักชิ้น มุ่งปรับปรุงรูปทรงให้มีความร่วมสมัย และตอบโจทย์การใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
คุณพิบูลย์: “ผมพยายามทำให้กี่ทอผ้ามีความเป็นเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น ทำให้ดูน่าใช้ เข้ากับสรีระ ตอบโจทย์การใช้งาน ขณะเดียวกัน ก็พยายามออกแบบให้กี่มีความเป็นอุตสาหกรรม คือแต่ละชิ้นส่วนสามารถถอดออก ปรับเปลี่ยนได้ โครงสร้างมีขนาดเล็กลง ถอดประกอบได้ด้วยการขันน็อต ถ้ามีอุปกรณ์ที่เข้ากับปัจจุบัน พอเป็นแบบนี้คนที่เรียนรู้ก็อยากจะเอาไปตั้งที่บ้าน อยากสัมผัสมันมากขึ้น เข้ากับเวิร์กชอป สร้างความสุนทรีย์ มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดิม 100%”
กี่โมเดลใหม่นี้โดดเด่นด้วยดีไซน์ร่วมสมัยใช้เส้นเอียงสอบเข้าของบ้านไทยมาปรับใช้เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง วัสดุเหล็กทำสีพาวเดอร์โค้ต ช่วยให้เส้นสายเพรียวบาง เรียบง่าย เข้ากับการตกแต่งร่วมสมัยได้ดี ออกแบบให้กะทัดรัด ลดทอนโครงสร้างที่ไม่จำเป็นออก ใช้เส้นเอียงสอบที่มักพบเห็นในบ้านเรือนไทยมาปรับใช้กับโครงสร้างกี่ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง เลือกใช้วัสดุเหล็กทำสีพาวเดอร์โค้ต ช่วยให้เส้นสายโครงสร้างเพรียวบาง ดูเรียบง่าย ประกอบกับชิ้นส่วนไม้โอ๊กสีอ่อน เข้ากับการตกแต่งร่วมสมัยได้ดี
การออกแบบใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อตอบรับกับสรีระผู้ใช้งาน อาทิ เก้าอี้นั่งทอที่แยกตัวอิสระออกจากโครงสร้างกี่ทอผ้า พร้อมปรับระดับได้ตามความสูงผู้ใช้งาน หรือการออกแบบส่วนมือจับด้านบนฟืมให้เป็นแนวไม้โค้งมนรับกับมือได้ดี พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทอผ้าต่าง ๆ ทั้งยังสามารถเสริมได้เพิ่มเติม กี่รูปแบบใหม่นี้ จึงได้รับการพัฒนาให้เหมาะสำหรับช่างทอทั้งในระดับช่างทอชุมชน ที่มีทักษะในการทอดั้งเดิมอยู่แล้ว และนักศึกษาหรือนักออกแบบสิ่งทอที่ต้องการกี่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่
นอกจากนี้ ยังแข็งแรงทนทาน แต่เคลื่อนย้ายง่าย โครงสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ ออกแบบให้เป็นชิ้นส่วนเหล็ก ที่ถอดประกอบได้ด้วยน็อตและสกรู นอกจากทนทานแล้ว ยังเคลื่อนย้ายได้สะดวก
คุณพิบูลย์: “ตัวโครงสร้างกี่ก็ทำให้เหมือนเป็นฮาร์ดแวร์ มีโครงสร้างตามหลักการทำงาน เช่น ดึงผ้าให้ตึง ส่วนลวดลาย วิธีการทอ ก็เหมือนซอฟแวร์ สามารถเพิ่มได้ ยกระดับได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน ตอนนี้อาจมีแค่สองตะกอ แต่ก็สามารถใส่เพิ่มได้มากกว่านี้ จริงๆ เท่าที่ศึกษามา มันไม่มีกี่เอนกประสงค์ที่เหมาะสำหรับทุกรูปแบบการทอขนาดนั้น ถ้าอย่างกี่ชาวบ้าน อาจจะไม่ได้มีอุปกรณ์เยอะ แต่ช่างมีทักษะสูง ก็จะใช้กี่พื้นฐาน แต่ใช้ทักษะในการทอ ทำให้เกิดลวดลาย แต่สำหรับนักเรียนอาจจะไม่ได้มีทักษะในการทำงานทอมากนัก ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง ที่ช่วยอำนวยความสะดวก อย่างใช้ตะกอแบบลวดเหล็กก็ใช้งานง่ายกว่า แต่พอวันหนึ่งเขาเชี่ยวชาญจะเอาตะกอลวดออก แล้วใช้แบบตะกอด้ายเหมือนเดิมก็ได้”
อนาคตหัตถกรรมสิ่งทอไทย
นอกเหนือจากผู้สนใจเรียนรู้งานทอผ้า อีกกลุ่มผู้ใช้งานหลักของ Domestic Loom น่าจะเป็นกลุ่มศิลปินและนักออกแบบสิ่งทอรุ่นใหม่ และที่นี่ก็คือหนึ่งในสถาบันหลักของไทยที่ผลิตบุคลากรด้านการออกแบบ ทั้งสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมสิ่งทอ ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมสิ่งทอปัจจุบัน แต่ละกระบวนการก็จะอยู่คนละที่ โรงงานปั่นด้ายก็เป็นคนละที่กับโรงงานทอผ้า ดังนั้น ดีไซเนอร์ที่สามารถอยู่หลายแพลตฟอร์ม จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ที่นี่จึงสอนแบบครบกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ
