บ้านเหล็ก ที่คนมองว่าแข็งกระด้าง แต่สถาปนิกสามารถออกแบบให้บ้านเหล็กหลังนี้เข้ากับบริบทของความเป็นบ้านสวนริมบึงและธรรมชาติได้
บ้านเหล็ก หลังนี้ ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่บ้านสวนเดิมที่คุณกุ้งและคุณปุ้มได้ซื้อเอาไว้ เพื่อที่จะได้ปลูกบ้านในแบบที่ครอบครัวของทั้งสองเคยมีตอนเด็กๆ บ้านที่มีธรรมชาติ มีพื้นที่รอบบ้าน มีกิจกรรมให้ลูกๆได้เลือกใช้เวลาร่วมกัน เป็นบ้านที่เหมือนเป็นศูนย์รวมของทุกคนในครอบครัว และบ้านเหล็กหลังนี้ก็เป็นปีกพักผ่อนของพื้นที่บ้านทั้งหมด เป็นเสมือนห้องนั่งเล่นในมุมพิเศษของครอบครัว
“สิ่งที่คุณกุ้งและคุณปุ้มได้บอกกับเราตั้งแต่แรกคือต้องการบ้านสองหลัง เป็นบ้านหลักหนึ่งหลัง และบ้านสำหรับรับแขกและพักผ่อนของครอบครัวอีกหนึ่งหลัง การปรับพื้นที่นั้นต้องมีการขุดบ่อเพื่อเอาดินไปถมพื้นที่สำหรับบ้านหลัก พื้นที่ส่วนนี้จึงกลายเป็นบึงน้ำที่ใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และกลายเป็นทำเลดีสำหรับบ้านหลังนี้ไปนั่นเอง” คุณจือ TOUCH ARCHITECT ได้เริ่มต้นกล่าวกับเรา
“งานออกแบบบ้านหลังนี้เรียบง่ายเพราะฟังค์ชั่นส่วนใหญ่จะไม่ได้มีความต้องการเยอะ อย่างครัวหรือห้องน้ำถ้าเป็นส่วนหลักก็ไปใช้ที่บ้านหลังใหญ่ ในบ้านนี้ก็คือมีไว้ในขนาดที่พอดีเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของบ้านหลังนี้ก็คือการแสดง “ศักยภาพของบ้านเหล็กที่สัมพันธ์กับบริบทธรรมชาติ” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ที-เร็กซ์ สตีล บริษัทของคุณปุ้ม เจ้าของบ้านหลังนี้นั้นเอง
“ผมอยากทำบ้านไว้ให้ญาติ หรือ แขกที่มาดูงานได้แวะมาพักผ่อนกับเราได้นอกเหนือจากเอาไว้ใช้เป็นห้องนั่งเล่นของเราเองครับ” คุณปุ้มเจ้าของบ้านได้บอกถึงที่มาของการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเป็นองค์ประกอบหลักของบ้านหลังนี้ “เวลาคนเห็นว่าเป็นเหล็ก เค้าจะมองว่ามันแข็งกระด้าง เราจึงอยากทำให้ดูจริงๆว่าบ้านเหล็กก็เข้ากับบริบทของความเป็นบ้านสวนริมบึงแบบฉะเชิงเทราได้ เพราะผมสังเกตจากแขกที่เคยแวะเวียนมาก่อนนี้ หลายๆท่านก็ประทับใจบรรยากาศบ้านสวนแบบไทยๆ ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่นำความโมเดิร์นแบบบ้านเหล็กมาผสมกับความเป็นธรรมชาติตรงนี้เสียเลย
เปิดรับธรรมชาติแบบเรือนหลังคาจั่วทันสมัย
สถาปนิกเลือกที่จะออกแบบบ้านหลังนี้ให้เป็นเรือนหลังคาจั่วที่มีความลาดชันสูงและใช้หลังคาชิงเกิลรูฟผืนใหญ่ยืดยาวลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน การเปิดรับ แสงและลมธรรมชาตินั้น เมื่อเป็นเมืองร้อนอย่างประเทศไทย หากเปิดรับมากไปก็ไม่ดี บ้านหลังนี้มีการออกแบบให้หลังคาครอบทับเกือบทุกบริเวณของบ้าน จึงเปิดโอกาสให้ผนังจริงที่อยู่ถัดเข้ามาสามารถเป็นกำแพงกระจกที่มองเห็นวิวบึงได้อย่างสวยงามจากพื้นจรดเพดาน ตลอดจนระแนงอลูมิเนียมโดยรอบก็ช่วยให้แสงที่สาดเข้ามาสู่พื้นที่ภายในของบ้านนั้นไม่ร้อนจนเกินไป
