/ บ้านนี้เหมือนเป็นงานศิลปะในตัวเอง เราต้องทดลองสร้างสรรค์ไปกับมัน
เทคนิคการก่อสร้างก็เลยค่อนข้างสลับซับซ้อน /
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: APOSTROPHY’S
“ผมอยากให้บ้านเป็นเหมือนสนามทดลอง คล้ายๆ Case Study House No.8 ของ Charles และ Ray Eames ที่พวกเขาใช้บ้านตัวเองในการทดลองออกแบบและอยู่อาศัยจริง ซึ่งบ้านนี้เกิดจากการที่ผมตั้งโจทย์เพื่อค้นหาคุณลักษณะพิเศษของสเปซขนาดเล็กภายในบ้านที่มีพื้นที่จํากัดของคนเมือง”
เมื่อบ้านคือการทดลอง ทาวน์โฮมสามชั้นหลังนี้จึงได้รับการแปลงโฉมให้กลายเป็นรีสอร์ตกลางเมือง แล้วข้อจำกัดของบ้านจัดสรรก็กลายเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผ่านฝีมือการออกแบบของ คุณเบียร์ – พันธวิศ ลวเรืองโชค เจ้าของบ้านและเจ้าของสตูดิโอออกแบบ Apostrophy’s ผู้อยู่เบื้องหลังงานอีเว้นต์และเอกซิบิชั่นเจ๋ง ๆ มากมายในเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เราเคยได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนโฮมออฟฟิศแสนอบอุ่นของคุณเบียร์เมื่อ 3 ปีก่อน แต่บ้านหลังใหม่นี้ดูเหมือนจะฉีกจากแนวเดิมไปอย่างสิ้นเชิง แม้จะอบอวลไปด้วยความหรูหรา รุ่มรวยด้วยกลิ่นอารยธรรมตะวันออก แต่พื้นที่ตรงนี้ ก็ยังคงเปี่ยมด้วยบรรยากาศผ่อนคลายสําหรับการพักผ่อน ของครอบครัวอย่างที่คุณเบียร์ตั้งใจไว้
“บ้านนี้เป็นบ้านที่ครอบครัวเรามาใช้เวลาสุดสัปดาห์ด้วยกัน ปกติครอบครัวผม คุณแม่จะอยู่ที่หนึ่งและคุณอาก็อยู่อีกที่ ส่วนผมก็อยู่โฮมออฟฟิศซึ่งอยู่ใกล้ ๆ แถวนี้ ที่นี่ จึงเป็นศูนย์กลางทําให้ทุกคนได้มาเจอกันในทําเลที่สะดวก ผมอยากให้ตรงนี้เป็นที่พักผ่อน ดังนั้นบ้านนี้จึงมีภาษาของการออกแบบที่สื่อถึงรีสอร์ตอยู่เยอะ แตกต่างจากบรรยากาศ โฮมออฟฟิศของผมที่จะดูโฮมมี่กว่า”
โครงสร้างเดิมของตัวบ้านยังคงไว้ทั้งหมด ปรับเปลี่ยนแค่รายละเอียดการตกแต่งเล็กน้อยเพื่อเป็นเหมือนฉากหลัง หรือกรอบภาพสําหรับรองรับคอลเล็คชั่นของสะสมและงาน ศิลปะของคุณเบียร์โดยเฉพาะ ภายในบ้านพื้นที่ใช้สอยกว่า 260 ตารางเมตร เราจึงได้เห็น การทดลองใช้งานวัสดุที่เรียบง่ายแต่หลากหลาย เพื่อสร้างมิติและชั้นเชิงให้กับสเปซขนาดกะทัดรัด อีกทั้งสัดส่วนขององค์ประกอบทุกอย่างยังได้รับการคิดคํานวณขึ้นใหม่เพื่อให้บ้านห่างไกลจากคําว่า “สําเร็จรูป” มากที่สุด
“ผมรู้สึกว่าทาวน์เฮ้าส์หรือทาวน์โฮมดูจะเป็นพื้นที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยสําหรับคนเมือง เพราะดูแลรักษาง่าย ตั้งอยู่ในทําเลกลางเมืองที่สะดวกสบาย แต่ผมก็ยังอยากให้มีบรรยากาศแบบรีสอร์ตแตกต่างจากบ้านในชีวิต ประจําวันจึง พยายามทดลองออกแบบสเปซและองค์ประกอบต่าง ๆ ว่าจะอยู่ในทาวน์โฮมได้ไหม เช่น สวนแนวตั้ง หรือการทําทริปเปิ้ลสเปซสามชั้นให้ดูโดดเด่นเป็นพิเศษคล้ายในล็อบบี้โรงแรม รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดโอเวอร์ไซส์ แม้จะใหญ่กว่ามาตรฐานสําหรับทาวน์โฮม แต่เราก็สามารถหาทางจัดการจนเข้ามาอยู่ในนี้ได้
“การตกแต่งภาพรวมทั้งหมดเป็นการนําภาษาของวัฒนธรรมตะวันออกซึ่งผมชอบเป็นพิเศษมาตีความใหม่ สื่อสารผ่านการใช้สีทอง ข้าวของเครื่องใช้และของสะสม จากประเทศจีนบางส่วน เช่น จานชาม ถ้วยชาสไตล์ Chinoiseries ซึ่งมีความเป็นจีนผสมกับยุโรป มาผสมผสาน และบอกเล่าด้วยภาษาที่เป็นสากลมากขึ้น”
แม้ความโปร่งโล่งของสเปซจะทําให้เรามองเห็นภาพรวม ของบ้านด้วยการกวาดสายตาเพียงครั้งเดียว แต่ด้วยเลเยอร์ของรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในแต่ละมุม ก็ชวนให้เราต้องย้อนกลับไปค้นหาอีกครั้งเพื่อพบกับองค์ประกอบที่สร้างเซอร์ไพร้ส์เล็ก ๆ ได้เรื่อย ๆ จนราวกับว่าเรากําลังเดินอยู่กลางงานนิทรรศการศิลปะสักแห่ง และแน่นอนว่านี่ก็คือเสน่ห์ที่ทําให้บ้านหลังนี้ไม่เหมือนหลังไหน
“งานอีเว้นต์เอกซิบิชั่นชั่วคราวกับงานอินทีเรียร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องวัสดุและโครงสร้างต่าง ๆ อย่างการสร้างบ้านเราต้องการความคงทน คิดถึงเรื่องการบํารุงรักษา และการใช้ชีวิตในระยะยาว แต่ด้วยความที่ทํางานอีเว้นต์มาเยอะ ก็อดไม่ได้ที่จะสอดแทรกกิมมิก ความน่าตื่นเต้น เข้าไปในบ้านหลังนี้ด้วย เพราะฉะนั้นทุก ๆ จุดจึงมีรายละเอียด น่าสนใจสามารถถ่ายรูปสวย ๆ ได้หมด เหมือนเป็นบ้านรับแขกไปด้วยในตัว”
Apostrophy’s กําลังขยายอาณาจักรใหม่อีกครั้ง ตลอดสองปีที่ผ่านมาคุณเบียร์เริ่มโฟกัสงานออกแบบภายในอย่างจริงจัง บ้านหลังนี้จึงอาจเป็นมากกว่าบ้านหลังใหม่ หากแต่ยังเป็นพื้นที่ให้เขาได้ทดลองใช้ชีวิตท่ามกลางดีไซน์ที่สะท้อนตัวตนและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองครั้งต่อ ๆ ไปอีกด้วย