ดร.วุฒิไกร: “จริง ๆ ถ้าจะสอนให้เข้าใจว่าการทอผ้าคืออะไร แค่หนึ่งเดือนก็เข้าใจแล้ว แต่ถ้าจะฝึกทักษะจนเกิดความประณีต ที่ทอผ้าให้ใช้งานได้จริงนั้น น่าจะใช้เวลาประมาณปีกว่า ๆ ที่นี่เรามีการสอนการทอตั้งแต่พื้นฐาน และมีวิชาทอโดยเฉพาะอีกปีหนึ่ง เด็กๆ ต้องทำเป็นตั้งแต่การย้อมด้าย ปั่นด้าย ขึ้นเส้นยืน จนทอออกมาเป็นผ้า เพราะการทอเป็นเรื่องทางเทคนิคพอควร ถ้าเราแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ได้ ก็ยากที่จะออกแบบได้ดี ดังนั้นการแก้ปัญหาแต่ละจุด ในฐานะ Textile Designer เขาก็จำเป็นต้องรู้ทั้งกระบวนการ”
“ยกตัวอย่างผ้าขาวม้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังพัฒนาได้อีกมาก แต่ถ้าโปรดักส์ดีไซเนอร์ไปซื้อผ้าขาวม้า บอกช่างให้ทอสีนั้นสีนี้ให้หน่อย แต่เนื้อผ้าก็ธรรมดาเหมือนเดิม ผลิตภัณฑ์สุดท้ายก็ไม่ได้พิเศษอะไร แต่ถ้าเราเปลี่ยนเนื้อผ้าได้ มันก็ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลายเป็นอีกระดับเลย ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่การพัฒนาเส้นใย เส้นด้าย ซึ่งรายละเอียดในกี่ทอผ้าอย่าง ตะกอ ฟืมก็ต้องเปลี่ยนไปหมด เพื่อให้ทอได้แน่นขึ้น เนื้อผ้าหนาขึ้น มันมีรายละเอียดซับซ้อนมาก ต้องอาศัยความเข้าใจทั้งกระบวนการ”
สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ประกอบด้วยสองวิชาเอก ได้แก่ ศิลปะการออกแบบสิ่งทอ และศิลปะการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะได้เรียนรู้พื้นฐานของงานสิ่งทอทุกประเภท
ผศ.ดร.วิทวัน: “ที่นี่เราเน้นเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ โดยหลักสูตรให้เรียนรู้ครบทุกกระบวนการของการออกแบบสิ่งทอ (Textile Design) ขณะที่สถาบันอื่นอาจจะเน้นด้านเทคโนโลยีสิ่งทอ การแปรรูปสิ่งทอหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอ เราก็สอนทั้งเป็นเชิงอุตสาหกรรม และเชิงหัตถกรรมชุมชน ส่วนใหญ่จบไปก็สร้างแบรนด์ตัวเอง ครึ่งหนึ่งอาจจะไปทำงานในกลุ่มชุมชน กลับบ้านเกิดไปพัฒนางานฝีมือก็มีอยู่มาก ส่วนในอุตสาหกรรมก็มีพอสมควร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักออกแบบลวดลายสิ่งทอ หรือแบรนด์แฟชั่น”
“เราพยายามสร้างให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ก่อน แล้วจึงเอาความครีเอทีฟนี้มาประยุกต์กับทักษะที่มี และสามารถทำงานร่วมกับชุมชนหัตถกรรมได้ ขณะเดียวกัน ก็มีความยืดหยุ่นพอที่จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ด้วย ซึ่งพบว่านักศึกษาจากที่นี่สามารถเข้ากับชุมชนได้ดี และมีความมั่นใจด้านงานฝีมือ”
ที่นี่สร้างบุคลากรในแวดวงหัตถกรรม และอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมาแล้วมากกว่า 20 รุ่น และแม้ว่ายุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกดูเหมือนว่าจะผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยการแข่งขันของการค้าเสรี และกับโรงงานในจีน แต่ในแง่ของงานหัตถกรรม ผ้าไทยยังคงสะท้อนเอกลักษณ์ และคุณค่าแห่งภูมิปัญญาได้อย่างเต็มเปี่ยม และแน่นอนว่าต้องการการพัฒนาแบบบูรณาการไม่ต่างจากหัตถกรรมประเภทอื่น
คุณพิบูลย์: “ผมว่างานสิ่งทอเชื่อมโยงกับรากเหง้าของไทยเราได้ในหลากหลายแง่มุม ผมว่าเราต้องพัฒนาไปพร้อมกันตั้งแต่ที่มาของวัสดุ งานฝีมือ การออกแบบ ไปจนถึงการแปรรูป ถ้าเราไม่ย้อนมองที่วัสดุผ้าก่อน เน้นแต่ผลิตภัณฑ์ปลายทางก็คงไม่สามารถต่อยอดได้ในระยะยาว”
—
ออกแบบ-ภาพชิ้นงาน: Plural Designs (www.pluraldesigns.net)
ภาพบรรยากาศ: นันทิยา
เรื่อง: MNSD