เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์ - ช่างประจำบ้าน โดย บ้านและสวน

10 เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์

อยากเปลี่ยนหลังคาบ้านให้ผลิตไฟฟ้าได้ แต่ก็ยังไม่กล้าลงทุน กลัวทำให้บ้านหมดสวยดูเหมือนโรงงานไฟฟ้า ไม่รู้จะถามใคร หรือกำลังหาข้อมูลอยู่ คอลัมน์ Home Expert จึงชวนมาคุยกับ The expert ด้านระบบโซลาร์เซลล์ คุณเบนซ์ – สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Solar D เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์

แน่นอนว่าเขาไม่ใช่แค่นักบริหาร แต่มีแบล็กกราวน์ด้านวิศวกรรมพ่วงด้วยเศรษฐศาสตร์ และเป็นคนคุ้นเคยที่มาร่วมงานบ้านและสวนแฟร์บ่อยๆ ครั้งนี้คุณเบนซ์จะมาให้ความรู้และตอบคำถามแบบไม่มีกั๊ก ใครสนใจเรื่องโซลาร์เซลล์ตามมาอ่าน 10 เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์กัน เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์

เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์

01 ควรลงทุนกับระบบโซล่าเซลล์เท่าไร และคืนทุนนานไหม

คำถามนี้คุณเบนซ์บอกว่าเป็นคำถามยอดฮิตและเป็นเรื่องที่ตอบโดยตรงยาก เพราะขึ้นอยู่กับการใช้งาน อย่างถ้าใช้ไฟกลางวันเยอะ ผลิตมาแล้วใช้หมดก็ถือว่าคุ้ม แต่ถ้าผลิตมาแล้วเหลือทิ้ง หรือขายคืนการไฟฟ้าฯ ก็จะได้มูลค่าแค่ครึ่งเดียว และขึ้นอยู่กับขนาดด้วยว่าใหญ่หรือเล็ก สมมุติบ้านที่ใช้ไฟฟ้าประมาณเดือนละ 3,000 บาท แนะนำให้ติดตั้งที่ 5 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 2-3 แสนบาท โดยไม่มี Storage หรือแบตเตอรี่เก็บไฟ ก็จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 1,000-2,000 บาท แต่ขึ้นอยู่กับการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันด้วย

การคืนทุนสำหรับบ้านอยู่ที่ประมาณ 6-7 ปี ถ้าใช้ไฟกลางวันเยอะ หรืออาจจะ 10 กว่าปีถ้าใช้ไฟกลางวันน้อย แต่อย่างไรก็ตามตัวอุปกรณ์โซลาร์เซลล์จากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพดี จะมีการรับประกันถึง 25 ปีอยู่แล้ว จึงก็ครอบคลุมระยะเวลาการคืนทุนอยู่ดี แปลว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะได้ใช้ไฟแบบเป็นกำไรอย่างน้อย 10 กว่าปี ลองคิดดูว่าคุ้มไหม

อีกไม่นานในเว็บไซต์ใหม่ของ www.solar-d.co.th จะสามารถเข้ามากรอกข้อมูลเพื่อประเมินเองได้เลยว่า ควรติดตั้งขนาดเท่าไร ควรมีแบตเตอรี่ไหม และเปรียบเทียบให้เห็นว่าจะประหยัดไปเท่าไร สำหรับบ้านมีขนาดเริ่มต้นตั้งแต่ 3 – 20 กิโลวัตต์ เชิญชวนให้เข้ามาทดลองกันครับ

02 โซลาร์เซลล์ไม่ใช่แค่พลังงาน แต่คือไลฟ์สไตล์

“ไลฟ์สไตล์คนเราสัมพันธ์กับ 3 เรื่องคือ ชีวิตในบ้าน การเดินทาง และการทำงาน แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว ถ้าวันหนึ่งเราเปิดแอร์ ซักผ้า ทำอาหาร ขับรถ EV หรือการนั่งทำงานที่ออฟฟิศนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาบ้านหรือออฟฟิศตัวเองที่เก็บไว้จากเมื่อวาน ไม่เกิดมลพิษ ไม่ต้องกลัวไฟดับ และแผงโซลาร์เซลล์ยังดูสวยเข้ากับบ้าน มันไม่ใช่การคิดว่าจะประหยัดค่าไฟหรือค่าน้ำมันไปเท่าไร แต่เป็นการคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตปกติแล้ว แม้จะยังมีคนใช้ไม่เยอะ แต่ก็เป็นเทรนที่ชัดเจน และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้เพื่อปรับตัว พูดได้ว่า ใครก้าวเข้ามาในระบบนี้ก่อนก็จะได้ประโยชน์ก่อน”

เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์

03 จะติดตั้งโซลาร์เซลล์มากน้อยแค่ไหน พิจารณาจากอะไร

ก่อนอื่นมาดูความแตกต่างของระบบโซลาร์เซลล์กับการใช้ไฟฟ้าทั่วไป คือการใช้ไฟฟ้าทั่วไป เป็นการผลิตรอไว้ แล้วเราค่อยซื้อมาตามที่เราใช้จริง แต่ระบบโซลาร์เซลล์จะผลิตได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น เราจึงต้องทำการประเมินว่าควรติดขนาดเท่าไรให้พอดี ซึ่งปัญหาที่เจอทั่วไป คือ คนมักไม่อยู่บ้านช่วงกลางวัน จึงควรพิจารณาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 3 กรณีคือ

  • กรณีที่ 1 ถ้ากลางวันไม่อยู่บ้านเลย หรือใช้ไฟกลางวันน้อย สามารถขายไฟฟ้าที่เหลือคืนให้การไฟฟ้าฯ แต่ก็ได้ราคาหน่วยละ 2 บาทเศษ (ประมาณครึ่งหนึ่งของราคาที่เราซื้อไฟฟ้าใช้) แต่การไฟฟ้าฯก็มีการจำกัดปริมาณการรับซื้อด้วย
  • กรณีที่ 2 กลางวันไม่อยู่บ้าน แต่อยากเก็บไฟไว้ใช้กลางคืน การเก็บไฟฟ้าก็จำเป็นต้องมี Storage สำหรับเก็บไฟฟ้า จึงต้องมีงบประมาณเพิ่มสำหรับติดตั้ง Storage  
  • กรณีที่ 3 เน้นการใช้ไฟช่วงกลางวัน มีคนอยู่บ้านประจำ เป็นโฮมออฟฟิศ และออฟฟิศ แบบนี้ถือว่าคุ้มที่สุด

ถ้าประเมินแบบง่ายๆอย่างบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 3,000 – 4,000 บาท และมีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันนิดหน่อย อาจเริ่มติดโซลาร์เซลล์ที่ 5 กิโลวัตต์ โดยแนะนำให้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตเพื่อเข้าไปประเมินเพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น ค่าไฟต่อเดือน สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันและกลางคืน เฟสไฟของบ้าน พื้นที่ติดตั้งบนหลังคา และระบบโซลาร์เซลล์ที่เหมาะกับบ้าน

เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์

04 ติดโซลาร์เซลล์แล้วใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้กี่ชิ้น อะไรบ้าง

พลังงานแสงอาทิตย์เมื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้ว ก็จะใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้หลากหลาย โดยขออธิบายให้เข้าใจการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์ คือจากแผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคาจะต่อไปยังตัวควบคุมส่วนกลางและแปลงเป็นไฟฟ้า โดยจ่ายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดใช้งานอยู่ในขณะนั้น หากไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่พอ ก็จะสลับมาใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ เช่น ใช้พลังงานไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ โซลาร์เซลล์ผลิตมาได้ 3 กิโลวัตต์ ระบบก็จะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ มาอีก 2 กิโลวัตต์ หรือบ้านที่มี Storage ถ้าโซลาร์เซลล์ผลิตได้ 2 กิโลวัตต์ ใน Storage มี 3 กิโลวัตต์ ก็จะไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ในแต่ละวันอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพแสงแดดด้วย แต่ถ้าพูดในเชิงสถิติ อาคารส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะใช้ไฟฟ้า 60% ไปกับเครื่องปรับอากาศ การติดโซลาร์เซลล์จึงมักไปแบ่งเบาการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศมากที่สุด

05 ทำไมเราจึงควรใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์มากขึ้น

หลายคนอาจคิดว่าการติดโซลาร์เซลล์เป็นแค่เรื่องพลังงาน แต่คุณเบนซ์แชร์ให้เห็นมิติด้านอื่นๆด้วย “เราทุกคนพูดเรื่องโลกร้อนมาเยอะแล้ว เป็นสิ่งที่ผมแคร์มาตลอด เรื่องพลังงานเป็นมากกว่าปัญหาโลกร้อน แต่เป็นปัญหาเชิงสังคมอย่างคาดไม่ถึงด้วย ตัวอย่างเช่น จากสถิติคนเราจะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานประมาณ 10 – 20 % ซึ่งถือว่าเยอะมาก เทียบให้เห็นชัดๆ ถ้าเงินเดือน 10,000 บาท จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึง 1,000-2,000 บาท แต่กิจการด้านพลังงานเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralize) คือมีผู้ดูแลเพียงไม่กี่ราย ทำให้เกิดการกระจุกตัวทั้งด้านรายได้ การให้บริการ และความเหลื่อมล้ำ ผมจึงคิดว่าการเข้าถึงพลังงานควรกระจายให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ด้วย (Decentralize) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้สังคมดีขึ้น ทุกบ้านพึ่งพาตัวเองได้  และสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น”

06 ดีไซน์สำหรับติดตั้งบ้านในไทยอย่างไร

การติดแผงโซลาร์เซลล์ที่ดูแปลกแยกกับตัวบ้านอาจทำให้บ้านแสนรักดูเป็นโรงงานไฟฟ้าได้เลย ระบบพลังงานสำหรับบ้านที่ดี ควรตอบสนองความเป็นบ้าน และดูกลมกลืนกับตัวบ้าน จึงเป็นอีกเหตุผลที่คุณเบนซ์พยายามออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ให้เข้ากับบ้านคนไทยที่มักมีรูปทรงหลังคาเอียงอย่างทรงปั้นหยา ซึ่งถ้าจัดวางแผงโซลาร์เซลล์ไม่ดี จะดูไม่เข้ากับตัวบ้านเลย Solar D จึงแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการคิดระบบการติดตั้งเอง เพื่อให้ติดตั้งแล้วดูเข้ากับแนวหลังคาที่สุด หรืออย่างน้อยก็ดูไม่แปลกแยกจากตัวบ้าน โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ LG ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ เป็นรุ่นที่มีสีดำล้วน ไม่มีขอบ ไม่มีเส้นเยอะให้ลายตา และมีดีไซน์พิเศษให้ปรับเข้ากับรูปทรงหลังคาได้อย่างกลมกลืน 

ในส่วนการบริการ Solar D เป็นรายแรกในไทยที่พัฒนา Solar mobile application เพื่อให้เจ้าของบ้านดูการผลิตและรายการใช้ไฟฟ้าที่บ้านได้ผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์

07 อายุการใช้งานนานแค่ไหน และการดูแลรักษายากไหม

บริษัทที่น่าเชื่อถือและได้มาตรฐานจะออกแบบอุปกรณ์มาให้อยู่ได้ถึง 30 ปีอยู่แล้ว โดยผู้ผลิตมีการรับประกันแผงโซลาร์เซลล์ที่ 25 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาแต่ละเจ้าแตกต่างกัน  อุปกรณ์ต่างๆเป็นระบบอัตโนมัติ จึงแทบไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมาก เป็นระบบที่ดูแลง่ายที่สุด ถ้าเทียบกับการผลิตพลังงานแบบอื่น โดยมีสิ่งที่ต้องดูแล คือ ระบบแผงควบคุมโดยสังเกตให้อยู่ในสภาพปกติ และความสะอาดของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นข้อดีของหลังคาบ้านเราที่มักจะมีความลาดเอียงมากอยู่แล้ว เมื่อฝนตก จึงชะล้างสิ่งสกปรกไปได้ส่วนหนึ่งและมีฝุ่นเกาะน้อยกว่าหลังคาที่ลาดเอียงน้อย แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ เช่นพื้นที่ใกล้โรงงานอาจมีคราบน้ำมัน การไม่ได้ล้างแผงโซลาร์เซลล์จะทำให้ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง แต่ก็ไม่ได้น้อยลงมาก บริการหลังการขายจึงเป็นอีกเรื่องที่เจ้าของบ้านควรพิจารณา

