จากปลายปากกาของพีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ สู่การ์ตูนสุดคิ้วท์ของ งานสถาปนิก’60 - room

จากปลายปากกา (คอมพิวเตอร์) ของพีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ สู่การ์ตูนสุดคิ้วท์ของงานสถาปนิก’60

หลังจบ งานสถาปนิก’60 นี้ เชื่อว่าหลายคนคงจดจำการ์ตูนสีสดที่วิ่งเล่นอยู่ทั่วชาเลนเจอร์ฮอลล์ของอิมแพ็คเมืองทองธานีได้แม่น เพราะดูจากปริมาณคนที่แวะเวียนเข้าออก “ASA Shop” ร้านขายของที่ระลึกในงาน ก็ดูเหมือนว่าเหล่าตัวการ์ตูนทั้งหลายจะได้เกาะเกี่ยวไปตามกระเป๋า เสื้อยืด เข็มกลัด รวมไปถึงสติกเกอร์ติดมือคนที่มาเยี่ยมเยียนแฟร์ของสถาปนิกไปไม่น้อยทีเดียว

พี – พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ ในนามของ P. Library Design Studio คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังชีวิตของเหล่าตัวการ์ตูนมากคาแร็คเตอร์ และผู้สาดสีชมพู – เขียว – เหลือง – ม่วงสดใส ให้กับคอนเซ็ปต์ “บ้าน บ้าน” ประจำ งานสถาปนิก’60 Room ได้คุยกับเขาสั้น ๆ ก่อนที่นิทรรศการใหญ่ประจำปีจะหมดเวลาลง ในเรื่องที่เขายังไม่ได้บอกใคร แต่ก็ไม่แน่ ตัวการ์ตูนทั้งหลายของเขา อาจกระซิบอยู่เบา ๆ ก็เป็นได้

ทำไมถึงเลือกใช้การ์ตูนคาแรคเตอร์นี้ในงานออกแบบ
ปกติวิธีการทำงานของเรา คือเราจะคิดอะไรเป็นการเล่าเรื่อง พอมาถึงงาน  ASA ปีนี้ ในตอนที่เราจะไปเสนองาน เราก็รู้สึกว่า อยากจะลองของใหม่ คือแทนที่จะทำเป็นลายกราฟฟิกอะไรบางอย่างลงบนพื้นผิว เราก็วาดการ์ตูนไปเลย ก็ลองดูว่ามันจะสามารถตอบโจทย์เรื่องความหมาย เนื้อเรื่อง หรืออะไรต่าง ๆ ที่เราคิดไว้ได้ไหม

ความเป็นการ์ตูน ตอบรับกับวิธีเล่าเรื่องของคุณ
ใช่… คือก่อนหน้านี้เราทำแอนิเมชัน ทำวิดีโอมาเยอะ วิธีคิดมันจึงเป็นอัตโนมัติ ถ้าให้ทำโมชั่นกราฟฟิก แบบกราฟฟิกเพียว ๆ เป็นเส้นแอ็บสแตร็กวิ่งไปวิ่งมา เราอาจจะไม่ค่อยถนัด เราเลยคิดจากพื้นฐานว่าเราจะพูดอะไรบางอย่าง เราจะเล่าอะไรบางอย่าง เราเคยทำไตเติ้ลรายการทีวี แล้วมันก็ออกมาเป็นกึ่ง ๆ การ์ตูนสั้น กึ่ง ๆ หนังสั้นอะไรอย่างนั้นไป มันเป็นวิธีคิดพื้นฐานของเราที่มันเป็นอัตโนมัติ

ทำไมจึงคิดว่า การเล่าเรื่องโดยใช้ตัวการ์ตูน เหมาะกับงานสถาปนิก “บ้าน บ้าน
อย่างหนึ่งเลย คือทางกรรมการมีประเด็นหนึ่งที่อยากให้คิดในการนำเสนองาน คือเขาอยากให้มันเข้าถึงง่าย ซึ่งการใช้การ์ตูนสามารถสื่อสารในระดับที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ง่าย

เวลาเราทำงาน เราจะสื่อสารในหลายระดับนะ เราชอบที่จะทำงานให้มันมีระดับต่าง ๆ ของการสื่อสารอยู่ คือถ้าคนที่ไม่ได้รู้อะไรมาก่อน มาเห็นก็จะจับต้องได้ว่า โอเค มันมีตัวผู้หญิง ผู้ชาย มันมีสิ่งของที่เขาจับต้องได้ คือยังไม่ต้องตีความอะไรลึกซึ้ง ก็พอจะรู้ว่า งานนี้พูดถึงอะไรอยู่

