Taya Living งานคราฟต์อเนกประสงค์ สะท้อนวิถีเรียบง่ายและยั่งยืน - room

Taya Living งานคราฟต์อเนกประสงค์ สะท้อนวิถีเรียบง่ายและยั่งยืน

Taya Living นำเสนอผลิตภัณฑ์คราฟต์ดีไซน์เรียบง่ายในหมวดโฮมโปรดักต์และแฟชั่น ที่แตกต่างด้วยฟังก์ชั่นอเนกประสงค์ ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ แบรนด์เล็กๆ เริ่มต้นจากตัวตนของ คุณณัฐฑยา สวาทสุต ผู้ประกอบการสาวไฟแรง ที่กลั่นกรองทั้งความหลงใหลและประสบการณ์ เพื่อสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ให้เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ของสาวๆ พร้อมกับการให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านความยั่งยืน และนี่คืออีกหนึ่งในแบรนด์ไทยน่าจับตาจากโครงการ Talent Thai โดย DITP หรือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

จากเจ้าของร้านค้าแฟชั่นออนไลน์ แอร์โฮสเตส และและนักพัฒนาธุรกิจคุณณัฐฑยานำพาประสบการณ์ทั้งหมดมาพลิกไลฟ์สไตล์ส่วนตัวให้กลายเป็น Taya Living แบรนด์ทางเลือกใหม่สำหรับสินค้าในชีวิตประจำวัน ที่ยังคงกลิ่นอายความเรียบง่าย และเสน่ห์ของงานคราฟต์ไว้อย่างกลมกลืน “แบรนด์นี้เกิดจากไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของณัฐเอง เราชอบกระเป๋าสาน ชอบไปทะเล และชอบบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียน  кредитные займы онлайнถ้าเกิดจะไปเที่ยวก็จะนึกถึงเกาะไมโคนอส (Mykonos) ในกรีซ ซึ่งพอเราชื่นชอบสิ่งเหล่านี้ มันก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของเรา”

พลิกโฉมพลาสติกใกล้ตัวสู่คราฟต์ที่แตกต่าง

เมื่อตั้งใจจะสร้างแบรนด์ใหม่ นอกเหนือจากดีไซน์ วัสดุก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างแท้จริง คุณณัฐฑยาออกตามหาวัสดุใหม่ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งาน และกระบวนการผลิต ซึ่งตั้งใจให้ Taya Living คงกลิ่นอายของงานหัตถกรรมงานจักสานท้องถิ่นไว้

“ถึงจะชอบกระเป๋าสานมาก แต่ด้วยความที่มักทำมาจากวัสดุธรรมชาติเลยมีอายุการใช้งานสั้น และดีไซน์ก็ยังไม่ได้ถูกใจเท่าไหร่ หรือถ้าเป็นสไตล์แฟชั่นหน่อยก็จะมีการตกแต่งที่ยังไม่ถูกใจเรา แต่พอดีได้ไปเจอกับวัสดุเชือกประเภทหนึ่ง ซึ่งเส้นใยทำจากพลาสติกโพลิโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) ทนทาน และสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่เห็นใครใช้วัสดุเชือกตัวนี้มาทำกระเป๋า เราเลยมองเห็นโอกาสที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ ที่สอดแทรกแนวคิดด้านความยั่งยืน และความใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย โดยพยายามให้แตกต่างจากแบรนด์กระเป๋าแฟชั่นในตลาด”

เชือกจากเส้นใยทำจากพลาสติกโพลิโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) คือวัตถุดิบหลักของแบรนด์ ที่ทำให้ทุกผลิตภัณฑ์ทนทาน รับน้ำหนักได้มาก และใช้งานได้หลากหลาย ทั้งยังมีสีสันให้เลือกหลายเฉดสี

“เทคนิคการผลิต และการสอดแทรกลวดลายบนกระเป๋าแต่ละรุ่น ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากลายสานของงานหัตถกรรมท้องถิ่น โดยเรามีช่างฝีมือที่ทำงานร่วมกับเครื่องจักร เป็นงานหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องท้าทายมากเหมือนกัน เพราะเครื่องจักรก็ต้องเป็นเครื่องพิเศษ ช่างก็ต้องมีประสบการณ์สูง จุดเด่นของเราคือความประณีต ไม่มีรอยต่อเชือกเลย ทำให้ต้องคำนวณเชือกให้พอดีสำหรับแต่ละใบ”

หัวใจของแบรนด์

นอกเหนือไปจากวิถีชีวิตเรียบง่ายที่แบรนด์ต้องการนำเสนอ งานออกแบบที่ดูเหนือกาลเวลา ไร้กรอบจำกัดแห่งยุคสมัย พร้อมกับฟังก์ชั่นใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่กระเป๋าถือ ตะกร้าใส่ของ กระถางต้นไม้ ไปจนถึงพรม ก็ตอบรับกับความทนทานของวัสดุ ที่ตั้งใจให้แต่ละคอลเล็กชั่นกลายเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ยาวนานที่สุด

Ella Laundry Basket และ Layla Basket ดีไซน์อเนกประสงค์ ที่เป็นได้ทั้งตะกร้าผ้า กระถาง และที่เก็บของ
Millie Classic กระเป๋าดีไซน์คลาสสิก ที่เข้ากับการแต่งตัวได้หลากหลาย นำเสนออีกรูปแบบของวิถีชีวิตเรียบง่าย

“หัวใจของแบรนด์คือ การเป็นผลิตภัณฑ์ Multi-purpose มีความอเนกประสงค์ และมาพร้อม Eco-Conscious หรือความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ถึงวัสดุจะเป็นพลาสติก แต่ความทนทานของมันก็ทำให้กระเป๋าเราใช้งานได้ยาวนาน หลากหลายและคุ้มค่า”

เราพยายามออกแบบให้กระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ของเรายืดหยุ่นสำหรับการใช้งานได้หลากหลายประเภท มีความเป็นกลางสำหรับทุกไลฟ์สไตล์ เช่น ถ้าลูกค้าเบื่อกระเป๋าแล้วก็สามารถนำไปใช้เป็นกระถางต้นไม้ในบ้านได้ หรือเป็นกระเป๋าสำหรับน้องแมวได้ ด้วยความที่เป็นเส้นใยจากพลาสติก จึงสามารถรับน้ำหนักได้เยอะมาก ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกบ้านได้ และสามารถซักล้างได้ง่ายด้วย”

แค่สินค้าดีไม่พอ ต้องเข้าใจลูกค้า

ในโลกแห่งการสร้างสรรค์ การตลาดอาจเป็นศาสตร์อีกแขนง แต่ในโลกธุรกิจ การหลอมรวมงานออกแบบที่ดีเข้ากับการนำเสนอสินค้าอย่างตรงจุด อาจคือหัวใจสำคัญที่ทำให้แบรนด์อยู่รอด

“บางครั้งการคิดแต่เรื่องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่โดยมองข้ามด้านการตลาด ก็ทำให้แบรนด์ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเรามีประสบการณ์จากตอนขายเสื้อผ้าออนไลน์ เลยมองเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ บางทีอะไรที่เราไม่เคยทำ เช่น การซื้อโฆษณาออนไลน์ การโปรโมทต่างๆ เราก็ต้องเปิดใจ เพื่อให้แบรนด์ไปต่อได้”

 

ดีไซน์ใหม่ล่าสุดของแบรนด์มาพร้อมลวดลายอันเกิดจากการเย็บเชือกเป็นแพทเทิร์นใหม่ โดยยังคงกลิ่นอายงานคราฟต์เหมือนคอลเล็กชั่นก่อนหน้า ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากผ้าไหมลูกแก้ว

“ด้วยความที่เราเคยทำงานด้านรีเทลมาก่อน ทำให้เราคิดโมเดลธุรกิจที่เอาใจใส่ลูกค้าทุกรายละเอียดจริงๆ เน้นการพัฒนา Customer Journey และประสบการณ์ของแบรนด์ ดังนั้น ลูกค้าของ Taya Living ส่วนใหญ่จะติดใจเราเพราะบริการที่ดี การนำเสนอสวยงาม สินค้ามีคุณภาพ ซึ่งเราพยายามสร้างคุณค่าของแบรนด์ นำเสนอความเป็น Lifetime purchase”

“จากคอลเล็กชั่นแรกที่เป็นความชื่นชอบของเราเอง พอคอลเล็กชั่นต่อมาเราก็เริ่มมีทีมดีไซเนอร์ ที่จะช่วยสร้างงานออกแบบที่ตอบโจทย์ได้หลากหลายมากขึ้น เพราะณัฐเองถนัดรู้สึกว่าเราถนัดเป็น Entrepreneur หรือผู้ประกอบการมากกว่า”

สร้างแบรนด์ยุคโควิด

จากความตั้งใจแรกเริ่มที่จะเน้นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Home Accessories สำหรับธุรกิจแบบ B2B กับกลุ่มเป้าหมายโรงแรม แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 Taya Living จึงเบนเข็มสู่สินค้าไลฟ์สไตล์สำหรับลูกค้ารายย่อยในรูปแบบของออนไลน์สโตร์ครบวงจร

“ตอนนี้คอลเล็กชั่นกระเป๋ามีอยู่ 2 รุ่น และมี 3 ประเภท คือ Home, Pet และ Lifestyle สิ่งที่ขายดีที่สุดในไทยคือกระเป๋า เพราะกระเป๋าเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายที่สุด เราต้องขายทางออนไลน์อย่างเดียว ก็พยายามให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น โดยลูกค้าไม่ต้องมาโชว์รูม ซึ่งบางทีการสร้างแบรนด์ใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะลืมคิดจุดนี้ไป ถึงจะเน้นทำผลิตภัณฑ์ให้ออกมาดี แต่ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจที่จะซื้อด้วย อย่างตอนที่เปิดตัวแบรนด์เราก็ทดลองยิงโฆษณาออนไลน์เยอะเหมือนกัน ก็คิดว่าคนที่จะเป็นลูกค้าเราต้องเป็นคนที่เที่ยวทะเล เป็นผู้หญิงอายุ 20-30 ปี แต่กลายเป็นว่าคนที่ซื้อของเรามากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี ซึ่งก็ท้าทายเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้เค้ารู้สึกสบายใจที่จะซื้อ เพราะหลายคนก็ไม่เคยซื้อออนไลน์เลย พอเราเจอกลุ่มลูกค้าเร็ว แบรนด์เราก็เลยเติบโตค่อนข้างเร็ว”

