One Bangkok พลิกโฉมวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยแบบก้าวกระโดด - room

เผยโฉมมาสเตอร์แพลน ONE BANGKOK โครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูสครบครันที่สุดของไทย

หากพูดถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจร และสมบูรณ์แบบที่สุดของไทย เราคงต้องพูดถึง “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) เป็นชื่อแรก ซึ่งปัจจุบันอาคารเดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก ที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการมิกซ์ยูสมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาทที่โลกจะต้องจับตามอง ก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนใครและถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานเผยโฉมมาสเตอร์แพลน “วัน แบงค็อก” ให้ทุกคนได้ชมภาพรวมอย่างเป็นทางการเป็นที่แรก

มาสเตอร์แพลน วัน แบงค็อก ประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอ อาคารพักอาศัยสุดหรู พื้นที่ร้านค้าปลีก โรงแรม และศูนย์กลางกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งมี Signature Tower ความสูง 430 เมตร ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 10 ตึกสูงที่สุดในอาเซียน เป็นจุดชมวิวแบบพาโนรามาแห่งใหม่ของเมือง ที่มุ่งหมายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก และวางเป้าหมายให้เป็นโครงการแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารระดับสากลอย่าง LEED และ WELL Platinum รวมถึงมาตรฐานการพัฒนาชุมชนแวดล้อม LEED Neighborhood Development Platinum

นอกจากนี้วัน แบงค็อก ยังจะกลายมาเป็นอาคารมาตรฐานใหม่ทั้งด้านการออกแบบ คุณภาพ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตแบบสมาร์ท ซิตี้ (Smart City Living) โดยมี 5 หัวใจสำคัญรวมเป็นหนึ่ง นั่นคือเมืองที่มีความครบครัน เพียบพร้อมด้วยอาคารสีเขียว พื้นที่ใช้สอยที่มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับผู้อยู่อาศัย พื้นที่ในโครงการสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยใหม่

คุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และคุณซู หลิน ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก (One Bangkok) ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัว ณ อาคารเดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก | ภาพ : One Bangkok

เชื่อมเมืองเป็นหนึ่ง

สำหรับ 4 อาณาบริเวณหลักที่เชื่อมต่อถึงกัน มีใจกลางของโครงการอยู่ที่ Civic Plaza พื้นที่สันทนาการขนาด 10,000 ตารางเมตร รอบล้อมด้วยพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่ไลฟ์สไตล์บริเวณส่วนล่างของตึก ส่วนพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยจะอยู่ส่วนบนของตึก ทุกพื้นที่ออกแบบให้สามารถเข้าถึงและการเดินเชื่อมกันอย่างสะดวกสบาย ทั้งภายในโครงการและระบบขนส่งสาธารณะพื้นที่โดยรอบอย่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี มีทางเข้าออกรอบโครงการ 6 จุด ทั้งจากฝั่งถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 รวมถึง ทางเชื่อมโดยตรงกับทางด่วนซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการอนุมัติ

One Bangkok

นอกจากนี้ยังมีทางเข้าออกเชื่อมต่อโดยตรงกับชั้นใต้ดิน ซึ่งใช้ระบบบริหารจัดการจราจรอย่างชาญฉลาด ช่วยให้การหมุนเวียนด้านการจราจรภายในสะดวกง่ายดาย ทำให้ถนนหลักภายในโครงการปลอดโปร่งและปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า ที่สำคัญคือวัน แบงค็อก ยังมีแผนสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้า ด้วยการออกแบบให้ถนนทุกสายและทุกซอยเชื่อมต่อกัน กระจายพื้นที่ร้านค้า ร้านกาแฟ งานศิลปะ และพื้นที่จัดกิจกรรมให้เชื่อมต่อกับทุกส่วน ตลอดแนวทางเดินร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ส่วนพื้นที่ในอาคารก็จะมีระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานอีกด้วย

ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจแห่งใหม่

ด้วยทำเลใจกลางเมือง วัน แบงค็อก จะกลายเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจแห่งใหม่ได้อย่างไม่ยาก ด้วยพื้นที่เช่าสุทธิของอาคารสำนักงานเกรดเอทั้ง 5 อาคารรวมกัน กว่า 500,000 ตารางเมตร จึงสามารถรองรับจำนวนบุคลากรขององค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ได้มากกว่า 50,000 คน อาคารสำนักงานทั้งหมดออกแบบตามมาตรฐาน LEED และ WELL พร้อมติดตั้งเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยกำหนดการก่อสร้างเป็นเฟสให้แล้วเสร็จในระหว่างปี พ.ศ. 2566-2569 นอกจากนี้ อาคารสำนักงานทั้ง 5 อาคารยังสอดคล้องกับการใช้พื้นที่รูปแบบมิกซ์ยูส ตอบโจทย์คนวัยทำงาน รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายรอบด้าน ที่เชื่อมต่อทุกมิติของ การใช้ชีวิต ทั้งการทำงาน และการพักผ่อนได้อย่างลงตัว

ที่หนึ่งของแหล่งช้อปปิ้ง

วัน แบงค็อก ยังได้คำนึงถึงนิยามใหม่ให้กับย่านช้อปปิ้งในกรุงเทพฯ นำเสนอมากกว่าทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการช้อปปิ้งและร้านอาหาร แต่จะเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกที่มอบความครบครัน พร้อมสรรพด้วยกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับผู้มาเยือน ซึ่งจะเนรมิตให้วัน แบงค็อกกลายเป็นสถานที่ที่ไม่หลับใหล นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่ให้แบรนด์ต่างๆ ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยพื้นที่รีเทล 4 โซน ที่มีความแตกต่างกันและเชื่อมต่อ ถึงกัน พร้อมด้วยร้านค้าและร้านอาหารรวมกันกว่า 450 ร้าน บนพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร รังสรรค์ประสบการณ์รีเทลที่แปลกใหม่และแตกต่าง ภายในที่แห่งเดียว ถือเป็นครั้งแรกของกรุงเทพฯ

One Bangkok

สถานที่พักผ่อนกลางกรุง

สำหรับโรงแรม 5 แห่งภายใน วัน แบงค็อก ทั้งหมดจะเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกที่โดดเด่นสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการบริการที่ดีที่สุด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครัน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับบูทีคโฮเทล โรงแรมเพื่อธุรกิจ ไปจนถึงระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ รวมกว่า 1,100 ห้อง โดยมีโรงแรมลักชัวรี่แห่งแรกคือ The Ritz-Carlton, Bangkok ที่จะพร้อมเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2566

ในส่วนที่พักอาศัยของ วัน แบงค็อก จะตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของโครงการ เพื่อมอบความสงบและความเป็นส่วนตัวของผู้พักอาศัย และเปิดรับวิวทั้งจากฝั่งถนนวิทยุและฝั่งสวนลุมพินี โดยมีอาคารที่พักอาศัยระดับลักชัวรี่ทั้งหมด 3 อาคาร พร้อมมอบเอกสิทธิ์แห่งการใช้ชีวิตที่มองเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติของสวนลุมพินี และวิวกรุงเทพฯ แบบพาโนรามาไร้สิ่งบดบัง ซึ่งที่พักอาศัยโครงการแรกจะตั้งอยู่เหนือโรงแรม The Ritz-Carlton, Bangkok ประกอบด้วยห้องที่ตกแต่งอย่างหรูหราขนาด 2-4 ห้องนอน จำนวน 110 ห้อง พื้นที่เริ่มต้นที่ 130 ตารางเมตร พร้อมเปิดตัวช่วงต้นปี พ.ศ. 2563

พื้นที่แห่งศิลปะและวัฒนธรรม

ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นอีกส่วนสำคัญที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการใช้ชีวิตแบบร่วมสมัยในเมือง โดย วัน แบงค็อก มุ่งที่จะเป็นเป้าหมายของแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ต้องมาเยือน และสร้างสีสันให้กับชุมชนด้วยศิลปะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ พื้นที่ทั้งหมดในโครงการจะเชื่อมต่อถึงกันด้วยงานศิลปะตามแนวคิด พหุประสาทสัมผัส เพื่อให้ผู้มาเยือนสัมผัสกับศิลปะรอบตัว นอกจากนี้ ยังมีฮอลล์เอนกประสงค์สำหรับจัด การแสดง พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ รวมถึงกิจกรรมศิลปะวัฒนธรรมตลอดทั้งปี

ที่สุดแห่งพื้นที่สีเขียว

วัน แบงค็อก ได้รับการออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมที่เชิญชวน ปลอดภัย และเต็มไปด้วยสีเขียวด้วยพื้นที่สีเขียวถึง 50 ไร่ จากพื้นที่รวม 104 ไร่ ซึ่งได้รับการจัดสรรให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้ผู้คนได้มาใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ซึ่งรวมถึง Civic Plaza ที่มีพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร สามารถเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงระดับนานาชาติและงานเทศกาลต่างๆ ของไทยได้ และสวนรอบโครงการทั้งทางฝั่งถนนวิทยุและถนนพระราม 4 ที่กว้างกว่า 40 เมตร ร่มรื่นด้วยต้นไม้ เปรียบเป็นส่วนต่อขยายของสวนลุมพินี

โครงการมิกซ์ยูสรักษ์โลก

นอกจากนี้ทั้งโครงการ วัน แบงค็อก จะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางสุดล้ำสมัย ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเอกชน ประกอบด้วยระบบทำความเย็น ระบบรักษาความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ ระบบการจัดการน้ำและพลังงาน ควบคุมดูแลโดยศูนย์ข้อมูล (District Command Centre) และเซ็นเซอร์อันชาญฉลาดมากกว่า 250,000 ตัว ที่คอยบริหารจัดการทุกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผสานนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนเข้ามาในทุกองค์ประกอบของโครงการ ช่วยให้ทุกคนที่อยู่ในวัน แบงค็อก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้มาเยือน และผู้อยู่อาศัย ล้วนได้รับประโยชน์จากการประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

 สำหรับควาบคืบหน้าของการก่อสร้าง งานเสาเข็มของโครงการได้สำเร็จลุล่วงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมเปิดเฟสแรกในปี พ.ศ. 2566 และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2569

One Bangkok

Site

ตัวโครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 104 ไร่ โดยเป็นเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งถึง 50 ไร่ ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ติดกับสวนลุมพินีให้ความรู้สึกเชื่อมโยงความร่มรื่นเสมือนเป็นส่วนต่อขยายของสวนลุมพินี อีกทั้งยังเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบขนส่งมวลชน และสามารถเชื่อมต่อกับระบบทางด่วนได้โดยง่าย รวมไปถึงทางเดินเท้าในพื้นที่โครงการเองก็มีขนาดกว้างขวางเพื่อให้ทุกการเข้าถึงโครงการเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย

 

* LEED: Leadership in Energy and Environmental Design หรือ LEED เป็นระบบการจัดเรตติ้งที่คิดขึ้นโดยสภาการก่อสร้างอาคารสีเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Green Building Council – USGBC) เพื่อประเมินผลงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาคาร และส่งเสริมวงการให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การออกแบบที่ยั่งยืน

** WELL: มาตรฐานอาคาร WELL เป็นมาตรฐานระดับสูงสุดที่ใช้กับอาคาร การออกแบบพื้นที่ภายใน และชุมชน มุ่งเน้นให้เกิดการออกแบบส่วนประกอบเพื่อการใช้งาน การทำให้เกิดความสมบูรณ์ และการวัดผล ที่สนับสนุนและพัฒนาสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์ กำหนดมาตรฐานโดย สถาบัน International WELL Building Institute ซึ่งตั้งอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี

เจ้าของโครงการ: บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด
และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ออกแบบผังโครงการ
: SOM (Skidmore, Owing&Merrill LLP)

ออกแบบสถาปัตยกรรม : Plan Associates , A49

พื้นที่อาคารรวม (GFA) : 1,830,000 ตารางเมตร


เรื่อง ND (เรียบเรียงจากเอกสารประชาสัมพันธ์) และ Ektida N.
ภาพ เอกสารประชาสัมพันธ์