วันนี้ บ้านและสวน ขอเอาใจคนรักธรรมชาติด้วยการพาไปเที่ยวชม “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ใครที่ชื่นชอบดอกไม้ สถานที่แห่งนี้จะทำให้คุณได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับงานดอกไม้ประดิษฐ์ และมาร่วมดื่มด่ำไปกับบรรยากาศสวนสวยๆ พร้อมจิบชาดอกไม้เคล้าเสียงเพลงเพราะๆ รับรองว่าคุณจะหลงรักและเพลิดเพลินจนลืมเวลาเลยทีเดียว
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้มีจุดเริ่มต้นจาก คุณสกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติ ต้องการเผยแพร่ความรู้และสืบสานวัฒนธรรมงานดอกไม้ไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2555 ภายในบริเวณบ้านโบราณสไตล์โคโลเนียลอายุกว่าร้อยปีในซอยองครักษ์ เดิมพื้นที่ในซอยนี้เป็นที่ดินพระราชทานของรัชกาลที่ 6 เพื่อให้เป็นที่พำนักของเหล่าองครักษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถนนบริเวณหน้าบ้านเคยเป็นคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน
**แนะนำให้มาช่วงเช้า เนื่องจากบริเวณพิพิธภัณฑ์มีที่จอดรถจำนวนจำกัดและซอยค่อนข้างแคบ โดยจะเปิดให้เข้าชมรอบแรก เวลา 10.30น. วันละ 7 รอบ ใช้เวลารอบละประมาณ 1 ชั่วโมง
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์นั้นแวดล้อมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม ดูร่มรื่นสบายตา โดยปลูกพรรณไม้มงคลตามความเชื่อของคนไทย เช่น อโศก ชีวิตจะได้ไม่เศร้าโศก มีแต่ความสุข มะม่วง เชื่อว่าจะร่ำรวย อยู่สุขสบาย และไม้โบราณอย่างเต่าร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเลือกสรรงานศิลปะมาแขวนตกแต่งตามต้นไม้ได้อย่างสวยงาม พร้อมจัดมุมนั่งเล่นหน้าบ้านสำหรับให้ผู้มาเยือนได้นั่งพักผ่อน
หากใครมาถึงก่อนเวลาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แนะนำให้เดินชมบรรยากาศรอบบ้านและสวนบริเวณด้านในซึ่งจะมีร้านน้ำชา Salon du thé ตั้งอยู่บริเวณระเบียงบ้าน สามารถมานั่งจิบชา พร้อมเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงบรรเลงที่เปิดคลอเบาๆ และดื่มด่ำกับความสดชื่นจากไม้ใบไม้ดอกของไทยนานาชนิดที่ปลูกรายรอบ เช่น ดอกพุด ดอกรัก นอกจากนี้ยังมีศาลาไทยกลางสวนสำหรับให้ผู้มาเยือนได้นั่งเล่นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ชมวิวสระน้ำ ซึ่งในบริเวณนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานปาร์ตี้หรืองานแต่งงานสไตล์ไทยโบราณได้อีกด้วย
สำหรับการเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์เริ่มจากการซื้อบัตรเข้าชม ราคา 150 บาท หรือจะซื้อแบบแพ็คเกจ ราคา 350 บาท ซึ่งจะประกอบด้วยบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์และชุดน้ำชาพร้อมขนมไทยโบราณหารับประทานยาก ความพิเศษอยู่ที่มีชาดอกไม้กลิ่นต่างๆให้คุณได้เลือกลิ้มรส เช่น ชาพะยอม ชากุหลาบ ชาหอมหมื่นลี้ ฯลฯ
**สำหรับชุดน้ำชายามบ่ายมีให้เลือกทั้งแบบร้อนและเย็น รวมถึงขนมที่มีที่มาจากหลายประเทศ อาทิ ขนมไทย อย่างถั่วแปบ ขนมชั้น ขนมญี่ปุ่น และขนมอินเดีย
ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นห้องจัดแสดงต่างๆ 7 ห้อง ได้แก่ ห้องภาพดุสิต รวบรวมรูปภาพเกี่ยวกับงานจัดดอกไม้ประเภทต่างๆในอดีตจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ จัดแสดงเรื่องราวของวัฒนธรรมการจัดดอกไม้จากที่ต่างๆในโลก รวมถึงของสะสมที่เกี่ยวกับงานดอกไม้จากประเทศต่างๆที่คุณสกุลได้เดินทางไปเยือน เช่น ตำราลับการจัดดอกไม้ของญี่ปุ่นแบบโชกะของอิเคโนโบะ หนังสือม้วนโบราณที่หาได้ชมได้ยาก อุโบสถดอกไม้ เรื่องราวของงานประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ประจำจังหวัดเลยที่หลงเหลืออยู่เพียงจังหวัดเดียวในไทย หอมรดกวัฒนธรรมดอกไม้ มีให้ชม 2 ห้อง จัดแสดงงานศิลปะจากดอกไม้ เช่น งานมาลัย งานพานพุ่ม ฯลฯ ปากกาและดินสอ นำเสนอผลงานสเก็ตช์ของคุณสกุลที่ได้ออกแบบงานดอกไม้ในงานต่างๆ เช่น พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสุดท้ายคือ หัวใจแห่งการจัดดอกไม้สมัยใหม่ จัดแสดงงานจัดดอกไม้สมัยใหม่ที่คุณสกุลคิดค้นขึ้น
**พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีมัคคุเทศก์พาชมทั้งรอบภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น คุณสามารถชวนเพื่อนชาวต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมไทยเข้าชมได้ แต่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ และสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปงานดอกไม้ประดิษฐ์แบบต่างๆ สามารถสมัครเข้าร่วมได้ อาทิ มาลัยรูปกระแตน้อย งานประดิษฐ์ดอกไม้เล็กของไทย การพับดอกบัวหลากหลายแบบ ม่านมาลัยดอกไม้ เป็นต้น
ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้หลงรักโลกแห่งดอกไม้ นอกจากจะได้ชื่นชมความสวยงามของงานดอกไม้แบบไทยๆ ซึ่งบางชิ้นงานหาชมได้ยากในปัจจุบันแล้ว ยังได้รับความรู้และทึ่งกับศิลปวัฒนธรรมไทยที่หลายคนอาจมองข้ามด้วย ภายใต้บรรยากาศอันร่มรื่นของสวนสวยที่ผสมผสานกลิ่นอายแบบไทยและตะวันตกได้อย่างลงตัว
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ (The Museum of Floral Culture)
– เปิดให้ชมวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)
– โทรศัพท์ 0-2669-3633
– www.facebook.com/TheMuseumofFloralCulture
– การเดินทางโดยรถยนต์และแท็กซี่ : ตรงเข้าซอยสามเสน 28 ไปประมาณ 500 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยองครักษ์ 13 ไปประมาณ 30 เมตร ทางขวามือคือพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้
เรื่อง : Bundaree D. ภาพ : ณัฐวัฒน์ ส่องแสง, Bundaree D.