สารพัดไทย ฯลฯ SARAPAD THAI แหล่งชอปดีไซน์ไทยร่วมสมัย - room

ฯลฯ SARAPAD THAI สารพัดไทย แหล่งชอปสารพัดอย่าง ดีไซน์ไทยร่วมสมัย

จากสารพัดสิ่งของในร้าน Medium and More สู่การตีความใหม่ใน “ร้านสารพัดไทย” ณ ศูนย์การค้า Parade at One Bangkok เกิดจากความต้องการให้เป็นพื้นที่ชูผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าไทยที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์การใช้งาน และมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจแบบไทย ๆ จึงเป็นที่มาของ SARAPAD THAI สารพัดไทย ฯลฯ ร้านค้าที่ตีความและรวบรวมสารพัดสินค้าไทยดีไซน์โมเดิร์น เข้าถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของไทยในบริบทปัจจุบัน ผ่านมุมมองที่ฉีกกรอบและสนุกสนาน

สารพัดไทย

ในที่นี้ คำว่า “สารพัดไทย” ไม่ใช่เป็นเพียงแต่สิ่งของ แต่คือสารพัดอย่างของความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งของมากมายภายในร้านที่รวบรวมมามากกกว่าหนึ่งสิ่ง แนวคิดนี้ได้รับการสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ไปยาลใหญ่ หรือ “ฯลฯ” ซึ่งแทบจะใช้กันน้อยมากในปัจจุบัน แต่ครอบคลุมการสื่อความหมายได้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อว่าด้วยความเป็นไทยอื่น ๆ อีกมากมายได้มากที่สุด

การตกแต่งตั้งแต่ทางเข้าใช้ดีไซน์ความเป็นไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงที่มีติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตก และยังได้รับอิทธิพลด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเข้ามาด้วย ทางเข้าหน้าร้านยาวกว่า 40 เมตร จึงได้กลิ่นอายสถาปัตยกรรมยุคนั้นผสมผสานผ่านการออกแบบที่คู่กับสีน้ำเงิน เพื่อให้ความเป็นไทยดูโมเดิร์นขึ้น อีกทั้งพื้นยังเลือกใช้หินขัดซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนความนิยมที่มักใช้กันในยุคสมัยก่อน

สารพัดไทย

ในร้านเน้นใช้สีน้ำเงินและสีเหลือง คู่สีที่ใช้ในการออกแบบทั้งสี CI โลโก้ และโทนสีของการออกแบบตกแต่งภายในร้าน โดยเป็นสีคู่ตรงข้ามที่มีความป๊อป สดใส และสื่อถึงความสร้างสรรค์ของสินค้าภายในร้าน ผู้ออกแบบวางเลย์เอ๊าต์ในร้านโดยมีแรงบันดาลใจมาจากการเดินเที่ยวในกรุงเทพฯ ของนักท่องเที่ยวที่มักจะซอกแซกไปตามตรอกซอกซอยในเมือง คอนเซ็ปต์นี้จึงนำมาใช้ในการออกแบบทางเดินภายในร้านที่ซอกแซกทะลุถึงกันได้หมด ทำให้รู้สึกเดินได้เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเดินไปเจอสินค้าหมวดไหนภายในร้าน โดยเน้นให้แต่ละจุดนั้นสื่อความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา

นอกจากนี้ แต่ละโซนยังมีการตั้งชื่อให้สนุกและสื่อถึงสินค้าในประเภทนั้น ๆ อย่างโซนแรกที่เข้ามาภายในร้านจะเจอโซน “สุดแสนสร้างสรรค์” เน้นสินค้าศิลปะและสินค้าประดิดประดอย และยังมีสินค้าของศิลปินไทยที่ทำอาร์ตทอยแบบศิลปะร่วมสมัยมานำเสนออีกด้วย

สารพัดไทย

ต่อมาโซน “กินดีอยู่ดี” ขายอาหารและเครื่องดื่ม มีทั้งคาเฟ่ ร้านชาและกาแฟ ที่ใส่กิมมิกเมนูซิกเนเจอร์เฉพาะของที่นี่ เช่น อเมริกาโน่ต้มยำ การออกแบบในโซนนี้จะมีความคล้ายคลึงกับการจัดวางสินค้าในร้านโชห่วย หยิบจับง่าย โชว์สินค้าที่เน้นความเป็นไทย ทั้งผลไม้อบแห้ง เช่น มังคุด ทุเรียน หรืออาหารแห้งอย่างส้มตำที่ให้นักท่องเที่ยวซื้อกลับไปเป็นของฝาก

