“ของมือสอง” คำกล่าวที่พอจะนิยามได้ว่า สิ่งใดๆ ก็ตามที่เคยผ่านมือใครสักคนมาก่อน และกำลังเดินทางไปสู่เจ้าของคนใหม่ ไม่ว่าเราจะเลือกใช้ของมือสองด้วยเหตุผลใดๆ ของเหล่านั้นจะมีคุณค่าโดดเด่นแตกต่างไปแต่ละบุคคล ดังคำกล่าวที่ว่า “One man’s trash is another man’s treasure.” บ่อยครั้งเราจึงเห็นคนบางคนดั้นด้นตามหาของมือสองอย่างไม่ลดละ เพียงเพื่อจะเติมเต็มคุณค่าทางจิตใจของเขานั่นเอง
KEEP CALM AND STUDY ON
เมื่อได้ขื่อว่าของมือสอง นั่นแปลว่าต้องมีรายละเอียดและข้อมูลมากมาย แต่ถ้าอยาก”เล่น”ของมือสองแล้วนั้น หากใจร้อนเกินไป ก็จะทำให้ได้ของที่ “ไม่ใช่” มาแทน ดังที่เขาว่า “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” เพราะฉะนั้น เราจึงอยากแนะนำทุกท่านว่าควรหาข้อมูลเสียก่อน เอาให้แน่น จะได้ไม่พลาด !
ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูล
จะเป็นหนังสืออ้างอิง เอกสารต่างๆ หรือบทความทางอินเตอร์เน็ต จะให้ดีต้องเข้าไปให้ถึงเว็บบอร์ดสนทนาของเหล่ากูรูทั้งหลาย ข้อถกเถียงของคนอื่นๆ จะนำพาความรู้และทำให้เราเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น
แต่หนทางหมื่นลี้ก็จำเป็นต้องมีก้าวแรกเสมอ เพราะฉะนั้น ในทะเลข้อมูลที่เรากำลังจะดำดิ่งลึกลงไป ก็ควรจะต้องค่อยๆ ตั้งเป้าให้ละเอียดขึ้นไปทีละลำดับ อาจจะเข้าจากเว็บไซต์กว้างๆ ก่อนเพื่อให้เราสามารถตั้งโจทย์ในลำดับถัดไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และค่อยขยับไปในเว็บไซต์ที่เฉพาะทางมากขึ้น จำไว้ว่า ยิ่งเป็นแหล่งข้อมูลวงในที่ละเอียดเท่าไหร่ ยิ่งต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนจะตั้งกระทู้ใดๆ
ตัวอย่างแหล่งข้อมูล
- Ken Rockwell (www.kenrockwell.com) : เว็บนี้รวบรวมข้อมูลมากมายเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปเก่า ไม่ว่าจะเป็นตัวกล้อง หรือเลนส์ พร้อมบทวิเคราะห์และการทดสอบที่เรียกได้ว่าแน่นปึ้ก!
- นิตยสาร Vintage Life (www.facebook.com/vintagelifethaiedition) : นิตยสารสำหรับผู้ชื่นชอบของเก่า ของสะสม มีทั้งข้อมูลเชิงลึก และแนะนำงานสะสมหลายๆ แบบ เหมาะสำหรับผู้เริ่มมองหางานอดิเรก
- Espressomachineclassics (www.espressomachineclassics.com) : เครื่องชงกาแฟคลาสสิกก็มีคนสะสม ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีแล้ว พวกเขายังจัดนิทรรศการกันอยู่เนืองๆ ด้วย
- wikipedia : สารานุกรมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีทีเด็ดอยู่ตรงส่วนของข้อมูลอ้างอิงท้ายบทความ ซึ่งจะช่วยให้คุณลงลึกไปถึงรายละเอียดได้มากขึ้น
สอบถามผู้เชี่ยวชาญ
อยากรู้อะไรเดินเข้าร้านเลย ไม่ว่าจะเป็นร้านนาฬิกามือสอง ร้านเฟอร์นิเจอร์มือสอง สอบถามพูดคุยและสร้างมิตรภาพกับเขา จะให้ดีควรค้นคว้าข้อมูลมาบ้าง ไม่เช่นนั้นจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ผู้เชี่ยวชาญนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ กูรูสายเซเลบผู้เล่นของเก่ามาเนิ่นนานที่ต้องควานหาตัวกันสักหน่อย หรือร้านของเก่าต่างๆ ทั้งที่มีหน้าร้าน และร้านที่มักไปเปิดตามฟลีมาร์เก็ตต่างๆ เป็นต้น
จะเจอกูรูที่ไหนได้บ้าง
- Made by Legacy ตลาดนัดกรุแตกที่หลายๆ คนจะนำของวินเทจส่วนตัวมาวางขายกัน นอกจากของจะเจ๋งแล้ว คนก็ยิ่งเจ๋ง คุณจะได้พบกับกูรูตัวจริงและได้คุยกับเจ้าของเดิมแบบตัวเป็นๆ เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ชื่นชอบของมือสองที่มีรสนิยม
- ร้าน PAPAYA ลาดพร้าว ซอย 55/2 โกดังสะสมเฟอร์นิเจอร์เก่า ที่ของแต่ละชิ้นมีความงดงามไม่ธรรมดา ชอบของประเภทไหนแบบใด ลองปรึกษาเจ้าของร้านได้เลย หรือลองชวนลูกค้าที่มาด้อมๆ มองๆ พูดคุยกันถึงของเก่าที่เราชอบ อาจจะเจอเพื่อนใหม่ก็เป็นได้
- ร้าน Machine Age Workshop ร้านเฉพาะทางสำหรับของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์จากยุคอินดัสเทรียล มีโกดังอยู่ที่นิวยอร์ก และมีโชว์รูมที่กรุงเทพฯ เพียงแค่นี้ก็รับประกันได้แล้วว่าของจริงขนาดไหน
- เมก้าพลาซ่า จุดรวมพลสำหรับคนสนใจกล้องเก่า ที่นี่มีร้านซ่อมกล้องและกล้องเก่าที่มีคนเอามาปล่อยไว้มากมาย ถ้าอยากได้ของดีให้ไปลองแอบดูบ่อยๆ ระหว่างนั้นก็หาข้อมูลจากพี่ๆ ช่างร้านโน้นร้านนี้ไปก่อน มิตรภาพเหล่านี้จะเป็นทุนในวันข้างหน้าแน่นอน
- สำนักบดกาแฟเสือ ๑๑ (www.facebook.com/grinder11degree) ร้านเครื่องบดกาแฟเก่าจากหลากหลายแบรนด์ของยุโรป บางชิ้นสภาพดี ถอดล้างกลไกก็สวยแล้ว บางชิ้นนำมา Refurbished ใหม่ เพื่อให้สามารถใช้งานได้