ด้วยความที่เนอร์สเซอรี่ส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัดที่รายล้อมไปด้วยป่าคอนกรีต ผู้ออกแบบจึงพยายามแทรกพื้นที่เปิดและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับ SDL NURSERY
โดยเริ่มจากแทนที่ผนังหนาหนักทึบตันภายในอาคารด้วยพาร์ทิชันเตี้ย ๆ และกระจกเพื่อลดความรู้สึกกดขี่และเพิ่มต้นไม้ใบหญ้าให้เด็กรู้สึกเข้าใกล้ธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
ชั้น 1 และ 2 ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่ทั้งเด็กทารกและเด็กชั้นเตรียมอนุบาล โดยออกแบบพื้นที่ชั้นหนึ่งให้มีความสูง 3 เมตร บรรจุไว้ด้วยโถงนิทรรศการ ส่วนต้อนรับเพื่อรองรับผู้ปกครองที่มารับลูกให้รู้สึกผ่อนคลายยามมองออกไปยังสวนภายนอก
ในส่วนของพื้นที่ชั้น 2 ด้านหลังออกแบบให้มีความสงบและได้รับแสงธรรมชาติสำหรับเด็กทารก ส่วนพื้นที่ที่เหลือแบ่งออกเป็นห้องแบบหลวม ๆ เพื่อให้จำนวนคนและอายุปรับได้ตามสถานการณ์ และเนื่องจากออกแบบพาร์ทิชั่นไม่สูงมากนัก ทำให้คุณครูสามารถมองเห็นเด็ก ๆ ได้อย่างทั่วถึง สำหรับเด็กเองก็มีพื้นที่มุมเล็ก ๆ ให้นั่งเล่น
สำหรับพื้นที่ครัวเน้นออกแบบให้เด็กได้เห็นกระบวนการทำอาหาร กระตุ้นให้เด็ก ๆ รู้สึกสนใจในออาหาร ทั้งยังช่วยให้ผู้ปกครองรู้สึกปลอดภัยหายห่วงในโภชนาการของลูก ๆ ที่โรงเรียนอีกด้วย ส่วนของห้องเรียนออกแบบเป็นโถงขนาดใหญ่ที่สามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมร่วมกัน
ถัดมาที่ชั้น 3 แบ่งเป็นส่วนของห้องเรียนเช่นเดียวกับชั้นสอง ที่เหลือใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมอย่างการอ่านหนังสือและงานศิลปะ โซนอเนกประสงค์ โซนเทอเรซ และโซนสำนักงาน จากการใช้กระจกและพาร์ทิชั่นแบบเตี้ยทำให้สเปซรู้สึกกว้างขวาง สามารถมองเห็นกันได้อย่างทั่วถึง และรู้สึกปลอดภัย
โซนที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่เทอเรซใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์อย่างการประชุมง่าย ๆ ช่วงเวลาพักของคุณครู หรือแม้กระทั่งนั่งพูดคุยกับผู้ปกครอง ไม่ใช่แค่เพียงเด็กเท่านั้น ที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ของผู้ใหญ่ได้มีสังคมและแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน
ออกแบบ: HIBINOSEKKEI + Youji no Shiro + KIDS DESIGN LABO
ภาพ: Zeng Yi
เรียบเรียง: BRL