ส่วนการตีความคำว่า “บ้าน บ้าน” อย่างงานที่เราทำนี้ คือเราไม่ได้พูดถึงในแง่ของความหมาย แบบ บ้าน ๆ หรือ ชาวบ้าน ๆ อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นความหมายรองด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่า พอพูดถึงคำว่า “บ้าน” มันมีหลายนัย หรือมันมีความหมายที่คนทั่วไปกับสถาปนิกก็มองต่างกันอยู่ เพราะฉะนั้น ในงานนี้ สิ่งที่เราอยากจะพูดก็คือ “บ้าน” หรือจะหมายถึง “บ้านในปี 2017” นี้ มันจะเป็นอย่างไรได้บ้างเราไม่ได้ตัดสินว่ามันจะเป็นแบบไหน ดังนั้น วิธีที่เราใช้สื่อความหมายคือ เราไม่ใช้บ้านมาประกอบเป็นรูปแบบชัดเจน แต่เราแยกชิ้นส่วนของบ้านออกมา แตกทุกอย่างออกมา แล้วเราก็จับของที่มันลอยไปลอยมาพวกนี้ไว้ด้วยกัน คือจะไม่เห็นฟอร์มของบ้านชัดเจน แต่เป็นสิ่งที่คนทุกคนที่มางาน จะสามารถประกอบสิ่งเหล่านั้นให้เป็นบ้านของตัวเองในหัวได้ ก็เป็นความหมายอีกระดับหนึ่งที่เราใส่ไว้ในงาน

งานสถาปนิก’60

เป็นนัยอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่ข้อความแอ็บสแตร็ค ที่ต้องตีความมากมาย
ใช่ ๆ อย่างที่บอกว่าพอมันเป็นการ์ตูน มันก็จะเกิดการจับต้องได้ ว่าตัวนี้มันเดินนะ ตัวนี้มันวิ่งนะ ตัวนี้เปิดประตูนะ ตัวนี้คุยกัน อะไรแบบนี้ เราก็ใช้ความที่มันเป็นการ์ตูนนี่ ไปเล่าเรื่องราวให้คนได้

เรื่องที่ต้องการจะเล่า มีเรื่องอะไรบ้าง
ขอบเขตเรื่องที่จะเล่าในตอนแรก ๆ เลย หนึ่ง คือเรื่องฟังก์ชันของบ้านที่เปลี่ยนแปลงไป บ้านแต่เดิมอาจเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเดียว แต่บ้านสมัยใหม่ก็อาจจะเป็นร้านอาหาร เป็นโฮมออฟฟิศหรือใช้ประกอบธุรกิจ สอง คือเรื่อง “Construction and Technology” เรื่อง “Smart Home” เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันส่งผลต่อการออกแบบอย่างไร สามคือความเชื่อ – ฮวงจุ้ย ซึ่งเรื่องพวกนี้คือเรื่องที่เราคิดเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่องที่มีกำหนดในนิทรรศการต่าง ๆ อยู่แล้ว

จะสังเกตว่าคาแร็คเตอร์ของตัวการ์ตูนมักทำท่าทางแปลก ๆ เช่นเดินผ่านประตู, มุดผ่านรู, หรือปีนป่ายไปมา
ต้องแยกออกเป็น 2 ชุดนะ เราจะมีคาร์แร็คเตอร์หลักอยู่ 4 ตัว คือพ่อ แม่ แล้วก็ลูกสาว ลูกชาย การมุดไปมุดมานี่มันคือการค้นหาความหมายของบ้าน การค้นหาสิ่งที่มันเป็นอื่น ๆ ของบ้าน แล้วไอเดียที่คิดไว้ตั้งแต่แรก ๆ คือพยายามจะให้ทุกตัวแต่งตัวเป็นชุดอยู่บ้าน