สารพัดไทย
สารพัดไทย

ซอยถัดมาข้าง ๆ กัน ใช้ชื่อโซนว่า “แต่งเนื้อแต่งตัว” โซนนี้ให้ความรู้สึกและบรรยากาศอดีตของวังบูรพาอันเป็นย่านแฟชั่นของหนุ่มสาวในสมัยก่อน โซนเสื้อผ้านี้จึงมีลักษณะเป็นห้องแถวเรียงไปเป็นล็อก เหมือนหลุดไปอยู่ในยุคนั้น สินค้าแฟชั่นที่นี่จะมีทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้าให้เลือกซื้อหา

สารพัดไทย

“รักสวยรักงาม” อีกโซนหนึ่งที่เป็นโซนเครื่องสำอางและเครื่องหอม ประกอบด้วยสินค้าแบรนด์ไทยที่เต็มไปด้วยดีไซน์ทั้งบรรจุภัณฑ์ร่วมสมัยมากมายมาให้เลือกชอป จะซื้อใช้เอง หรือให้เป็นของฝากก็ได้เช่นกัน และสุดท้ายโซน “อยู่เย็นเป็นสุข” รวมของไลฟ์สไตล์ที่ใช้ภายในบ้าน มีทั้งดีไซน์ยั่งยืน ตอบโจทย์การใช้งาน รวมถึงสินค้างานฝีมือและหัตถกรรมจากชุมชนมากมายอีกด้วย

สารพัดไทย

อีกหนึ่งโซนไฮไลต์ที่เรียกว่า “ตลาดนัด” นำโมเดลการทำธุรกิจตลาดนัดในไทยมาดัดแปลงในพื้นที่ มีทั้งผู้จัดการตลาดนัด มีแผงให้เช่า ที่ผู้ค้าสามารถมาวางแผนได้ตามระยะเวลาที่ต้องการ ความพิเศษคือจะมีผู้ช่วยขายของที่มาบอกเล่าเรื่องราวของสินค้านั้น ๆ ให้แก่ผู้ซื้อได้ ซึ่งตลาดนัดแห่งนี้ มีธีมการออกแบบที่เปลี่ยนไปตามเทศกาล หรือไตรมาส สร้างความสนุกและสร้างสรรค์ในพื้นที่

สารพัดไทย

แม้พื้นที่ในร้านจะมีขนาดมากกว่า 2,000 ตารางเมตร แต่ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งเนรมิตซอกซอยเล็ก ๆ แทรกไปในโซนอื่น ๆ เพื่อให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ซิกเนเจอร์ นั่นคือบริเวณที่มีชื่อว่า “ตรอกโชคดี” มีเทพประธานพรสีชมพู ทำท่ารูปหัวใจ มาในธีมสีสันสดใสที่นำความเชื่อแบบไทย ๆ มาเล่าในรูปแบบใหม่ บ่งบอกความสนุกสนานและความสร้างสรรค์ในร้าน

โดยรวม สารพัดไทย จึงเสมือนเป็นการรวบรวมสินค้าคุณภาพแบรนด์ไทย ดีไซน์ร่วมสมัย ที่มีความโดดเด่นบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ในทุกแง่มุมของไทยในมิติที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน พร้อมให้ผู้คนมาสัมผัสประสบการณ์ย้อนวันวานที่เราอาจจะคุ้นชินได้ไม่มากก็น้อย



ที่ตั้ง
ฯลฯ Sarapad Thai สารพัดไทย ศูนย์การค้า Parade at One Bangkok
ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
พิกัด: https://maps.app.goo.gl/gV4J1iGH7eMc5MBU6


ออกแบบ Development Team: Frasers Property (Thailand) PCL
Cl Branding and Logo Designer: DuctStore The Design Guru Co. Ltd.
Interior Designer: Studio Act of Kindness Bangkok Co.,LTD


เรื่อง: Lily J.
ภาพ: อภินัยน์ ทรรศโนภาส

พาส่องไฮไลต์ก่อนงานเปิด 25 ตุลาคม 2567 นี้ One Bangkok แลนด์มาร์คใหม่ภายใต้แนวคิด “The Heart of Bangkok”