BED ONE BLOCK HOSTEL โฮสเทลโดดเด่นด้วยเปลือกอาคารสีขาวสะอาดตา - room life

BED ONE BLOCK HOSTEL โฮสเทลโดดเด่นด้วยเปลือกอาคารสีขาวสะอาดตา

BED ONE BLOCK HOSTEL

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: A Millimetre

สภาพเดิมของโฮสเทล Bed One Block มีลักษณะภายนอกเช่นเดียวกับตึกแถวเก่าที่อยู่ข้างเคียง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่สถาปนิกจึงได้ทำฟาซาด จากโครงสร้างเหล็กสีขาวสะอาดตาชวนมอง ซึ่งเป็นลูกเล่นที่เกิดจากการทดลองใช้วัสดุ และเป็นวิธีการเดียวกันกับการออกแบบฟาซาดให้กับ Bed Station Hostel

หนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่ควบคู่มากับกระแสการกลับมาใช้งานอาคารเก่า ‘โฮสเทล’ ยังเป็นคำตอบอันดับแรก ๆ สำหรับแบ๊คแพ๊คเกอร์ทั้งหลายที่ต้องการที่พักราคาไม่แพงในย่านท่องเที่ยว เช่นเดียวกับโฮสเทลหลังใหม่เอี่ยมซึ่งตั้งอยู่ใกล้สี่แยกราชเทวีใจกลางกรุงเทพฯ ในบรรดาตึกแถวอายุกว่า 30 ปี ‘Bed One Block Hostel’ คือชื่อของโฮสเทลหน้าใหม่ที่โดดเด่นด้วยเปลือกอาคารสีขาวสะอาดตา สามารถเดินทางได้สะดวกสบายเพราะอยู่ห่างจาก BTS ราชเทวีเพียงอึดใจ

มุมหลังบ้านออกแบบใหม่ให้กลายเป็นโถงเล็ก ๆ พร้อมโต๊ะรับประทานอาหาร ให้ผู้เข้าพักสามารถใช้งานได้อย่างอิสระทั้งกลางวันและกลางคืน เชื่อมต่อกับส่วนจัดเตรียมอาหารภายในที่มีการใช้งานสาธารณะ

หลังจากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ Bed Station Hostel โฮสเทลหลังเดิมของเจ้าของโครงการซึ่งตั้งอยู่ในซอยเดียวกันเพียงไม่กี่ก้าว คราวนี้ทีมสถาปนิก ‘A Millimetre ได้กลับมาเป็นผู้รีโนเวตสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในอีกครั้งกับโฮสเทลหลังใหม่ที่มีขนาดพื้นที่เพียง 1 คูหา กว้าง 4 เมตร ซึ่งมาพร้อมคอนเซ็ปต์ใหม่จากเจ้าของที่ต้องการการตอบโจทย์ที่ต่างไปจากเดิม

กรอบหน้ากาก หรือ ฟาซาด ของอาคาร สถาปนิกทดลองสร้างความหมายใหม่ด้วยการใช้วัสดุที่พบเห็นได้ทั่วไปอย่างแผ่นเหล็กเจาะรู (Perforate Sheet) มาจับคู่กับแพตเทิร์นสามเหลี่ยมที่สับหว่างกัน ซึ่งอ้างอิงมาจากจากแพตเทิร์นของหลังคากระเบื้องว่าวอันเป็นแพตเทิร์นที่คุ้นตาของคนไทย สั่งตัดแผ่นเหล็กถอดมาจากขนาดของแผ่นกระเบื้องจริงเพื่อให้ได้สัดส่วนที่เนียนตา สะท้อนลักษณะความร่วมสมัยของทั้งวัสดุและวิธีการสร้างสถาปัตยกรรม

สิทธนา พงษ์กิจการุณ และ วิภาวี เกื้อศิริกุล สองผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบรุ่นใหม่ เล่าถึงเบื้องหลังการออกแบบกรอบหน้ากากอาคารสีขาวสะดุดตา ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนที่แสดงถึงการหวงแหนความเป็นส่วนตัวอันเป็นนิสัยพื้นฐานของนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย รวมถึงธีมและแนวคิดการกำหนดลักษณะพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ในโฮสเทลให้ฟังว่า

“ลูกค้าอยากให้โฮสเทลหลังนี้มีความเป็นเอเชีย มีพื้นที่ส่วนตัวมากหน่อย เพราะสังเกตได้จากนิสัยของแขกชาวเอเชีย พบว่าพวกเขาจะไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กันมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาอยู่แต่ในห้อง คนที่ออกมาร่วมกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลางหรือปาร์ตี้ตอนเย็นจะไม่ค่อยมีคนเอเชียเท่าไหร่นัก”

เมื่อเข้ามาด้านในจะพบกับบันไดสีขาวนำสายตาไปสู่ชั้นลอยซึ่งต่อเนื่องไปสู่ชั้น 2 ตกแต่งโถงต้อนรับด้วยโคมไฟแขวนเพดานและกระถางต้นไม้ช่วยสร้างบรรยากาศน่าพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีภาพกราฟิกสวย ๆ ผลงานโดย Studio Dialogue ช่วยสร้างกิมมิกให้สถานที่ ส่วนโถงทางเดินสีดำด้านข้างใช้เป็นทางสัญจรมุดผ่านบันไดไปสู่ส่วนครัวและพื้นที่พักผ่อนด้านหลัง
นอกจากใช้สัญจรภายในแล้ว บันไดนี้ยังได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่พักคอย นั่งพูดคุยกลุ่มเล็ก ๆ อ่านหนังสือหรือทำงานก็ได้ มีการจัดให้มีทั้งโต๊ะอ่านหนังสือเล็ก ๆ และหมอนอิงนุ่ม ๆ ไว้พร้อมบริการ

