ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน ไม่ใช่ชื่อใหม่สำหรับวงการถ่ายภาพ เช่นเดียวกับวงการสถาปนิก
เริ่มถ่ายภาพสถาปัตยกรรมอย่างจริงจังเมื่อปี 1997 จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมช่วงใกล้ปี 2000 ในขณะที่ยังไม่พ้นยุคฟองสบู่แตก ชีวิตที่ใช้การถ่ายภาพนำการเดินทาง ทำให้ช่างภาพหนุ่มมีเรื่องเล่าที่ไม่จบสิ้น เขาเริ่มเล่าเรื่องผ่านหน้ากระดาษกับวารสารสถาปัตยกรรมแทนการจับปากกาเขียนแบบนับแต่ปี 2001 เปิดสตูดิโอถ่ายภาพของตัวเองในชื่อ ‘Spaceshift Studio’ ร่วมกับอรัญรัตน์ ประถมรัตน์ ในปี 2005 จนวันนี้ชื่อของช่างภาพติดไปกับเรื่องเล่าของสถาปัตยกรรมทั้งไทยและเทศ ผ่านหน้าสื่อทั้งนิตยสารและหลายเว็บไซต์ทั่วโลก
ผ่านพ้นมา 20 ปีนับแต่ความตั้งใจแรกจากการหยิบกล้องออกไปบันทึกเรื่องราวสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ วันนี้ภิรักษ์พิสูจน์แล้วเวลาที่ผ่านไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขกลมๆ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา ซึ่งกลั่นออกมาจากประสบการณ์อันยาวนาน มีคุณอานนท์ ไพโรจน์ นักออกแบบผู้คลุกอยู่กับงานออกแบบ และศิลปะมาแล้วมากมายทั้งในและนอกประเทศเป็นภัณฑารักษ์ และจะถูกจัดแสดง ณ Schemata Gallery ในซอยสุขุมวิท 26 นับแต่เวลานี้ไปอีก 1 เดือนข้างหน้า
ฝุ่นยังติดตามเนื้อตัว แต่เขาไม่ระแวงจะปัด แม้จะรู้ตัวว่ามีชัตเตอร์ของช่างภาพลั่นเก็บภาพตัวเขาอยู่ใกล้ๆ
สลับกับการตอบคำถาม ภิรักษ์ทักทายพี่น้องช่างภาพที่แวะเวียนมาช่วยงาน ขอหยุดคุยธุระผ่านโทรศัพท์ในบางเวลา บอกถึงความวุ่นวายของงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
เรามาเดินทางมาหาคุณภิรักษ์ก่อนการจัดแสดงจะเริ่มเพียงไม่กี่วัน บนผนังขาวยังว่างโล่ง เพราะรูปถ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่ในลังกระดาษ โต๊ะและลังไม้หลายใบยังวางระเกะระกะ เรานั่งสนทนากับช่างภาพใหญ่ในห้องที่เพิ่งขนข้าวของเข้ามาเสร็จหมาดๆ
“เป็น คหสต.” ภิรักษ์เกือบจะสรุปคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการครั้งนี้ไว้แบบนั้น
“เป็นความรักและหลงใหลในสถาปัตยกรรมโดยแท้” – – น่าจะเป็นสิ่งนี้มากกว่า ที่เราอยากจะสรุปให้หลังจบสนทนา
นิทรรศการชื่อ ‘Parallel’ หมายถึงมุมมองคู่ขนาน ณ ขณะที่เขาจมจ่อมอยู่หลังเลนส์ ส่วนจะมีความหมายใดนอกจากนั้น เราน่าจะค้นพบได้จากสิ่งที่คุยกับเขา
คุณภิรักษ์เริ่มถ่ายภาพจากปีค.ศ. 1997
