ชวนคุณเดินทางไปอาบป่าพร้อมเยี่ยมเยือนโฮมสเตย์ใหม่ใน บ้านกระท่อม หลังน้อยท่ามกลางธรรมชาติที่ Wood and Mountain Cabin อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ของแบรนด์ Wood and Mountain และ If I were a carpenter แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยผู้รักงานไม้และภูมิปัญญาดั้งเดิม พร้อมพูดคุยกับ Sher Maker ทีมสถาปนิกท้องถิ่นที่รักการศึกษาวัสดุ และสถาปัตยกรรมเป็นชีวิตจิตใจ
ออกแบบ : Sher Maker
บ้านกระท่อม หรือ Cabin คือคีย์เวิร์ดที่เจ้าของโครงการมอบเป็นความคิดตั้งต้น ก่อนที่ทีมสถาปนิกผู้รักในงานไม้จะนำมาพัฒนาต่อยอด ชนิดที่เรียกว่า ‘ได้ทดลองเต็มที่ทุกอย่างกับงานสถาปัตยกรรมประเภทกระท่อม’ ก่อนส่งมอบผลลัพธ์เป็นงานสถาปัตยกรรม ที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและใช้ชีวิต แม้จะเป็นงานที่เข้าทางและดูเหมือนง่าย แต่ก็แอบมีรายละเอียดที่ท้าทายอย่างมาก อีกงานหนึ่งของทีมผู้ออกแบบเลยก็ว่าได้
รูปทรง
ภายใต้โปรแกรมการทำงานที่ธรรมดา กลับมีรายละเอียดของความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ ซึ่งถูกคิดคำนวณและจัดสรรมาอย่างดี ผ่านการทำความเข้าใจในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับเจ้าของ
“เวลาพูดถึงเคบิน (Cabin) หลายคนมักจะใช้คำว่า Homestay แต่เจ้าของให้คำสำคัญกับเรามาเลยว่า Cabin in the Middle of Nowhere ซึ่งเราก็รู้สึกว่า ถ้าทำเคบินให้กับนักทำเฟอร์นิเจอร์ ก็อยากให้เป็นสถาปัตยกรรมดูเป็นศิลปะหรือ Art Form ขึ้นมาอีกนิด เพื่อให้สัมผัสได้ถึงความเป็นงานคราฟต์ เราเลยตีความกับการทำงานไม้ ซึ่งจะต้องติดตั้งประกอบเข้ากันกับการก่อสร้างแบบแห้ง และโครงสร้างเหล็ก โดยทั้งสองอย่างนี้จำเป็นจะต้องประสานเข้าด้วยกันให้ได้”
ภาพกระท่อมทรงสูงชะลูดภายนอก ชวนให้ผู้คนที่ได้พบเห็นรู้สึกประหลาดใจปนตื่นเต้นไปกับรูปลักษณ์ ตั้งแต่ส่วนของระเบียงทางเข้าที่ยื่นยาว ส่งเข้าไปตรงกลางตัวบ้านพอดี ส่วนการใช้งานภายในได้ถูกบรรจุด้วยฟังก์ชันสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ โถงชั้นล่างกำหนดให้เป็นส่วนนั่งเล่น ฟากหนึ่งเป็นห้องนอนอยู่ชั้นบนและห้องน้ำอยู่ชั้นล่าง โถงที่เหลือเป็นบันได และเปิดผนังอีกด้านเต็ม ๆ ให้กับระเบียงขนาดใหญ่ พิเศษที่สามารถใช้แฮ้งเอ๊าต์ได้อย่างเป็นส่วนตัว พร้อมกับนอนแช่อ่างชมธรรมชาติริมลำธาร
วัสดุ
สถาปนิกกำหนดให้มีช่องเปิดแบบโปร่งแสงกว้างบนผนังด้านที่เป็นระเบียงหลังบ้าน สำหรับชมวิวภูเขาได้แบบสุดสายตา ส่วนผนังที่เหลือทั้งสามด้านถูกห่อหุ้มอย่างมิดชิดด้วยวัสดุไม้ไทยมือสองกับเทคนิคญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภูมิปัญญางานไม้ที่ทีมออกแบบจาก Sher Maker สนใจ และตีความมาจากแบรนด์ If I were a carpenter ผู้เป็นของเจ้าของโครงการ
“ตอนแรกเราสนใจการย้อมไม้ด้วยคราม เพราะเจ้าของเป็นคนอีสาน และเคยทำงานประเภทนี้กับแบรนด์ แต่เจ้าของก็ให้คำแนะนำว่า เทคนิคนี้ค่อนข้างยากและใช้ต้นทุนสูง เราเลยมาคิดว่า จริง ๆ แล้วยังมีอีกเทคนิคในการเปลี่ยนสีไม้ โดยเฉพาะถ้าเราจะนำไม้เก่ามาใช้ เนื่องจากถ้าเรานำไม้เก่าจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้ ไม้หนึ่งยกจะมีทั้งไม้มะค่า ไม้แดง และไม้เต็ง ผสมผสานมาด้วยกัน ซึ่งไม้แต่ละชนิดต่างมีสีแตกต่างกัน ไม้บางแผ่นเป็นสีดิบ หรือไม้บางแผ่นก็มีสีน้ำมันที่เคยเคลือบมาแล้ว เราเลยใช้เทคนิค Shou-sugi ban เพื่อเกลี่ยให้สีไม้สม่ำเสมอกัน”
Shou-sugi ban เป็นเทคนิคการย้อมสีไม้ ด้วยการย่างผิวไม้ให้มีความเป็นถ่านชาร์โคล เพื่อเน้นลวดลายของไม้ให้ชัดเจนสวยงาม ทั้งเป็นการถนอมเนื้อไม้ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เทคนิคนี้ที่ญี่ปุ่นนิยมใช้ไม้เนื้ออ่อนที่หาได้ง่ายอย่างไม้สน โดยจำเป็นจะต้องเผาให้ลึกลงไปถึงแก่นไม้เพื่อความทนทานแล้วค่อยขัดผิว แต่ไม้ไทยมีเนื้อไม้ที่แข็งกว่า และไม้บางประเภทมีน้ำยางปนออกมาด้วย สถาปนิกจึงได้ทดลองจนพบวิธีการทำงานกับวัสดุได้อย่างลงตัวที่สุด
“เราลองใช้การเผาเรียงสี โดยนำไม้ที่มีสีเข้มที่สุด เลอะเทอะมากที่สุดไว้ข้างบนสุด เรียงลงมาจนถึงชั้นล่างซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งที่พอจะโชว์พื้นผิวได้ แล้วใช้การเผาไล่ระดับจากข้างบนที่โดนเผามากที่สุดลงมาถึงด้านล่าง แต่ยังให้คงความแกร่งของไม้ สามารถใช้งานในสภาพอากาศบ้านเรา การใช้ไม้เก่าค่อนข้างดี เพราะการยืดหดของเนื้อไม้จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่หลังเผาเสร็จแล้วอาจจะมีการบิดแอ่นบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของไม้ที่โดนความร้อน ซึ่งระหว่างการติดตั้งหน้างานเราก็สามารถแก้ปัญหาให้เรียบร้อยได้”
สถาปัตยกรรมของธรรมชาติ
ถัดจากวัสดุที่เป็นเปลือกอาคาร สถาปนิกได้ออกแบบให้มีช่องเปิดโปร่งแสงรอบตัวอาคาร ในส่วนที่อยู่ถัดจากใต้หลังคา
“ช่องกระจกตรงนั้นทำหน้าที่เปลี่ยนองศาหลังคาให้น้ำฝนไหลสะดวก บวกกับไลท์ติ้งภายในทำหน้าที่เหมือนยกให้หลังคาดูลอยได้ จริง ๆ เราจะเลือกไม่เว้นส่วนนี้ก็ได้ แต่กับบ้านหลังนี้เรารู้สึกว่า ไหน ๆ มีรูปทรงสูงชะลูด ก็เอาให้สุดเลยก็แล้วกัน”
สำหรับทีมออกแบบแล้ว การทำงานครั้งนี้นับเป็นการเรียนรู้ ที่ทำให้ได้ขยายแนวคิดของการทำงานสถาปัตยกรรมให้กว้างขวางกว่าเดิม ทั้งเรื่องที่ตั้งซึ่งอยู่ส่วนลึกสุดของที่ดิน ต่างออกไปจากการออกแบบธุรกิจที่พักแบบเดิม ซึ่งจะต้องโดดเด่นสะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น หรือการขยายความกว้างช่วงเสาให้มากเป็นพิเศษ เพื่อให้งานออกแบบทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
“สิ่งน่าสนใจจากการทำงานและเรียนรู้จากที่นี่ นั่นคือปกติช่างภาพสถาปัตยกรรมจะรู้สึกว่าการถ่ายภาพงานหน้าฝนเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีทั้งแดดเช้าและแดดเย็น ซึ่งมีผลต่อมิติของอาคาร แต่อาคารหลังนี้พวกเราหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ที่จะต้องเก็บภาพบรรยากาศในช่วงหน้าฝน เพราะเจ้าของต้องเปิดดำเนินกิจการแล้ว เราถ่ายกันกลางอาทิตย์ที่มีพายุเข้า แต่ช่างภาพก็บอกว่าไม่เป็นไร อาคารแบบนี้มันเป็นสถาปัตยกรรมที่อยู่กลางฝนได้”
“เหมือนที่นี่ได้ช่วยเปลี่ยน Mindset ของเราว่า ไม่ต้องนำเสนอสถาปัตยกรรมที่เพอร์เฟ็กต์มากหรอก เปลือกอาคารก็เผาเป็นเฉด ๆ อยู่แล้ว การที่จะเล่าว่าตึกเราอยู่ในป่า แล้วมีภาพสักภาพที่อาคารอยู่กลางฝนค่อนข้างหายากมากเลย อาคารที่อยู่กลางฝนแล้วยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่ พวกเราก็โอเค ถ่ายกันกลางฝนนั่นแหละ ก็เลยได้ภาพบางชุดที่ค่อนข้างชอบ อย่างภาพฝนตกลงมาที่ชายคา แล้วร่วงเป็นม่านพอดี”
“ถ้าเราแคร์ว่าแดดมันต้องสวย หรือเป็นแดดเช้า-เย็น เราก็จะไม่มีทางเห็นภาพพวกนี้เลย”
อาจนับว่าเป็นการพิสูจน์ฟังก์ชันของสถาปัตยกรรมว่า สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต และธรรมชาติ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ซึ่งมีทั้งแดด ลม และฝนได้อย่างแท้จริง
- www.woodandmountain.com/cabin
- Line Official Account: @ woodandmountain
- เจ้าของ : Wood and Mountain และ If I were a carpenter
- ออกแบบ : Sher Maker
- ภาพ : Rungkit Charoenwat
- เรื่อง : skiixy