พอมาในช่วงที่ทำงาน แต่ละนิทรรศการมีเรื่องราวของเขาชัดเจน แล้วก็หลากหลายมาก ทั้งนิทรรศการ Reconsidering Dwelling หมอบ้าน บ้านไทยบ้านใคร ที่แตกต่างกันทั้งหมด แต่ละเรื่องก็มีเนื้อหาเฉพาะ ก็เลยกลายเป็นว่าเจ้า 4 ตัวนี้ไม่พอ ที่จะเอาไปพูดในเนื้อหาทั้งหมดได้ จำเป็นต้องมีคาแร็คเตอร์อีกชุด มีตัวละครอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น “หมอบ้าน” เราทำเป็นบ้านเดินมาหาหมอ เป็นคนใส่กล่องรูปบ้าน เป็นตัวพ่อตัวแม่นี่ล่ะ ไปอยู่ในกล่องแทน บนหลังคามีแผล หรืออย่าง “บ้านบ้านตัวอย่าง” เราก็ทำเหมือนเป็นแฟชั่นโชว์เสียเลย เอาบ้านมาเดิน เป็นไอเดียต่อเนื่อง สุดท้ายก็เป็นลักษณะนี้ เราใช้คาแร็คเตอร์พวกนี้ ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละเรื่องของชุดนิทรรศการที่ต้องเล่า

ตัวละครเหล่านี้เรียกว่าเป็นลายเส้นเฉพาะตัวของคุณหรือเปล่า
คำถามนี้เราตอบไม่ได้นะ (หัวเราะ) นึกออกไหม มันเป็นสิ่งที่คนอื่นต้องบอกเรามากกว่าที่จะให้เราบอกว่าอันนี้มันเป็นลายเส้นเฉพาะตัวของเรา ถ้าถามว่าทำไมมันถึงเป็นลายเส้นอย่างนี้ เราบอกได้เลยว่ามันเกิดจากสื่อที่เราใช้ มาจากเครื่องมือที่เราใช้

คือเจ้าตัวพวกนี้เกิดมาจากลายเส้นในไอแพด เราวาดด้วยปากกาบนไอแพด มีอยู่แอพหนึ่ง ที่ได้เส้นแบบนี้ ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! เส้นแบบนี้โอเคเลย แต่ก่อนหน้านี้ เราทำงานเราก็จะวาดรูปด้วยวิธีอื่น เส้นก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แม้ว่าหน้าตาตัวการ์ตูนอาจจะคล้ายกัน คนเห็นก็อาจจะจำได้ แต่ดีเทลก็จะแตกต่างกัน อย่างเมื่อก่อนใช้ปากกา Walcom วาดกับ Flash (โปรแกรม Adobe Flash) ตัวมีเดียของ Flash มันก็จะคำนวณเส้นให้ที่ไม่เหมือนกับเส้นแบบนี้

แต่สิ่งที่อาจจะเหมือนก็คือโครงสร้าง หน้าตา วิธีการแสดงออก น่าจะเป็นตัวเราที่เราหนีไม่ได้ แต่ดีเทลของแต่ละรูปแบบก็เปลี่ยนแปลงไปตามเครื่องมือที่เราใช้

แต่ละตัวมีชื่อไหม
แรก ๆ เขาอยากให้มันมีชื่อนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ตั้ง

มีชื่อตัวลูกสาวเรียกกันว่า “จอย” เพราะมันดูแรดหน่อย (หัวเราะ) แรก ๆ ก็ไม่ได้ขนาดนี้ แต่หลัง ๆ ก็ลองวาดให้ตัวนี้เป็นคาแร็คเตอร์ที่ร่าเริงเกินพิกัด หรืออย่างเด็กผู้ชายก็เป็นดูกล้า ๆ กลัว ๆ หน่อย

คือเราก็แอบใส่อะไรบางอย่างลงไป ถ้าไปดูชุดที่เป็นเรื่องของนอกบ้าน พวก ASA Market, ASA Play อะไรพวกนี้ จะมีตัวละครแปลก ๆ เป็นตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคนนั้นคนนี้ซ่อนอยู่ ไม่บอกแล้วกันว่ามีใครบ้าง (เป็นความลับ)

วันนี้พอใจกับผลงานของตัวเองแค่ไหน
หลาย ๆ คนก็ถามนะ เราก็บอกว่าอันนี้เป็นเวอร์ชั่น Beta ทำเสร็จแล้วเราก็รู้สึกว่ามันยังมี Bug ยังมีปัญหาของระบบในเชิงกราฟฟิกที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ฝ่ายอื่นสามารถนำไปทำต่อได้อย่างราบรื่น เราก็คงต้องใช้เป็นบทเรียนเพื่อปรับแก้ในการทำงานอื่น ๆ ต่อไป หรือถ้าวันดีคืนดีได้กลับมาทำงานให้ ASA อีกครั้ง เราก็รู้ว่าจะต้องจัดการกับเรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างไรในอนาคต

 

เรื่อง : Korakada
ภาพ: Supawan Sa-ard