รีโนเวตทาวน์โฮม ในเชียงใหม่ให้ขาวละมุน แบบ White and Wood - room

รีโนเวตทาวน์โฮม ในเชียงใหม่ให้ขาวละมุน

บ้านทาวน์โฮม สองชั้นในเมืองเชียงใหม่ถูกแปลงโฉมรีโนเวตให้กลายเป็นพื้นที่สุดพิเศษนุ่มละมุนในแบบ White and Wood

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: INLY STUDIO

ออกแบบโดย INLY STUDIO ผู้เคยฝากลงงานไว้ใน Cheeva Spa ซึ่งนอกจากผลงานบ้านอิงธรรรมชาติที่ผ่านหลาย ๆ หลังแล้วนั้น ผลงานตกแต่งภายในในแบบเรียบง่าย แต่อ่อนโยนของพวกเขาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

เติมจังหวะนุ่มนวลให้กับบ้านทาวน์โฮม

การเลือกใช้สีขาวเป็นสีหลักนั้น มาจากความต้องการของเจ้าของบ้านที่ชอบสะสมเฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์ ประกอบกับแนวทางการตกแต่งที่เน้นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เผื่อการปรับเปลี่ยนตามใจได้ในภายหลัง สีขาวของบ้านหลังนี้จึงเป็นเหมือนกับฉากหลังให้ชีวิตชีวาของการใช้ชีวิต ตลอดจนช่วยให้เฟอร์นิเจอร์ดูโดดเด่นขึ้น เมื่อผสมเข้ากับสีไม้โทนกลาง ๆ อย่างโอ๊ก และบีช ก็ทำให้พื้นที่ทั้งหมดดูอบอุ่นขึ้น

ไม่เพียงแค่สีสันแบบ White and Wood ที่สร้างให้บ้านหลังนี้ดูละมุนตาไปทุกสัดส่วน แต่หากสังเกตดูจะเห็นได้ว่าเกือบทุกพื้นที่จะมีเส้นโค้งมารับอยู่ทุกมุมมอง เส้นโค้งเหล่านี้สร้างให้บ้านสี่เหลี่ยมดูมีมิติน่าค้นหา ลดความแข็งกระด้างของพื้นที่สี่เหลี่ยมลง แก้ปัญหาบ้านหน้าแคบอย่างบ้านทาวน์โฮมได้อย่างดี เกิดเป็นพื้นที่พิเศษที่แตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของบ้าน

ปรับพื้นที่เปิดโล่งให้ลงตัวแบบพอดี

หนึ่งในปัญหาของบ้านทาวน์โฮมโดยมาก คือการที่พื้นที่ทั้งหมดต่อเชื่อมเป็นพื้นที่เดียวกันแบบ Open Plan จะกั้นห้องก็ทำให้เสียพื้นที่ จะใช้แบบเดิม ๆ ก็ขาดความเป็นสัดส่วน ผู้ออกแบบจึงเลือกการแบ่งพื้นที่ผ่านซุ้มโค้งที่แตกต่างกันสองซุ้ม แบ่งเป็น 3 พื้นที่ คือ ห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว และนั่งทำงาน จนไปถึงปลายสุดของพื้นที่คือห้องครัว ซุ้มโค้งเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนกับเป็น “เส้นประ” ในการแบ่งพื้นที่ด้วยความรู้สึก เพราะห้องทั้งหมดก็ยังต่อเชื่อมเป็นผัง Open Plan เช่นเดิม แต่การใช้งานกลับเป็นสัดเป็นส่วนลงตัวขึ้นมาได้

หัวใจคือ “แสงธรรมชาติ”

คุณก้อย-วิภาดา หว่างจ้อย ผู้ออกแบบเลือกที่จะยอมเสียพื้นที่ข้างบ้านเล็กน้อยเพื่อสร้างช่องเปิดให้กับผนังข้างบ้านได้รับแสงธรรมชาติผ่านหน้าต่างบานใหญ่ แต่แม้ว่าจะเป็นหน้าต่างเต็มพื้นที่ผนัง ด้วยความที่เป็นอาคารที่อยู่ติดกัน แสงที่เข้ามาจึงเป็น Indirect Light เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับทางเข้าบ้านที่ตั้งใจสร้างเป็น Foyer ที่มีผนังกระจกฝ้า แสง Indirect Light เหล่านี้ ช่วยลดความทึบทึมของอาคารทรงยาวอย่างบ้านทาวน์โฮมแบบนี้ได้อย่างดี ทั้งยังเป็นแสงไม่นำความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านอีกด้วย

แค่ปรับ… บรรยากาศก็เปลี่ยน

บันไดเวียนเป็นจุดแรกเลยที่เราสังเกตในบ้านหลังนี้ คุณก้อยเล่าว่าแท้จริงแล้วบันไดเวียนชุดนี้ คือบันไดชุดเดิมของบ้านที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เติมขั้นบันไดลงไปให้ยาวขึ้น 3-4 ขั้น จากนั้นจึงออกแบบราวบันไดให้ไหลวนออกสู่หน้าบ้าน ซึ่งกลายเป็นว่าบันไดส่วนนี้จึงเหมือนเป็นตัวกำหนดพื้นที่ในบ้านใหม่ และทลายกรอบความคิดในความเป็นห้องสี่เหลี่ยมเดิม ๆ ไปเสียสิ้น

เริ่มต้นจากปัญหา

เมื่อเราถามถึงเคล็ดลับในการออกแบบพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้านหลังนี้จากคุณก้อย สิ่งที่เราได้คำตอบกลับมาก็ทำให้เราเข้าในวิธีคิดมากขึ้น เพราะคุณก้อยบอกกับเราว่าให้เริ่มต้นจากปัญหา

“ทั้งหมดที่ออกแบบไป มาจากโจทย์และปัญหาที่เจ้าของบ้านได้บอกกับเรามาอีกที อย่างบันไดก็คือเค้ารู้สึกไม่อยากเดินขึ้นไปชั้นสอง อยากเอาห้องนอนไว้ข้างล่าง แต่พื้นที่มันจะไม่ลงตัวเราก็เลยต้องออกแบบบันไดให้น่าเดิน อย่างพื้นที่ภายในบ้านมันมืด เราก็พยายามดึงแสงเข้ามาในบ้าน แต่จะดึงเข้ามายังไงให้ไม่ร้อน บ้านมันเล็กเราก็พยายามใช้เส้นสายลบเหลี่ยมมุมทิ้งไป สุดท้ายธีม White and Wood ก็มาจากที่เขาชอบเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และคิดว่าคงจะปรับจะเปลี่ยนผังเฟอร์นิเจอร์บ่อย ๆ ตามความชอบ ทั้งหมดทั้งมวลคือการรวมปัญหาทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วทำยังไงให้เรื่องทั้งหมดนั้นออกมาลงตัวเสียมากกว่า ถ้าทำได้ บ้านมันก็จะใช้งานได้ดีไปด้วยเท่านั้นเอง”


ภาพ : Yothin Phanyothin
สไตล์ : Kanthicha Somsak
Kanyakorn Somsak
เรื่อง : Wuthikorn Sut