ตึกสาธรยูนิค ทาวเวอร์ 20 ปีของความฝันที่หยุดนิ่ง กลายเป็นเพียงวิมานลอยที่สร้างไม่เสร็จกลางใจเมืองย่านสาทร ทีมงานบ้านและสวนได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปชมและบันทึกภาพภายใน ตึกสาธรยูนิค ตึกร้างแห่งนี้พร้อมนำคำบอกเล่าบางส่วนจากคุณพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ทายาทและกรรมการบริหารตึกคนปัจจุบันมาฝากทุกคน
ความฝันอันสูงสุดของทุกคนคือการมีบ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ได้อยู่อาศัยหรือเป็นที่พักผ่อนของตัวเองและครอบครัว ดังนั้นไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่แปลกที่โครงการอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นที่ต้องการและเป็นเป้าหมายในชีวิตของใครหลายคนตลอดมา
เมื่อไม่นานมานี้ทีมงานบ้านและสวนมีโอกาสได้เข้าไปเยือนตึกสาธรยูนิค ทาวเวอร์โดยได้รับอนุญาตจากคุณพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ทายาทและกรรมการบริหารบริษัทสาธรยูนิค จำกัด เจ้าของตึกคนปัจจุบัน เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งในสายตาของใครหลายคนมองว่าตึกร้างแห่งนี้เป็นเสมือนอนุสรณ์ให้รำลึกถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่คนไทยยากจะลืมเลือน
จุดประสงค์ของการสร้างตึกนี้ก็เพื่อเป็นคอนโดมีเนียมระดับไฮเอนด์ โดยมีศูนย์การค้าตั้งอยู่ด้านล่างบนทำเลทองย่านถนนเจริญกรุง ด้วยความสูง 47 ชั้น จำนวน 600 ยูนิต ซึ่งในยุคนั้นสามารถเปิดขายพรีเซลไปแล้วถึง 90% ของจำนวนห้องทั้งหมดจุดเด่นนอกจากสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ในย่านกลางใจเมืองแล้ว งานสถาปัตยกรรมก็นับว่าโดดเด่นด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ให้กลิ่นอายสไตล์นีโอคลาสสิก โดยนำเสาโรมันซุ้มโค้งและโดมมาประยุกต์เข้ากับงานออกแบบอาคารสมัยใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของศิลปะโพสต์โมเดิร์น อันเป็นที่นิยมในยุคปี 1980-1990 จุดสังเกตที่สร้างเอกลักษณ์ให้ตึกแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือระเบียงส่วนตัวของทุกห้องที่เปิดรับมุมมองของโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดยานนาวา ถนนสาทร และถนนเจริญกรุง ผ่านลายเส้นและฝีมือการออกแบบของ อาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เจ้าของโครงการและสถาปนิกที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของเมืองไทยในยุคนั้น ซึ่งมีผลงานออกแบบมากมาย โดยสถานที่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ ราชมังคลากีฬาสถานโรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ บางกอกริเวอร์พาร์ค สเตท ทาวเวอร์ เป็นต้น
ตึกสาธรยูนิคทาวเวอร์เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2533-2534 พร้อมกับตึกสีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ หรือปัจจุบันคือสเตท ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟู กระทั่งในปีพ.ศ.2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งที่ปล่อยเงินกู้ให้โครงการได้ปิดตัวลง ทำให้บริษัทจำเป็นต้องยุติการก่อสร้างเนื่องจากขาดเงินทุนหลังจากนั้นก็กลายเป็นมหากาพย์การฟ้องร้องเพื่อทวงความยุติธรรมอีกนานนับสิบปี
อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ตึกนี้ยังคงตั้งตระหง่านทิ้งไว้เป็นวิมานลอยที่สร้างไม่เสร็จมานานนับ 20 ปีและไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้ามาในตึกโดยพลการคุณพรรษิษฐ์อธิบายถึงความตั้งใจว่าต้องการขายตึกนี้ในราคาประมูลที่เท่ากับเงินต้นเพื่อคืนเงินให้แก่เจ้าหนี้อันประกอบด้วยลูกค้าที่ซื้อห้องในโครงการไปแล้ว บริษัทผู้รับเหมา และสถาบันการเงิน เพื่อให้ทุกรายที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมกันสร้างความฝันบนผืนดินแห่งนี้ได้รับเงินคืนและกลับไปเริ่มต้นใหม่ตามทางของตัวเอง ทิ้งไว้เพียงอุทาหรณ์และบทเรียนให้แก่คนรุ่นต่อไป
เรื่อง : “ปัญชัช”
ภาพ : ธนกิตติ์ คำอ่อน
อ่านเพิ่มเติมในมุมมอง NGThai: สาธร ยูนิค: อนุสรณ์ 20 ปี “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง”
อ่านต่อ : เต็มโฉม! Central Embassy – สถาปัตยกรรมสัญชาติอังกฤษกลางกรุง
อ่านต่อ : หอสมุดเมืองกรุงเทพ อาคารเก่าที่เปลี่ยนไป
อ่านต่อ : TCDC ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก