โรงเรียนอนุบาล แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช่างไม้ชื่อ “ช่างไม้โยโกมัตสึ” ซึ่งได้ฝากฝีไม้ลายมือผ่านศาลเจ้าและวัดมากมายของเมืองนี้
จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โรงเรียนอนุบาล IZY เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสประวัติศาสตร์และประเพณี ภายใต้แนวคิด “เห็น สัมผัส รู้สึก เรียนรู้พื้นที่ และกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า”
จุดเริ่มต้นของโรงเรียนอนุบาลและเนิร์สเซอรี่แห่งนี้ เกิดขึ้นประมาณปี 1945 เมื่อทางวัดเปิดให้ห้องโถงใหญ่ใช้สำหรับเป็นโรงเรียนอนุบาลในช่วงฤดูเกษตรกรรม จากนั้นจึงสร้างอาคารแยกออกมาอีกหนึ่งหลังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส และมาตรการทางสังคมที่คุมเข้ม ส่งผลให้การพบปะพูดคุยของผู้คนลดน้อยลงไป ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มทักษะการสื่อสารของเด็ก ๆ โปรเจ็กต์นี้จึงคาดหวังให้วัดและโรงเรียนอยู่ใกล้กัน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนต่างวัยมากขึ้น
อาคารเรียนหลังใหม่ที่เห็นนี้ สร้างขึ้นในบริเวณวัด โดยเลือกใช้สีเทาในการคุมโทนผิวอาคารด้านนอก เพื่อให้ล้อไปกับกระเบื้องหลังคาและประตู ด้านหน้าอาคารมีช่องเปิดขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นกรอบของทิวทัศน์ด้านนอก และเมื่อเข้ามาด้านใน ได้เลือกใช้วัสดุไม้ทั้งหมด ทั้งในส่วนของผนัง พื้น และฝ้าเพดานแบบกริด ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงไปกับวัด และประวัติศาสตร์ของเมือง ช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกผูกพัน และคุ้นเคย ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสถึงพื้นผิวของความเป็นธรรมชาติผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งไม้ก็เป็นวัสดุที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น และความรู้สึกสงบของจิตใจ
ภายในอาคารเรียนผสานพื้นที่เรียนรู้และการเล่นไว้ด้วยกัน โดยมีมุมหนังสือ เครื่องเล่น และพื้นที่สร้างสรรค์งานประดิษฐ์ คอยช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และการเล่นประเภทต่าง ๆ ตามช่วงวัย ส่วนของห้องรับประทานอาหารได้ถูกเชื่อมกับอาณาบริเวณรอบ ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง มีความโปร่งสบายด้วยบานประตูที่เปิดออกได้เต็มที่ ขณะเดียวกันเฉลียงขนาดกว้างที่หันไปทางอาณาบริเวณของวัด ยังช่วยเชื่อมโยงเหล่าผู้คนที่เดินทางมาวัด และเด็ก ๆ เป็นพื้นที่พัฒนาการสื่อสาร ทักษะ และใช้วิ่งเล่น
ในสภาพแวดล้อมที่ความอบอุ่นของวัด และเน้นส่งเสริมการสื่อสารกับชุมชน เด็ก ๆ ได้อยู่ในสเปซที่หล่อเลี้ยงประสาทสัมผัสทั้งห้า ชวนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันพวกเขายังจะได้ซึมซับประวัติศาสตร์ของชุมชนไปด้วย นับเป็นสิ่งมีค่าอย่างยิ่งจากโปรเจ็กต์งานออกแบบครั้งนี้
ออกแบบ : HIBINOSEKKEI + Youji no Shiro
ภาพ : Toshinari Soga (studio BAUHAUS)
เรียบเรียง : BRL