สังเกตได้จากการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่มีลักษณะไม่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์แบบกลุ่มใหญ่ อย่างบริเวณบันไดเหล็กปั๊มรู (Perforate Sheet) สีขาว ซึ่งใช้เชื่อมต่อระหว่างส่วนต้อนรับด้านหน้ากับชั้นลอย ขั้นบันไดแต่ละขั้นได้รับการออกแบบให้เป็นทั้งพื้นที่สำหรับนั่งเล่นพูดคุยกันกลุ่มเล็ก ๆ  ถ่ายรูป หรือนั่งรอเพื่อนเวลาสั้น  ๆ ก่อนชวนกันไปที่อื่น เพื่อให้ผู้คนยังสามารถปฏิสัมพันธ์กันได้ ในขณะที่ยังคงความเป็นส่วนตัวไว้บางส่วน อย่างการยื่นหดบันไดแต่ละขั้นให้เกิดมุมเหลื่อมซ้อนกันเพื่อให้เกิดการใช้งานหลากหลาย

ห้องพักตกแต่งด้วยผนังและฝ้าสีขาว ปูพื้นกระเบื้องยางลายไม้สีโอ๊กธรรมชาติเพื่อเพิ่มความรู้สึกอบอุ่น ตกแต่งคุมโทนด้วยเฟอร์นิเจอร์และม่านสีเทา มุมชิดขอบหน้าต่างของทุกห้องเหลือพื้นที่ไว้เล็กน้อย สำหรับจัดวางโซฟาใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางนั่งเล่นพักผ่อนได้

แนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวนี้ยังไปปรากฏอยู่ในห้องพักตลอดทั้ง 4 ชั้น ด้วยการกั้นพื้นที่ขึ้นมาใหม่และออกแบบให้มีขนาดกว้างพอสำหรับใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางเล็ก ๆ ที่ประกอบด้วยชุดโซฟาคู่โต๊ะอ่านหนังสือเล็ก ๆ สร้างบรรยากาศการพักผ่อนสำหรับคนที่ไม่ต้องการออกไปไหน ในขณะเดียวกันก็เหมาะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ โดยทุกคนสามารถมาใช้พื้นที่ส่วนกลางนี้เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ต้องไปรบกวนพื้นที่ส่วนกลางภายนอก

บริเวณพื้นที่ส่วนกลางในห้องพัก นอกจากจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ แล้ว ยังมีล็อกเกอร์ส่วนตัวของแต่ละคนด้วย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศโดยรวม ผู้ออกแบบจึงสั่งทำล็อกเกอร์พิเศษจากแผ่นเหล็กเจาะรู (Perforate Sheet) ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่สถาปนิกใช้ในการตกแต่งโฮสเทลแห่งนี้

เรื่อยมาจนถึงการกำหนดโทนสีของพื้นที่ต่าง ๆ ในโฮสเทล เพื่อแยกสเปซทั้งแบบส่วนตัวและกึ่งสาธารณะ  “เรามีสเปซเพียงแค่ตึกคูหาเดียว ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่ามีสองพื้นที่ที่ไม่เหมือนกันซ้อนทับกันอยู่ เราจึงเลือกใช้วัสดุหรือใช้สีที่ตรงข้ามกันอย่างสีขาว-ดำ เพื่อแบ่งความรู้สึกของการใช้งาน โดยสีขาวใช้แทนพื้นที่ส่วนตัว เช่น มุมล็อบบี้  บริเวณบันได ห้องนอน แต่ถ้าไปที่โซนด้านหลังตั้งแต่ครัวถึงหลังบ้านจะใช้สีดำ ซึ่งเรานึกภาพให้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะใช้จัดปาร์ตี้เล็ก ๆ หรือกิจกรรมที่ทุกคนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน”

BED ONE BLOCK HOSTEL
ปรับปรุงพื้นที่โดยยังใช้ประโยชน์จากช่องหน้าต่างเดิม ด้วยการนำแผ่นเหล็กเจาะรู (Perforate Sheet) มากรุลงไป ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี และเปิดให้แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้ามาในพื้นที่ได้ ไม่มืดทึบจนเกินไป นอกจากนี้ยังใช้โทนสีขาว-ดำตัดกันในการตกแต่ง เพื่อแฝงความรู้สึกเป็นส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

โถงทางเดินสีดำ – มุมแปรงฟันสีขาว – โต๊ะรับประทานอาหารสีดำ – ล็อกเกอร์สีขาว คือองค์ประกอบที่ปรากฏให้เห็นได้ในโรงแรม การใช้โทนสีที่ให้ความหมายมากไปกว่าการตกแต่ง นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศ ยังอาจช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้คน ‘รู้สึก’ ถึงความเป็นพื้นที่นั้น ๆ ได้โดยไม่รู้ตัว 

BED ONE BLOCK HOSTEL

เลขที่ 486/125 ซอยเพชรบุรี 16 ถนนพญาไท แขวง ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
โทร. 09-5595-9692
www.facebook.com/pg/bedoneblockhostel

เรื่อง Korakada
ภาพ ศุภกร, Jirayu Rattanawong wwwfacebook.com/astronutx
ออกแบบสถาปัตยกรรม A MILLIMETRE โทร. 08-9204-3406 www.facebook.com/A.Millimetre
ออกแบบกราฟิก Studio Dialogue

Bangkok Publishing Residence – รีโนเวตตึกแถวเก่า เป็นโรงแรมระดับไฮเอนด์สุดชิค D Hostel Bangkok – โฮสเทลรีโนเวต สไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ ในยุคคลาสสิก

Amdaeng hotel : “ อำแดง ” กลิ่นรักสดใหม่ในโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งล่าสุด