หลังคาจั่วสูง นอกจากจะช่วยให้มวลอากาศร้อนเกิดการถ่ายเทอย่างพอเหมาะแล้ว การไหลเวียนของอากาศยังดีต่อสภาวะความชื้นภายในบ้านอีกด้วย ทำให้การเลือกใช้เพดานไม้ OSB และเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในบ้านไม่เกิดปัญหาความอับชื้นและเชื้อรา ตลอดจนสร้างสภาวะสบายให้กับการอยู่อาศัยแบบธรรมชาติภายในบ้านอีกด้วย
เผื่อพื้นที่ของครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น
นอกเหนือจากการเป็นบ้านรับแขกที่แสดงศักยภาพของความเป็นบ้านเหล็กได้อย่างสวยงามหมดจดแล้วนั้น การสร้างบ้านหลังนี้ยังมองไปถึงความเป็นครอบครัวในอนาคตอันใกล้อีกด้วย “เราเคยอยู่บ้านแบบนี้มาสมัยเป็นเด็ก พอโตมาก็นึกถึง” คุณกุ้งเจ้าของบ้านเริ่มเล่าให้เราฟังบ้าน “ก่อนนี้บ้านเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรค์ ถึงแม้จะมีบริเวณรอบบ้าน แต่ก็ไม่เหมือนกับบ้านสวนแบบนี้ ยิ่งพอมาถึงยุคโควิด การอยู่บ้านติดๆกันกับเพื่อนบ้านก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันน่าอึดอัดโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ”
“อีกอย่างการทำบ้านหลังนี้เราก็คิดว่า ในอนาคตพอลูกๆโตขึ้น เราอยากให้เค้าแวะกลับมาที่บ้านหลังนี้ได้ทุกเมื่อ ให้เค้ามีพื้นที่ของตัวเอง มีบ้านอีกหลังในบริเวณเดียวกันที่เค้าจะกลับมาเมื่อไรก็ได้ เค้าอาจจะมีครอบครัว หรืออาจจะพาเพื่อนมา ก็ให้เค้าได้มีพื้นที่ส่วนตัวของเค้าจริงๆ วันนี้เป็นบ้านหลังน้อยที่เหมือนห้องนั่งเล่นของครอบครัวไปก่อน ต่อไปก็อาจกลายเป็นบ้านของเค้าไปจริงๆก็ได้ อย่างน้อยเราก็เผื่อไว้ให้แล้ว” คุณกุ้งหันไปยิ้มให้ลูกสาวและลูกชายที่กำลังเรียนออนไลน์กันอยู่
สถาปัตยกรรมที่มีฟังค์ชั่นสัมพันธ์กับบริบทธรรมชาติ
นอกเหนือจากความเป็นบ้านแบบ Vacation House แล้ว อีกสิ่งที่ TOUCH ARCHITECT ได้เริ่มทดลองแนวคิดในงานนี้เป็นงานแรกก็คือ การสร้างให้สถาปัตยกรรมนั้นมีหน้าที่นอกเหนือไปจากการใช้งานโดยเจ้าของบ้านนั่นเอง
จากสาเหตุที่ดินในแถบนี้มีความเค็ม เมื่อขุดบึงน้ำนี้ขึ้น น้ำในบึงจึงมีความเค็มตามไปด้วย การออกแบบผืนหลังคานี้ ไม่เพียงออกแบบเพื่อให้คุ้มแดดคุ้มฝนเพียงเท่านั้น แต่ยังทำเพื่อให้ผืนหลังคาช่วยเติมน้ำฝนลงไปในบึงน้ำเพื่อปรับสภาพความเค็มอีกด้วย เป็นแนวคิดแบบ Passive Function ที่ช่วยเสริมบริบทโดยรอบของอาคารไปในตัวโดยที่น้ำจากหลังคาจะไหลลงสู่ชานระเบียงที่ออกแบบให้เป็นเหล็กตระแกรงและไหลลงสู่บึงได้ในทันทีนั่นเอง
และนี่ก็คือตัวอย่างดีๆของการออกแบบบ้านเหล็กโมเดิร์นที่สอดรับกับธรรมชาติได้อย่างน่าสนใจโดย TOUCH ARCHITECT นั่นเอง
เจ้าของ: คุณกุ้ง กฤตยา ผาคำ คุณปุ้ม บัณฑิต ผาคำ
ออกแบบ: TOUCH ARCHITECT
เรื่อง Wuthikorn Sut
ภาพ นันทิยา บุษบงค์, ศุภกร ศรีสกุล