“ผมเริ่มสนใจถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจริงจังเมื่อปี 1997 ตอนที่ได้ทุนไปฝึกงานที่เนเธอร์แลนด์ ในขณะเดียวกันปี 1997 ก็เป็นช่วงที่งานสถาปัตยกรรมในยุโรปสมัยใหม่เบ่งบานมาก ผนวกกับที่ผมชอบงานภาพถ่ายของคุณสมคิด เปี่ยมปิยชาติ เจ้าของสกายไลน์สตูดิโอ (Skyline Studio) ที่ได้ดูจากในนิตยสาร ผมก็เอามาเป็นแนวทาง พกกล้องเดินทางไปด้วยประมาณเดือนกว่าๆ รอบยุโรปก็มีฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ แล้วก็ตั้งใจวางแผนจะเก็บภาพงานสถาปัตยกรรม สมัยนั้นการถ่ายภาพมันไม่ได้ฟูเหมือนสมัยนี้ มันเป็นอะไรที่ต้องลงทุน ต้องซื้อกล้อง ซื้อฟิล์ม ล้างฟิล์ม อัดภาพ ซึ่งผมก็ตั้งใจจะไปเก็บภาพงานพวกนั้น”
20 ปี แล้วที่คุณภิรักษ์เริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม คาดหวังว่าการถ่ายภาพจะพาคุณภิรักษ์เดินทางไปไกลแค่ไหน
“ตอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่มันมีแพชชั่นอะไรบางอย่างที่เราอยากเล่าเรื่อง ที่ๆ เราไปแต่เพื่อนเราไม่ได้ไป อยากเอามาให้คนที่นี่ดู เพราะสมัยนั้นการที่เราจะได้ทุนไปมันไม่ใช่เรื่องปกติ การเดินทางมันไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ เราไปฮอลแลนด์ตอนเรียนช่วงสิ้นปี 4 ช่วงปี 1 ถึง 4 เราจะมีกลุ่มเพื่อนอยู่ 3-4 คน ใครที่เห็นโปรเจคใหม่ๆ ตามหนังสือก็จะเอามาอวดกัน อ่านละเอียดว่างานนี้เป็นอย่างนี้ๆ แต่มันเป็นแค่ในหนังสือ เราก็คิดว่าเราไปดูของจริงเลยดีกว่า ซึ่งการที่เราใช้แนวทางการถ่ายภาพของสกายไลน์เป็นไกด์มันก็ทำให้ภาพของเราพอจะมีคุณภาพอยู่บ้างในการใช้ตีพิมพ์ ตอนนั้น art4d ก็เลยเลือกเอาบางโปรเจคไปตีพิมพ์”
ดูเป็นเรื่องไม่ง่ายที่ภาพถ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวจะได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร
“ใช่ๆ ผมคิดว่าด้วยแพชชั่นมันอาจจะมากกว่าคนอื่นหน่อย ผมเชื่อว่าถึงแม้สมัยนี้ก็ตาม มันคงไม่มีใครบ้าไปถ่ายเฉพาะตึก จะมีก็เฉพาะคนที่เป็นสถาปนิก ปกติก็คงไปถ่ายข้าวปลาอาหารมาโพสต์ในอินสตาแกรม ซึ่งผมไม่ได้อินเลย ผมกินข้าวในซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็ทำลิสต์ไว้เลยว่าวันนี้ต้องดู 5 ตึกในตำบลเดียวกัน ผมว่าถ้าจะต่างจากสมัยนี้ก็คงเป็นเรื่องของแพชชั่นที่เรามีต่องานสถาปัตยกรรม”
กลับมาแล้วมีความต้องการอยากออกแบบสถาปัตยกรรมไหม
“จริงๆ ผมโดนถามทุกปีนะ ทำไมเรียนสถาปัตย์มาแต่ไม่ทำงานสถาปนิก ช่วงแรกๆ ก็มักจะตอบไปว่า ความอดทนเราต่ำ แต่จริงๆ แล้วก็คือ มันเป็นเรื่องของโอกาสที่มันเข้ามา ผมไปปี 1997 กลับมาปลายปี 1998 ผมเขียนบทความให้กับวารสารของคณะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางนี่ล่ะสั้นๆ ทาง art4d เขาก็ได้อ่าน เขาก็ติดต่อมาผ่านรุ่นพี่ มารีเช็คกับผมว่า คุณเคยไป TU DELFT Library มาจริงไหม เขาก็ถามว่าเขียนบทความได้ไหม จริงๆ แล้ว art4d เขามีรูปเซ็ตนั้นของสกายไลน์ที่เขาเดินทางไปก่อน เขาถ่ายภาพแต่ไม่ได้เขียน เนเธอร์แลนด์มันก็ไม่ใช่ว่าใครจะได้ไปบ่อยๆ ทาง art4d เขาก็ถามมาว่าเราเขียนให้ได้ไหม เราก็บอกว่าลองดูแล้วกัน มันก็เลยเป็นการทำงานครั้งแรกร่วมกันกับ art4d”
