รับรองเลยว่า คุณต้องเคยผ่านตากับเครื่องเล่นซีดีแบรนด์มูจิที่ใช้เพียงการดึงเชือกเพื่อเปิดและปิดเพลง แม้เจ้าเครื่องนี้ออกแบบมาตั้งแต่ปี 1999 แต่ยังคงติดอันดับขายดีมาจนถึงปัจจุบัน ยุคที่ผู้คนเปลี่ยนไปฟังเพลงด้วยไฟล์ดิจิทัลกันหมดแล้ว เช่นเดียวกับดีไซเนอร์ คุณนาโอโตะ ฟุกาซาวา ที่ยังคงสร้างเซอร์ไพร้ส์ในความเรียบง่ายของโปรดักต์ที่เขาออกแบบ ทั้งจากรูปลักษณ์และวิธีการใช้งาน
คุณนาโอโตะเริ่มจับเอกลักษณ์งานออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนได้เมื่ออายุ 35 ปี จากการสั่งสมประสบการณ์ตามแนวคิดที่ว่า ดีไซน์คือการคำนึงถึงผู้ใช้งาน เวลาลงมือออกแบบจะได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของตัวเองว่าควรออกแบบไปในทิศทางไหน ผลงานของเขาจึงเป็นทั้งการสร้างวัตถุชิ้นใหม่และเติมเต็มความต้องการได้อย่างสมบูรณ์แบบในเวลาเดียวกัน
“สำหรับผมงานดีไซน์เป็นเรื่องของความสัมพันธ์อันดีระหว่างตัวโปรดักต์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม เริ่มจากสร้างเส้นเอ๊าต์ไลน์ในอากาศเอ๊าต์ไลน์ในที่นี้ไม่ใช่เส้นแบ่งข้างในกับข้างนอก แต่เป็นการตระหนักถึงความสมดุลระหว่างตัววัตถุและอากาศไปพร้อม ๆ กัน ยกตัวอย่างจิ๊กซอว์ ชิ้นสุดท้ายที่ขนาดไม่พอดีกับช่องว่างของชิ้นที่หายไปก็เหมือนกับถ้าโฟกัสแต่ที่ตัววัตถุอย่างเดียวอาจไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงก็ได้”
งานออกแบบอินทีเรียร์ก็เป็นอีกงานที่คุณนาโอโตะสนใจ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีหลอมรวมไปกับการดำรงชีวิต ยิ่งเป็นความท้าทายว่าจะออกแบบพื้นที่อย่างไรให้ทั้งใช้งานสบายและสวยงามนำมาสู่การร่วมงานกับบริษัทเอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในการออกแบบ Limited Edition Units Designed by Naoto Fukasawa ณ โครงการ RHYTHM “The Slow Collection” สาทรกับห้องพัก 2 แบบ 2 คอนเซ็ปต์ คือ Archetype ห้องวิวโค้งแม่น้ำ และ Absence ห้องวิวเมือง
“สมัยนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่องปรับอากาศหรือโทรทัศน์ถูกทำให้บางลงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จนแทบไม่ได้เป็นจุดสนใจในห้อง แต่ของที่ยังคงต้องมีอยู่คือเฟอร์นิเจอร์ ผมเลยมองงานดีไซน์ในอนาคตเป็นเรื่องของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เราต้องมองเห็นทุกวัน พอโยงมาถึงการออกแบบพื้นที่ ผมเลยต้องทำโมเดลเสมือนจริงเพื่อหามุมที่มองแล้วสวยเป็นหลัก แทนที่จะออกแบบจาก top view ทั้งที่ในชีวิตจริงเราไม่เคยมองจากมุมนั้นเลย แล้วโฟกัสไปที่หน้าต่างซึ่งเป็นจุดเดียวที่เปิดมุมมองจากภายในสู่ธรรมชาติ”
ความเรียบง่ายที่ออกมาจากฝีมือและสายตาคุณนาโอโตะ คือความงามตามธรรมชาติตามความเชื่อที่ปลูกฝังในหัวใจของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้ทิ้งท้ายให้เห็นภาพได้ชัดเจน “อย่างการวางแจกันดอกไม้ ถ้ามีข้าวของมากมายอยู่รอบแจกัน ก็ไม่ทำให้ห้องดูสวยงามขึ้นมา แต่เพียงเคลียร์โต๊ะให้โล่ง เท่านี้แจกันดอกไม้ก็ดูโดดเด่นขึ้นได้ การสร้างแบ๊คกราวนด์จึงเป็นการทำให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของของสิ่งนั้น เพราะธรรมชาติเป็นสิ่งมหัศจรรย์”