หากคุณภาพชีวิตของคนวัยทำงานในปัจจุบันวัดจากสถานที่ทำงานแล้วละก็ คงต้องยอมรับว่าพนักงานของ SCG (Siam Cement Group) มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ เพราะท่ามกลางอาคารสูงมากมายในกรุงเทพ ฯ ต้องยอมรับว่าราคาที่ดินแต่ละย่านล้วนมีมูลค่ามหาศาล จึงมีน้อยองค์กรนักที่จะยอมสละพื้นที่ราคาแพงนั้น เพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพนักงาน แต่ SCG สาขาบางซื่อสำนักงานใหญ่ กลับเป็นหนึ่งในองค์กรที่นึกถึงพนักงานมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่เปิดโล่ง นอกจากจะเป็นปอดของบริษัทแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปรากฏการณ์เกาะร้อนที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่ ๆ ของโลกอีกด้วย
แต่การสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะต้องรองรับกับความต้องการขององค์กรที่ใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศแบบนี้ ทุกขั้นตอนจึงต้องผ่านการวางแผนอย่างรอบคอบ เริ่มตั้งแต่แนวทางการออกแบบ บริบทรอบ ๆพื้นที่ ทิศทางแดดลม ประโยชน์การใช้งาน การประหยัดพลังงาน กฎข้อบังคับต่าง ๆ ของ LEED ไปจนถึงการดีไซน์เพื่อให้สอดคล้องกับตัวอาคาร SCG 100ปี ซึ่งทางผู้ออกแบบ คุณธัชพล สุนทราจารย์ ดีไซเนอร์ ไดเร็คเตอร์ จากบริษัท Landscape Architect of Bangkok ได้เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดการออกแบบว่า อย่างแรกคือเรื่องของการรักษาต้นไม้ในพื้นที่ไว้ให้มากที่สุด เนื่องจากต้นไม้ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้เก่าแก่ที่มีมานานแล้ว จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในขั้นตอนการก่อสร้าง เพราะเมื่อต้นไม้มีอายุมากราก และพุ่มย่อมแผ่ขยายมากตามไปด้วย
ส่วนการออกแบบภูมิทัศน์นั้นเกิดจากแนวคิดที่ต้องการส่งต่อคุณค่าจากของเดิมไปสู่อนาคต ในที่นี้หมายถึงสภาพดินและต้นไม้เดิมของพื้นที่ โดยตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เชื่อมอาคารเก่ากับอาคารใหม่เข้าด้วยกัน และสามารถใช้งานได้จริง ทั้งยังมีการแก้ปัญหาระดับความสูงที่ต่างกันถึง 2.20 เมตร ด้วยการปรับสโลปดินให้เป็นทางเดิน รวมถึงออกแบบเส้นสายของตัวอาคารกับเส้นสายของแลนด์สเคปให้เกิดความต่อเนื่องดูเป็นเรื่องราวเดียวกัน
ทางด้านการออกแบบอาคาร SCG 100 ปีนั้น เริ่มจากการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานเป็นอันดับแรก เช่น การลดความร้อนเข้าสู้อาคารด้วยการติดตั้งกระจกสองชั้นที่มีค่าสัมประสิทธิ์ความร้อนต่ำ ทั้งยังใช้ระบบแสงสว่างจากหลอดประหยัดพลังงานไฟฟ้า T5 และหลอด LED รวมถึงการติดตั้ง SOLAR PANEL เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ ส่วนทางด้านรูปร่างหน้าตาของอาคารก็มีเอกลักษณ์ชัดเจน ดูพลิ้วไหวมีระเบียงเส้นโค้งสวยงามไม่เป็นรูปเลขาคณิตแข็งทื่อเหมือนตึกทั่วไป ซึ่งเกิดจากแนวความคิดที่อยากให้อาคารเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในองค์กรผู้มีความคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้เรื่องการดูแลรักษาและการระบายน้ำของพื้นที่ก็สำคัญไม่น้อย ผู้ออกแบบได้ออกแบบให้น้ำสามารถซึมผ่านส่วนทางเดินหรือลานกิจกรรมลงสู่ดินได้เลย หรือหากมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติก็มีระบบปล่อยน้ำลงสู่บ่อน้ำของโครงการได้โดยไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ โดยน้ำที่ปล่อยลงไปนั้นมีการดีไซน์และสร้างฝายเล็ก ๆ ขึ้น ซึ่งในฝายจะมีระบบนิเวศบำบัด ใช้พืชน้ำมาทำความสะอาดโดยไม่ต้องใช้คลอรีนในขั้นตอนการบำบัดเลย เรียกได้ว่าเป็นการใช้ธรรมชาติเพื่อคืนธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ
TIP : ปรากฏการณ์เกาะร้อนคืออะไร
ปรากฏการณ์เกาะร้อนหรือ Urban Heat Island Effect (UHI) คือการที่อุณหภูมิอากาศใกล้พื้นดินในเขตชุมชนเมืองสูงกว่าพื้นที่โดยรอบที่เป็นเขตกสิกรรมและพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยป่าไม้ประมาณ 2 – 5 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่พื้นที่ป่าถูกทำลายแล้วแทนที่ด้วยอาคารบ้านเรือนและตึกสูงซึ่งปลูกสร้างด้วยวัสดุที่ดูดซับความร้อนสูง