สถาปนิกหลายคนที่ไปดูงานออกแบบที่ต่างประเทศ กลับมาแล้วน่าจะมีแรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างงานสถาปัตยกรรม แต่ตัวคุณภิรักษ์เองไม่ได้มีความต้องการเช่นนั้น
“โห ช่วงปีที่ผมจบเศรษฐกิจแย่มาก ออฟฟิศสถาปนิกปิดตัวไปก็เยอะ เลย์ออฟคนก็เยอะ วงการอสังหาริมทรัพย์ดาวน์มากๆ เพื่อนผมไปเป็นอาจารย์ ไปเรียนต่อ ไปขายของ ไปทำเพลง วิชาชีพที่เป็นด้านสถาปัตย์มีน้อยมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี ในกลุ่มเพื่อนก็ยังมีคนอดทนทำ มีการไปทำงานที่ต่างประเทศบ้าง ยอมไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ยอมลดสเกลลงรับค่าแรงน้อยหน่อย ทุกคนมีความอดทนกับวิชาชีพสถาปนิกมากว่า ในขณะที่เราพอได้เริ่มเดินทางไปนู่นไปนี่ พอได้เริ่มที่เนเธอร์แลนด์แล้ว เราก็ไม่อยากหยุด เราไปฝึกงานกลับมาทำวิทยานิพนธ์เสร็จ เผอิญมีงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมที่วอลท์ดิสนิย์ที่ฟลอริดา ก็เลยสมัครไป ไปใช้ชีวิตอยู่ฟลอริดา 1 ปีกว่าๆ เพราะเราอยากเห็นงานสถาปัตยกรรม ทำงานเก็บเงินเพื่อจะไปดูงานสถาปัตยกรรมของอเมริกา ก็ได้ภาพมาอีกชุดหนึ่ง พอกลับมาก็ได้งานเป็นสถาปนิกแล้ว ทำอยู่ปีหนึ่ง แต่มันก็ไม่ใช่งานที่เราอยากจะทำเท่าไร ทำตั้งแต่ 8 โมงครึ่งถึงเที่ยงคืนครึ่งชีวิตมันก็หายไป จนที่ art4d รับสมัครกองบรรณาธิการวารสารอาษาเพิ่มคนหนึ่ง ตัดสินใจอยู่ 2 เดือนก็ลาออกไปสมัคร ทำมา 12 ปี ลาออกตอนปี 2013”
มีความเบื่อ หรืออิ่มตัวไหมกับการถ่ายภาพ
“ใช้คำพูดคนอื่นแล้วกันว่า ความตื่นเต้นน้อยลง ความตั้งใจเท่าเดิม จริงๆ ก่อนที่จะมีนิทรรศการนี้ คือก่อนที่ Schemata จะมาเชิญ ชีวิตเราก็ดำเนินไปเรื่อยๆ มีงานให้เราถ่าย งานเราถูกเผยแพร่ หลังๆ พอสิ่งพิมพ์มันขาลง ออนไลน์เข้ามา งานเราก็ไปโผล่ในออนไลน์ จากที่เคยเห็นแค่ในประเทศ มันก็ไปทั่วโลก จริงๆ มันมีการตื่นตัวตลอดเวลา ที่เราต้องเตรียมตัวว่าเราจะไปเจอกับตึกอะไร เราจะถ่ายอย่างไรให้อาคารมันพิเศษ”
ตึกแต่ละตึกย่อมไม่เหมือนกัน
“ไม่เหมือนกัน ไม่มีตึกไหนที่เหมือนกัน แม้แต่งานโดยสถาปนิกคนเดียวกันแต่ละงานก็ต่างกันไป แล้วเราก็ยังได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถาปนิกที่ออกแบบ มันก็เหมือนเราก็ยังได้อยู่ในเวิ้งวิชาชีพนี้ เพียงแต่ว่า รูปแบบการทำงานเราแตกต่างไป เราเหมือนกับคนที่สนับสนุนสถาปนิกในอีกแง่มุมหนึ่ง”