Dog and Human House โครงการออกแบบที่มีจุดเริ่มจากความรักที่เจ้าของมีต่อน้องหมา จนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งใจกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้ปรับเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้มุมมอง และความรู้สึกของสุนัขด้วยความเต็มใจ การันตีถึงความใส่ใจในกระบวนความคิดการออกแบบตลอดจนการเลือกวัสดุของโครงการนี้ด้วยรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2022 ประเภทบ้านพักอาศัย โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
สำหรับงานออกแบบบ้านส่วนใหญ่ จุดเริ่มต้นมักจะเกิดขึ้นเพื่อสร้างให้คนอยู่อาศัยเป็นหลัก แต่สำหรับโครงการออกแบบ Dog and Human House นั้นกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่างออกไป โดยหากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2018 ที่ทาง คุณนรวีร์ วัยนิพิฐพงษ์ คุณหมอด้านกระดูกและข้อ ต้องการจะหาพื้นที่สีเขียวสำหรับให้สุนัขที่รักวิ่งเล่นได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสุนัขที่เขาเลี้ยงนั้นเป็นน้องหมาพันธุ์ใหญ่ และมีหลายตัว ทำให้จำเป็นต้องมีพื้นที่กว้างขวาง ให้น้อง ๆ ได้วิ่งแบบเต็มฝีเท้า ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความสุขของสุนัข คุณนรวีร์วางใจให้ คุณเอกภาพ ดวงแก้ว สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง EKAR Architect รับหน้าที่ออกแบบโครงการ รวมถึงร่วมกันมองหาความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ดียิ่งขึ้นสำหรับน้องหมา
จากจุดเริ่มต้นที่จะออกแบบเพียงสนามวิ่งเล่น จึงขยับขยายกลายเป็น ‘บ้าน’ ของคุณหมอและพื้นที่ของ DOX House ที่บริการสระว่ายน้ำ รับทำความสะอาดและโรงแรมสุนัขในเวลาต่อมา เพื่อแบ่งปันความสุขให้กับคนที่รักสุนัขเหมือนกัน โดยยังมี ‘น้องหมา’ เป็นหัวใจหลักของการออกแบบเช่นเดิม
‘น้องหมา’ คือ หัวใจสำคัญของการแบบในทุกมิติ
จากโจทย์ของเจ้าของโครงการ สู่คำถามที่ทางสถาปนิกตั้งให้กับตัวเองอย่าง ‘ความสุขของน้องหมาคืออะไร แล้วเราจะสร้างพื้นที่ให้เค้ามีความสุขได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร’ สู่กระบวนการคิดและการออกแบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมกับการทำการบ้านอย่างหนักในด้านพฤติกรรมของสุนัข รวมถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ ‘การออกแบบสถาปัตยกรรม’ มีส่วนช่วยทำให้สุนัขและเจ้าของมีความสุขตามธรรมชาติ สถาปนิกจึงเลือกที่จะนำปรัชญาเรื่องของการเคารพต่อสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่การมองเพียงตนเองมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ (ยัง) ไม่สมบูรณ์พร้อม และรอที่จะสมบูรณ์ เมื่อมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่อย่างที่ควรเป็นตามธรรมชาติ โดยมีการออกแบบระยะความสูง-ต่ำของชายคา ที่มีนัยยะสื่อถึงความเคารพที่ไม่ได้มีเพียงคนเท่านั้นที่เข้ามาใช้งานอาคารแห่งนี้ แต่ยังมีสุนัขและต้นไม้ที่ยังต้องการระยะที่แตกต่างกันไป
สถาปัตยกรรมที่ตอบรับกับบริบท
จากแนวความคิดในการออกแบบ สถาปนิกจึงทำการศึกษาพื้นที่โดยรอบของที่ตั้งโครงการ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนครปฐม ทำให้ค้นพบว่า แท้จริงแล้วจังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดแห่งการปศุสัตว์ ชาวบ้านทั่วไปมักมีเล้าเลี้ยงสัตว์อยู่ใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเล้าหมู ไก่หรือเป็ด โดยเล้าที่พบจะเป็นหลังคาทรงจั่ว มุงด้วยสังกะสีและมีชายคาต่ำเกือบจรดดินเหมือนกัน จากรูปแบบที่พบนี้เองจึงได้ถูกส่งต่อไปยังการออกแบบอาคาร และพื้นที่ใช้สอยภายใน เพื่อให้อาคารเป็นส่วนหนึ่งของบริบทอย่างถ่อมตัว โดยภายในอาคารได้ถูกจัดวางพื้นที่ส่วนตัวของทั้งน้องหมา และเจ้าของเอาไว้อย่างเป็นสัดส่วน เพื่อให้กิจกรรมของน้องหมาที่อาจมีเสียงดังไม่สร้างความไม่สบายใจให้กับเพื่อนบ้านและชุมชนโดยรอบ