08 พลังงานในอนาคตมีผลกับ Well-being ในมุมไหนบ้าง

“สิ่งแรก คือ การปลดปล่อยคาร์บอนฯน้อยลง ย่อมทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อีกมุมมองที่ผมสนใจ คือ จัดการด้านพลังงานแบบรวมศูนย์ ทำให้มีข้อจำกัดในการให้บริการ การกระจายพลังงานไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เมื่อเกิดปัญหา เช่น ไฟดับ จึงต้องรอส่วนกลางมาแก้ไข และอาจแก้ปัญหาไม่ทั่วถึง  ซึ่งในระหว่างนั้นอาจเกิดปัญหา เช่น ผู้สูงอายุในบ้านเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือนมที่ปั๊มแช่ไว้สำหรับลูกละลาย ไม่มีน้ำใช้ ซึ่งถ้าพลังงานที่ใช้อยู่ตอบโจทย์เหล่านี้ไม่ได้ ก็ทำให้สุขภาวะในบ้านไม่ดี ดังนั้นการที่เรากระจายการผลิตพลังงาน และเก็บพลังงานไว้ใช้ในบ้านเอง ก็จะช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้ พลังงานจะช่วยให้เราสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง”

09 รอราคาถูกลง VS ติดเลย เลือกอะไรดี

คนที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์มักมี 2 แนวคิด คือ ติดก่อนจะได้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ก่อน หรือไม่ก็รอให้ราคาลงอีกหน่อยค่อยติด ซึ่งจริงๆแล้วดีถูกทั้งคู่  จากประสบการณ์ของคุณเบนซ์ที่แชร์ให้เราคือ ใครที่มีความพร้อมแล้วยังไม่ติด ถือได้ว่าเป็นการเสียโอกาสที่จะได้ลดค่าใช้จ่าย แต่สำหรับการรอให้ราคาลดลงนั้นเป็นเรื่องของอนาคต คุณเบนซ์วิเคราะห์ว่าต่อไปราคาอาจลดลงได้ แต่ลดลงไม่มากแบบหลายเท่าตัวอย่างในอดีต เพราะถ้าดูแนวโน้มของกราฟด้านราคา ได้ผ่าน Curve นั้นมาแล้ว อีกทั้งเริ่มเห็นการปรับราคาขึ้นบ้างในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าใครพร้อมขอแนะนำให้ติดเลย

10 Solar D กับแนวคิดที่เป็นมิตรกับบ้าน

คุณเบนซ์เล่าว่า เริ่มต้นธุรกิจโดยออกบูธในงานบ้านและสวนแฟร์เป็นงานแรกเมื่อ 8-9 ปีก่อน เพราะคิดว่าอยากให้โซลาร์เซลล์มีความผูกพันกับความเป็นบ้าน และทำให้ได้พูดคุยกับเจ้าของบ้านโดยตรง โดยก่อนหน้านี้โซลาร์เซลล์ถูกมองเป็นพลังงานทางวิศวกรรมที่คนทั่วไปเข้าถึงยากและไกลตัวเกินไป จึงมีเป้าหมายที่จะออกแบบให้ระบบโซลาร์เซลล์เป็นมิตรกับบ้านและผู้ใช้งาน มีความสวยงาม กลมกลืนกับบ้านที่เจ้าของบ้านภูมิใจ โดยออกแบบให้ติดตั้งตามรูปทรงหลังคาได้ อีกทั้งการเลือกแผงชนิดสีดำล้วน ดีไซน์เรียบของ LG ที่การันตีคุณภาพระดับโลก จึงทำให้บ้านยังคงดูสวยงามทันสมัย อีกทั้งมีบริการที่สะดวกต่อเจ้าของบ้านทั้งก่อนติดตั้งและบริการหลังการขาย

คอลัมน์ Home Expert

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : Solar Dขอบคุณข้อมูล :  www.solar-d.co.th

อ่านต่อ : แผงโซลาร์เซลล์ มีกี่แบบ ควรเลือกอย่างไร? https://www.baanlaesuan.com/187612/maintenance/electric-system/solar-panel