อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ของคนเมือง - room

อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ของคนเมือง

พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ของคนเมือง…อีกไม่นานเกินรอ

คนกรุงเทพฯเตรียมตัวนับถอยหลังรอวันเปิดตัวพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า  อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันได้เลย โดยคาดว่าจะเปิดภายในปีนี้ บนพื้นที่ประมาณ28 ไร่จะกลายเป็นปอดของเมืองภายใต้แนวคิด“ป่าในเมือง” (Urban Forestry)ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่แนวแกนสีเขียวจากหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นแกนทางทิศตะวันออกต่อเนื่องลงสู่แกนทางทิศตะวันตกในเขตพื้นที่พาณิชย์ของมหาวิทยาลัยบริเวณสวนหลวงสามย่านโดยมีถนน100 ปีจุฬาฯ(ซอยจุฬาลงกรณ์5 เดิม) เชื่อมระหว่างถนนพระรามที่1 กับถนนพระรามที่4

การออกแบบอุทยานแห่งนี้ได้แรงบันดาลใจจากการเติบโตของกิ่งและรากจามจุรี ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของพื้นที่นั่นเอง ภายในนอกจากปลูกพรรณไม้พื้นถิ่นหลากหลายชนิดอย่างเป็นธรรมชาติแล้ว ยังมีการออกแบบอาคารและพื้นที่ในส่วนต่างๆได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการเน้นเรื่องระบบการหมุนเวียนและระบายน้ำ อาทิ

แนวพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) ที่ปลูกต้นไม้สองข้างทางพร้อมระบบท่อระบายน้ำใต้ดินด้วยการซึมน้ำ-หน่วงน้ำเมื่อฝนตก

พื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ (Construct Wetland) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศและนันทนาการเป็นระบบการหมุนเวียนน้ำในอุทยานเป็นหัวใจของการออกแบบที่ว่างใช้ระบบชีววิศวกรรมเพื่อการบำบัดน้ำและสร้างระบบนิเวศในพื้นที่เมืองพื้นที่ชุมน้ำประดิษฐ์ในส่วนต่างๆของอุทยานจะช่วยกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้รดน้ำต้นไม้และเป็นพื้นที่ซึมน้ำ-หน่วงน้ำของเมือง

สวนซึมน้ำ ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำของเมืองด้วยการออกแบบสัณฐานอุทยานให้มีความลาดเอียงเพื่อเพิ่มความสามารถในการซึมน้ำดักและเก็บกักน้ำฝนในช่วงหน้าฝนและนำน้ำกลับมาใช้ในช่วงหน้าแล้ง

บ่อหน่วงน้ำ ทั้งแบบเปียก(Retention Pond) และแบบแห้ง(Detention Pond) เพื่อขังและชะลอน้ำฝนก่อนระบายออกสู่สาธารณะโดยสามารถหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ได้ประมาณ3-4ชั่วโมง

พื้นที่แก้มลิงทางเข้าอุทยาน มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่งเอื้อต่อการเข้าถึงและการจัดกิจกรรมบริเวณพื้นที่สีเขียวด้านข้างเป็นพื้นที่ซึมน้ำแบบแก้มลิงเน้นต้น “จามจุรี” เป็นสัญลักษณ์

อาคารอเนกประสงค์ที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ภูมิทัศน์สถาปัตยกรรมเปรียบเสมือนซุ้มประตูจากกระบวนทัศน์ทางธรรมชาติวิทยาเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของอุทยานด้วยพื้นที่หลังคาเขียว(Green Roof)ของอาคารอเนกประสงค์ยังออกแบบให้เป็นเนื้อเดียวกับพื้นที่อุทยานด้านล่างด้วยการเชื่อมต่อที่ว่างภูมิทัศน์ในรูปแบบเนินดินและทางลาดให้เกิดความต่อเนื่องสูงสุด

อุทยานแห่งนี้ยังมีส่วนช่วยสร้างชุมชนของสังคมอุดมปัญญาผ่านรูปแบบการดำเนินชีวิต3 L ได้แก่

Living :การมีชีวิตที่ทันสมัยที่มิใช่เพียงแค่เทคโนโลยีแต่เป็นการใช้ชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่สุขภาพดีมีพื้นที่ออกกำลังกายและกิจกรรมที่ร่วมกันส่งเสริมสุขภาพชุมชนสภาพแวดล้อมที่มลภาวะน้อยลง

Learning :เกิดสังคมที่เป็นศูนย์กลางของความรู้ทั้งจากคณาจารย์และนิสิตสู่ชุมชนและความรู้จากวิถีชีวิตและประสบการณ์ของชุมชนสู่คณาจารย์และนิสิตอันเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน

Life Style :วิถีชีวิตชุมชนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเกิดวัฒนธรรมของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่เร่งรีบมีศิลปะในการดำเนินชีวิตและเกิดกลุ่มชุมชนที่สนใจสุขภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ด้วยสภาพแวดล้อมที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจน่าจะดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ของอุทยานในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ได้หลายรูปแบบเช่นการออกกำลังกายการปั่นจักรยานการเรียนรู้พรรณไม้ศึกษาระบบนิเวศและการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อสังคม สมดังปณิธานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องการมอบพื้นที่นี้เป็น “ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม” ในวาระครบรอบ100 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย