/ ส่วนผสมงานออกแบบสไตล์เวียดนามที่ลงตัว /
นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เป็นเมืองที่มีการจราจรคับคั่งเต็มไปด้วยรถจักรยานยนต์ กลุ่มควันที่หนาแน่นทำให้ผู้คนเริ่มอยากออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตชานเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์กันมากขึ้น เช่นเดียวกับ คุณ Le Canh Van เจ้าของบ้านหลังนี้ ที่ตัดสินใจสร้าง บ้านอิฐบล็อก หลังใหม่ของครอบครัว เพื่อสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติในแบบที่เขาเลือกเอง
บ้านหลังนี้อยู่ห่างจากทะเลเพียงแค่ 30 กิโลเมตรในเขตมหานครที่มีสนามบินของตัวเอง ท่ามกลางอากาศที่สดชื่นและเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร
“เราอยู่กันแบบครอบครัว มีทั้งพ่อแม่และลูก ๆ ผมจึงอยากได้บ้านที่ดูทันสมัยแต่รู้สึกสบาย และอยากให้มีธรรมชาติอยู่รอบ ๆ บ้าน” เจ้าของบ้านเล่าถึงจุดเริ่มต้นการออกแบบบ้านหลังนี้ ก่อนจะแนะนำให้รู้จักเพื่อนของเขา คือ คุณ Dang Huy Cuong เจ้าของบริษัท i.House Architecture and Construction สถาปนิกที่ปั้นไอเดียของเขาให้เป็นจริง เมื่อถึงเวลาที่เริ่มโปรเจ็กต์บ้านหลังนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สถาปนิกต้องการย้ายฐานที่ตั้งบริษัทมาอยู่ในโฮจิมินห์ จากแค่ออกแบบบ้านให้เพื่อน จึงกลายเป็นการออกแบบออฟฟิศของตัวเองร่วมด้วย
บนพื้นที่หน้ากว้าง 5 เมตร ลึก 15 เมตร สถาปนิกตัดสินใจออกแบบบ้าน 3 ชั้น ให้เปิดคอร์ตกลางบ้านเป็นลานโล่งเพื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ภายในบ้าน ปล่อยให้มีแสงแดดเข้ามาอย่างเป็นธรรมชาติ และระบายอากาศได้ดีตามความต้องการของเจ้าของบ้าน
ด้านหน้าอาคารภายใต้ฟาเซดซีเมนต์บล็อกกับแพตเทิร์นการจัดเรียงแบบปิดทึบ เราจะเห็นสีเขียวของต้นไม้แทรกตัวออกมาจากช่องสี่เหลี่ยมสีขาวบนชั้นสอง ส่วนด้านล่างในจุดที่ดูคล้ายโรงรถออกแบบเป็นออฟฟิศขนาดเล็ก แบ่งสัดส่วนพื้นที่การใช้งานและเส้นทางสัญจรไว้อย่างลงตัว
ประตูไม้สีน้ำตาลออกแดงบานใหญ่ทางขวามือเปิดต้อนรับเราสู่ตัวบ้าน เราเดินผ่านทางเดินแคบ ๆ ที่นำไปสู่โถงกลางบ้าน จากความรู้สึกปิดทึบจนเกือบอึดอัดกลับกลายเป็นความสว่าง โปร่งโล่งอย่างฉับพลัน สถาปนิกได้ปล่อยให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของบ้านเป็นโถงบันไดสูง 3 ชั้นจนถึงหลังคาสกายไลท์เปิดให้แสงแดดทอดเงาผ่านโครงสร้างและเส้นสายอาคารลงมา จนเกิดแพตเทิร์นที่เคลื่อนไหวตามทิศทางของแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาของวัน
กำแพงที่กั้นพื้นที่ระหว่างออฟฟิศและตัวบ้านเลือกใช้ซีเมนต์บล็อก มีช่องโปร่งให้แสงส่องถึงและระบายอากาศได้ดี ลวดลายของซีเมนต์ชุดนี้เป็นลายท้องถิ่นเฉพาะของเวียดนามซึ่งเข้ากับสไตล์บ้านได้ดี
การปิดทึบด้านหน้าและการเปิดโล่งเพื่อรับแสงแดดจากด้านบนนี้เป็นหนึ่งในการออกแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานสไตล์เวียดนาม กล่าวคือโครงสร้างอาคารเป็นแบบแน่นหนาปิดทึบ เพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นผลมาจากความหวาดกลัวภายหลังสงครามที่มีมายาวนานหลายสิบปี ในขณะที่การเปิดพื้นที่กลางบ้านเพื่อรับแสงและมีคอร์ตสวนเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง ก็เป็นหนึ่งในสิ่งตกทอดของสถาปัตยกรรมแบบจีนหรือ Chinese Courtyard House ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ด้วยความที่ลักษณะที่ดินเป็นแบบหน้าแคบแต่ลึกยาว การเปิดคอร์ตกลางบ้านทำให้พื้นที่การใช้งาน ถูกแบ่งออกเป็น 2 ปีก และมีทางเดินเชื่อมตรงกลางในแต่ละชั้น เริ่มจากชั้นหนึ่ง ด้านหน้าสุดเป็นออฟฟิศแยกทางเข้ากับตัวบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัวและไม่รบกวนกัน ถัดเข้ามาคือลานกลางบ้านทำหน้าที่เป็นสวนหย่อมเล็ก ๆ และเพลย์กราวนด์สำหรับลูกชายและลูกสาววัย 5 และ 7 ขวบ โดยพวกเขาสามารถใช้เวลาในวันหยุดหรือหลังเลิกเรียนมาช่วยกันดูแลต้นไม้และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคุณปู่คุณย่าได้เลย ส่วนด้านในสุดเป็นห้องครัวและส่วนทำอาหารขนาดใหญ่ ใช้เคาน์เตอร์ครัวแบบไอส์แลนด์และกำแพงอิฐสีขาว ให้ความรู้สึกเรียบนิ่ง มีสเปซเปิดโล่งนำไปสู่ส่วนหย่อมขนาดเล็กด้านหลังสุดของบ้านการทำกำแพงสองชั้นช่วยลดความร้อนจากภายนอกได้ดี ช่องว่างระหว่างฟาเซดและกำแพงสามารถดัดแปลงปลูกต้นไม้ขนาดเล็กไปจนถึงพืชผักสวนครัวได้ นอกจากจะเป็นการดึงเอาธรรมชาติเข้ามาสู่ตัวบ้านแล้ว ยังช่วยให้สบายตาและมีกิจกรรมสำหรับครอบครัวในวันหยุดด้วย
เจ้าของบ้านบอกว่า พื้นที่ชั้นล่างทั้งหมดนี้เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนรวมของครอบครัว “ผมมีบ้านอยู่สองที่ ทั้งฮานอยและโฮจมินิห์ แต่หลัก ๆ ผมจะอยู่ที่โฮจิมินห์มากกว่า นาน ๆ ครั้งพ่อกับแม่จะเดินทางมาเยี่ยม ผมจึงอยากให้ท่านอยู่ที่นี่ได้อย่างสบายใจ ซึ่งกลายเป็นโจทย์ที่ผมมอบให้สถาปนิกด้วย”
ด้านสถาปนิกได้กล่าวเสริมว่า “ผมตั้งใจออกแบบให้คุณพ่อกับคุณแม่ของเจ้าของบ้านสามารถทำกิจกรรมร่วมกับหลาน ๆ ได้ในบริเวณนี้ จึงทำพื้นที่สีเขียวแบบโอเพ่นสเปซให้มีขนาดกว้างขวางมากพอสำหรับทุกคน”
เมื่อขึ้นไปบนชั้น 2 ส่วนหน้าสุดมีช่องว่างระหว่างตัวอาคารและฟาเซดซีเมนต์บล็อก สถาปนิกออกแบบให้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อดึงพื้นที่สีเขียวเข้าสู่ห้องนั่งเล่น ส่วนปีกซ้ายแบ่งเป็นห้องนอนของลูกทั้งสองคนและห้องเด็กเล่น ส่วนบนชั้น 3 แบ่งพื้นที่ปีกขวาเป็นห้องนอนใหญ่ ปีกซ้ายคือห้องซักล้างและห้องพระสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่นับถือศาสนาพุทธ
นอกจากจะแบ่งพื้นที่ใช้สอยบนอาคารตามแนวยาวทั้งสามชั้นอย่างลงตัวแล้ว วัสดุที่ใช้ตกแต่งยังแสดงถึงการผสมผสานความเป็นท้องถิ่นเวียดนามเข้ากับโครงสร้างสไตล์โมเดิร์นด้วย ตั้งแต่การเลือกคุมโทนสีของบ้านให้เป็นสีขาว – ดำ สีคลาสสิกตลอดกาลที่ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและสวยงามอย่างลงตัว สถาปนิกอธิบายว่า “สีขาว – ดำเป็นความชอบของเจ้าของบ้าน ประจวบเหมาะกับคอนเซ็ปต์สีขาว – ดำให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติได้ดีจึงแทบไม่ใช้สีอื่นเลยนอกจากสีของไม้ธรรมชาติเท่านั้น ยกเว้นในส่วนของห้องน้ำที่เลือกใช้กระเบื้องลายวินเทจเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ”
ส่วนการเลือกใช้ซีเมนต์บล็อกในการตกแต่งเป็นหลักถือเป็นการหยิบวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่าย มีราคาถูก และแข็งแรงทนทานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น รวมไปถึงไม้ที่เลือกใช้ยังเป็นไม้ท้องถิ่นของเวียดนาม ให้สีอมแดงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ภายใต้บรรยากาศของบ้านสีขาวสไตล์โมเดิร์นหลังนี้เราได้กลิ่นอายความเป็นเวียดนามในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แสดงถึงความใส่ใจของเจ้าของบ้านและสถาปนิก นอกจากจะหมายถึงการใช้ชีวิตที่อบอุ่นภายในครอบครัวนี้แล้ว ยังสะท้อนกระแสการออกแบบสมัยใหม่ในเวียดนาม ทำให้เราเห็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงความทันสมัยกับความเป็นท้องถิ่นให้เดินเคียงกันไปอย่างกลมกลืน
เจ้าของ : คุณ Le Canh Van
ออกแบบ : i.House Architecture and Construction
เรื่อง กษมา
ภาพ นันทิยา, ดำรง
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : January 2015 No.143
อ่านต่อ 10 บ้านโชว์ผนังอิฐเปลือย ดีไซน์หล่อเท่ ทุกตารางเมตร!