บุกตลาดโลกกับ TALENT THAI

ในวันที่เศรษฐกิจไทยซบเซา สินค้าของตกแต่งบ้านกลับยังคงไปได้ดีในตลาดต่างประเทศ และการตามหาลูกค้ากลุ่มใหม่ในตลาดโลก MAISON&OBJET ก็คงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับสินค้าโฮมโปรดักต์

“ก่อนหน้านี้มีรุ่นพี่ไปออกงาน MAISON&OBJET โดยไปกับโครงการ Talent Thai ซึ่งการได้ออกงาน MAISON&OBJET เป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝันมาตั้งแต่ก่อนทำแบรนด์ เลยเกิดแรงบันดาลใจและอยากมาร่วมโครงการบ้าง ถึงปีนี้จะเน้นกิจกรรมออนไลน์เป็นหลัก ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมโครงการเท่าไหร่ ต้องประชุมออนไลน์ตลอด แต่เรารู้สึกว่าโครงการนี้เปิดมุมมองใหม่ให้เราได้มาก มีเมนเทอร์ที่คอยให้คำแนะนำ ให้ความรู้ว่าไปออกแฟร์ต้องทำราคายังไง มีเทคนิคอย่างไร ทำ Sales Kit อย่างไร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่าจะไปถามจากใคร”

“ในช่วงสถานการณ์โควิดระลอกนี้คนไทยอาจจะไม่ค่อยกล้าใช้เงิน เราก็เลยเริ่มไปหากลุ่มลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น พอปีนี้เราได้รับเลือกไปงาน MAISON&OBJET ก็ทำให้ยอดขายดีขึ้น เรามองว่าลูกค้าต่างชาติน่าจะมองหาผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วยตัวเอง แม้แบรนด์เราไม่ได้เป็นงานดีไซน์ที่แปลกใหม่ขนาดนั้น แต่ลูกค้าก็สนใจเพราะความสวยงาม คุณภาพ และการใช้งานได้แบบ Multi-purpose ซึ่งเป็นจุดเด่นของแบรนด์ แต่การที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราโดดเด่นด้วยตัวของมันเองยังไง ตรงนี้คือสิ่งที่ท้าทายมาก และทำให้เรากลับมามองถึงช่วงปีแรกที่เราสร้างแบรนด์ เราจะต้องเตรียมข้อมูลให้ชัดเจนมาก ๆ เรามีเว็บไซต์ก่อนเฟซบุ๊กอีก เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด”

อนาคตสู่คอมมูนิตี้ของผู้หญิงยุคใหม่

แน่นอนความการลงมือทำในสิ่งที่หลงใหลย่อมพาเราไปได้สุดทางฝัน จากจุดเริ่มต้นมาถึงวันนี้ คุณณัฐฑยาตั้งใจจะพาแบรนด์ไปสู่โปรดักต์ไลน์ใหม่ พร้อมกับเป็นแบรนด์ที่ “ให้” มากกว่าแค่สินค้า แต่ยังรวมถึงประสบการณ์ และแรงบันดาลใจ

“จริง ๆ วัสดุนี้สามารถต่อยอดได้หลากหลายมาก ตอนนี้เราลองเพิ่มสินค้าพรมตกแต่งบ้านขึ้นมา ในอนาคตอาจจะขยายไปสู่คอลเล็กชั่นเฟอร์นิเจอร์ด้วย โดยเราก็ยังคงคอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์แบรนด์เหมือนเดิม แต่เราอยากเป็นแบรนด์ที่ Empowering women ให้ได้มากกว่าที่เราพยายามทำมาตลอด และถ้าวันหนึ่งเรามีหน้าร้านจริงจัง เราก็อยากให้ร้านของเราเป็นคอมมูนิตี้ของผู้หญิง ต่อไปอาจจะไม่ได้ขายของอย่างเดียว อยากให้คนอินไปกับวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ที่ไม่ต้องตามกระแสโลก ซึ่งก็คงเป็นโอกาสให้เราได้ลองเปิดตลาดใหม่ หากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ด้วย”

——————————————

สนใจสินค้าติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

Line ID: @tayaliving
เว็บไซต์: www.tayaliving.com
อีเมล: [email protected]
Instagram: tayaliving_official
Facebook: Tayaliving


ISAN CUBISM หยิบศิลปะคิวบิสม์จากแดนอีสาน สู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยบอกเล่าอัตลักษณ์ไทย