เปลี่ยน ‘ความสุข’ ของน้องหมาให้เป็น ‘พื้นที่ใช้สอย’
ภายในเนื้อที่ 1 ไร่ เกิดเป็นพื้นที่ใช้สอยขนาด 450 ตารางเมตร มีอาคาร 2 หลัง แบ่งเป็น อาคารหลักทางด้านหน้าที่มีลักษณะเป็นหลังคาทรงจั่ว แบ่งพื้นที่ใช้สอยด้วยทางสัญจรหลักที่จะแบ่งการเข้าถึงแยกออกจากกัน เมื่อเข้ามาที่อาคารหลัก พื้นที่ทางฝั่งซ้ายเป็นจะส่วนของโถงต้อนรับและพื้นที่พักคอย ส่วนทางขวามือจะเป็นพื้นที่พักอาศัยส่วนตัวของเจ้าของโครงการ โดยมีคอร์ตยาร์ดและบ่อน้ำประดับทำหน้าที่เป็นขอบเขตสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังสามารถมองดูความเรียบร้อยของกิจการได้อย่างทั่วถึง และพื้นที่สุดท้าย คือส่วนด้านในที่จะเป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับสุนัข ที่ก่อนจะถึงจะต้องเดินผ่านคอร์ตยาร์ดและทิวเสาคอนกรีต ก่อนจะพบกับทั้งส่วนของสนามหญ้าขนาดใหญ่สำหรับวิ่งเล่นและสระว่ายน้ำออกกำลังกายที่เป็นเสมือนเซอร์ไพรส์สเปซ ที่ทางสถาปนิกต้องการสร้างประสบการณ์การเข้าถึงให้กับผู้ใช้อาคาร
ทั้งนี้ สถาปนิกหยิบยกเรื่องของ ‘ระยะ’ ทั้งความสูง-ต่ำ และความยาว-สั้น มาช่วยในการกำหนดขอบเขตของพื้นที่ใช้สอยแต่ละโซนตามลำดับการเข้าถึงอย่างเหมาะสม โดยพื้นที่โดยรอบจะติดตั้งด้วยรั้วสีดำเพื่อกันไม่ให้สุนัขออกไปได้ และในแต่ละโซนก็จะมีรั้วสีดำซ้อนไว้อีกชั้นเพื่อกำหนดขอบเขตของพื้นที่ใช้สอยแยกย่อยออกไปอีกครั้ง ซึ่งรั้วดังกล่าวนอกจากจะทำให้สุนัขปลอดภัยแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเป็นระบบ แบ่งส่วนกิจกรรมเอาท์ดอร์ของสุนัขกับส่วนทำความสะอาดและโรงแรมได้อย่างเป็นสัดส่วน
โดยเรื่องของระยะในรูปแบบต่าง ๆ นั้น เกิดจากการที่สถาปนิกศึกษาพฤติกรรมของสุนัขและพบว่า หนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนกับสุนัขคือ “การย่อตัว” ของคน ซึ่งเมื่อคนเราย่อตัวลงจะเกิดเป็นระยะที่ให้ความรู้สึกว่าคนกับสุนัขนั้นอยู่ในระดับเดียวกัน ความสูงเท่า ๆ กัน ระยะของสายตาเท่า ๆ กัน ส่งผลให้สุนัขรู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตร อาทิเช่น เมื่อเราเรียกสุนัขแล้วย่อตัวเรียกไปด้วย สุนัขจะลดความระวังตัวและยอมเข้ามาใกล้มากกว่าการที่ยืนเต็มความสูงแล้วเรียก ดังนั้น สถาปนิกจึงออกแบบสถาปัตยกรรมที่ทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความเต็มใจหากต้องการมองเห็นสุนัขในพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ จึงต้องย่อตัวลงเล็กน้อยให้อยู่ในระยะเดียวกันกับที่สุนัขใช้ ซึ่งนอกจากจะได้เห็นสุนัขแล้ว ยังเป็นการทำความเข้าใจพฤติกรรมและมุมมองของสุนัข ผ่านระยะที่สถาปัตยกรรมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์
วัสดุและการเลือกใช้ในพื้นที่
โครงการนี้มีการเลือกใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่ายเป็นหลัก อย่างพื้นคอนกรีตผิวทรายล้าง และเสาคอนกรีตที่พิเศษด้วยการออกแบบให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 ซม. ทำผิว Concrete skim coat และปรับฐานเสาประกบบัวคอนกรีตให้มีความโค้ง 20 ซม. เสริมด้วยศิลาแลงและกรวดสีน้ำตาลที่สื่อถึงความเก่าแก่และอัตลักษณ์ของนครปฐม และอีกวัสดุสำคัญ อย่างแผ่นหลังคาลอนใสที่ทำหน้าสร้างการรับรู้ที่ต่างออกไปในแต่ละพื้นที่เมื่อถูกแสงลอดผ่านเข้ามากระทบ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องเจริญเติบโตของต้นไม้บริเวณคอร์ตยาร์ดอีกด้วย
เจ้าของ: คุณนรวีร์ วัยนิพิฐพงษ์
ออกแบบสถาปัตยกรรม: EKAR Architects
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Landscape Architects 49 Limited
ก่อสร้าง: GRD + RHive Design and Consultant
เรื่อง: ektida n.
ภาพ: Rungkit Charoenwat