ทำไมต้อง...ติมอร์ - room

ทำไมต้อง…ติมอร์

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต หรือติมอร์ตะวันออก (ซึ่งจะขอเรียกย่อๆว่า “ติมอร์”) เป็นประเทศม้า นอกสายตาที่น้อยคนนักอยากจะไปเที่ยว บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยู่ส่วนไหนของโลก เนื่องจากเป็นประเทศค่อนข้างใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 15 ปี ส่วนคนที่รู้จักติมอร์ก็จะติดตากับภาพการสู้รบในยุคสมัยที่อินโดนีเซียยึดครอง จึงอาจเกิดความสงสัยหรือไม่มั่นใจว่าประเทศนี้มีอะไรดี

สำหรับนักดำน้ำอย่างฉันนั้นได้ยินเขาร่ำลือเรื่องความสวยงามของโลกใต้ทะเลที่นี่มานานพอสมควร อยากจะไปแต่ก็ไม่ได้จังหวะเสียที เมื่อรู้ว่าอดีตหัวหน้าที่สนิทกันมากไปประจำการที่กรุงดิลี จึงถือโอกาสไปเยี่ยม ดำน้ำ และสำรวจความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่ติมอร์ในคราวเดียวกันเสียเลย

การเดินทางไปติมอร์จะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก ที่ง่ายคือสามารถเลือกที่จะไปต่อเครื่องได้ที่สิงคโปร์หรือบาหลี ที่ยากคือหากไปทางสิงคโปร์จะมีแค่สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบินและต้องค้างหนึ่งคืน ส่วนถ้าจะไปทางบาหลี แม้จะมีเที่ยวบินทุกวันก็ต้องค้างคืนเช่นกัน แถมเสี่ยงกับสายการบินโลว์คอสที่ไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย บวกกับการดีเลย์เป็นเรื่องธรรมดา หลังจากหารือกับอดีตหัวหน้าและเพื่อนที่อยู่สถานทูตไทยที่กรุงดิลีแล้ว ทุกคนต่างลงมติว่าเพื่อความปลอดภัยและความชัวร์ว่าไม่ติดเกาะแน่ๆ ขอแนะนำให้เดินทางผ่านสิงคโปร์ทั้งไปและกลับ ฉันจึงต้องยอมกัดฟันจ่ายค่าตั๋วที่แพงกว่าพอสมควร

โลกใต้ทะเล

ฉันเลือกพักและดำน้ำกับ Aquatica Dive Resort ซึ่งการดำน้ำในประเทศกำลังพัฒนาแบบนี้ต้องทำใจไปลุย การเดินทางจะใช้รถตู้หรือรถกระบะเป็นหลัก (เพราะเรือมีค่าใช้จ่ายสูงมาก) ถนนหนทางค่อนข้างลำบาก ไหนจะหลุมบ่อไหนจะมีการก่อสร้าง เล่นเอาวันสองวันแรกถึงกับเมารถมากเพราะปรับตัวไม่ทัน เมื่อถึงจุดดำน้ำแล้วก็ลงไปประกอบอุปกรณ์/แต่งตัว จากนั้นก็เดินลงหาดไปเพื่อดำน้ำ ซึ่งแต่ละจุดมองจากถนนแล้วไม่น่าเชื่อเลยว่าใต้น้ำจะสวยสมบูรณ์ได้ถึงขนาดนั้น บางที่พีคมาก ต้องเดินผ่านสุสานก็มี! และความที่ประเทศเขายังไม่เคยพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวกันอย่างจริงจัง แทบทุกจุดที่ไปดำน้ำก็จะไม่มีใครเลยนอกจากพวกเรา ถือเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำเลยจริงๆ ยิ่งใครชอบหาพวกปลาตัวจิ๋วตัวจ้อยแปลกๆจะมีความสุขมาก เพราะมีสารพัดจะให้เจอ ส่วนใครชอบสัตว์ใหญ่จำพวกโลมาหรือวาฬ เขาแนะนำให้ไปช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูอพยพของวาฬสีน้ำเงิน และบางครั้งมีโลมาฝูงละเป็นร้อยเป็นพันตัวมาว่ายเล่นด้วย

ฉันได้ดำน้ำหกวันเต็มๆ เฉลี่ยวันละสามไดฟ์ สนุกจนไม่อยากเลิกและติดใจในบริการของทาง Aquatica มาก แต่ติมอร์ก็ยังมีอะไรให้น่าค้นหาอีกมากมาย ในช่วงหลังของทริปฉันจึงได้ขนสัมภาระย้ายจากรีสอร์ตเข้าไปอยู่กับคุณพอลล่า อดีตหัวหน้าของฉัน ซึ่งพักอยู่ใจกลางเมือง ช่วง“ทัวร์บก”นี่ยอมรับว่าไม่ได้วางแผนก่อนไปเลย เพราะกะว่ามีอะไรน่าสนใจก็พร้อมจะทำและเปิดรับกับการผจญภัยเต็มที่ เรานั่งคิดกันว่าจะทำอะไรดีระหว่างนั่งเรือไปเที่ยวเกาะ Atauro กับขับรถขึ้นเขาไปบาลิโบ เมืองใกล้ชายแดนอินโดนีเซีย แล้วเราก็สรุปว่า ช่วงนี้คลื่นลมแรงเกินไปสำหรับการออกทะเล ไปเที่ยวเขาเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้างน่าจะดี

ชายหาดที่เงียบสงบของติมอร์ ซึ่งยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์
โลกใต้ทะเลของติมอร์ก็มีความสวยงามไม่น้อยหน้าประเทศไหนๆเช่นกัน
น้ำใส ดอกไม้ทะเลแน่น ปลาชุม นับเป็นสวรรค์ของคนรักการดำน้ำอย่างแท้จริง

Balibo เมืองแห่งห้าสหายผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์

อย่างที่บอกไปแล้วว่าถนนหนทางไปเมืองบาลิโบค่อนข้างทุลักทุเล ประกอบกับทางขึ้นเขาสูงชัน คุณพอลล่าเองแม้จะอยู่ที่ติมอร์มานานกว่าสองปีแล้ว ก็ยังขอจ้างคนขับรถเพื่อความปลอดภัย เราจึงใช้รถโฟร์วีลและมีคนขับเพื่อเดินทางไปยังเมืองนี้ซึ่งใช้เวลาสามชั่วโมงครึ่ง ทั้งที่ระยะทางแค่ประมาณ 120 กิโลเมตร เมืองบาลิโบอยู่ทางตะวันตกของติมอร์ มองเห็นวิวรอบทิศเป็นเขาสลับซับซ้อนและด้านหนึ่งเป็นวิวทะเลบันดา อากาศบนเขาเย็นสบาย เมืองนี้มีขนาดเล็กมากชนิดที่ว่าเดินสำรวจแป๊บเดียวก็ทั่ว และมีโรงแรมเก๋ไก๋อยู่ที่ป้อมปราการบาลิโบ ป้อมนี้สร้างไว้ตั้งแต่สมัยโปรตุเกสปกครองติมอร์และเป็นที่สนใจของชาวโลกเมื่อปีค.ศ. 1975 ซึ่งฉันเองก็เกิดทัน แต่ยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจอะไร ฉันจึงได้ไปพิพิธภัณฑ์ Balibo 5 เพื่อศึกษาหาความรู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ติมอร์อย่างไร

Balibo 5 มีที่มาจากนักข่าว 5 คนที่ถูกส่งไปจากออสเตรเลีย เพื่อทำข่าวการบุกยึดติมอร์ของอินโดนีเซีย ซึ่งสมัยนั้นไม่มีสำนักข่าวใดคอยรายงานข่าวสดๆแบบทันท่วงที ภาพข่าวความรุนแรงชุดแรกถูกส่งกลับไปยังออสเตรเลีย แต่ก่อนที่รายงานชุดที่สองจะถูกส่ง นักข่าวทั้งห้าคนก็หายตัวไป พวกเขาพยายามใช้สีเขียนกำแพงบ้านเป็นรูปธงชาติออสเตรเลียและคำว่า “Australia” ด้วยความหวังว่าทหารอินโดจะปล่อยเขาไป เพราะไม่ใช่คนพื้นเมือง แต่ชาวบ้านก็เชื่อกันว่าที่หายไปทั้งหมดพร้อมกับเทปบันทึกข่าวก็คือโดนฆ่าปิดปากนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ทางการอินโดนีเซียปฏิเสธมาโดยตลอด จนทุกวันนี้ทางครอบครัวของนักข่าวก็ยังไม่ได้ความชัดเจน ขณะเดียวกัน รุ่นลูกรุ่นหลานของชาวบ้านก็สามารถเล่าได้เป็นฉากๆว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักข่าวเหล่านั้น พวกเขาถูกฆ่าที่ไหน อย่างไร ความจริงฉันเองก็ไม่ค่อยสบายใจที่ได้รับรู้ข้อมูลเยอะเกินไป แต่ถือว่าเราเองเดินทางมาในประเทศที่มีประวัติศาสตร์การสู้รบยาวนาน ต้องยอมรับได้ทั้งด้านที่สวยงามและด้านที่ไม่อยากจดจำ ความที่อ่านหนังสือไปละเอียดก็เล่นเอาคืนนั้นนอนไม่หลับ เพราะจินตนาการอะไรต่างๆนานา โชคดีที่เมืองบาลิโบมีธรรมชาติสวยงามให้ได้เดินป่าและปั่นจักรยาน ก็ถือเป็นการพักใจได้อย่างดีก่อนจะกลับมากรุงดิลีที่แสนจะวุ่นวาย

บรรยากาศอันแสนร่มรื่นในรีสอร์ตซึ่งเป็นที่พักของเราในเมืองบาลิโบ
บริเวณที่รับประทานอาหารในรีสอร์ต
พิพิธภัณฑ์ Balibo 5 ยังคงมองเห็นรูปธงชาติออสเตรเลียและคำว่า “Australia” ที่เขียนโดยนักข่าวผู้โชคร้าย
ชมบรรยากาศดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่ป้อมปราการบาลิโบ

กรุงดิลี เมืองหลวงกับเสน่ห์ริมทะเล

ในกรุงดิลี รถรา มอเตอร์ไซค์ และรถ Microlet (คล้ายรถกะป๊อบ้านเรา แต่มีขนาดใหญ่กว่า) วิ่งกันขวักไขว่วุ่นวาย ซึ่งสำหรับชาวตะวันตกจะรู้สึกว่าน่ากลัว แต่สำหรับฉันนี่ยังไม่ได้เศษเสี้ยวของบ้านเรา ฉันจึงไม่รีรอที่จะขี่จักรยานออกสำรวจบ้านเมือง เช้าวันหนึ่งฉันตื่นตีห้าครึ่งเพื่อจะไปดูดวงอาทิตย์ขึ้นที่รูปปั้น Cristo Rei ซึ่งเป็นรูปปั้นพระเยซูที่อยู่บนยอดเขา ว่ากันว่ารูปปั้นนี้ใหญ่เป็นที่สองรองจากที่ริโอเลยทีเดียว ทางที่ขี่จักรยานไปเป็นถนนเลียบหาดที่สวยสงบระยะทางไป-กลับประมาณ 22  กิโลเมตร มีผู้คนออกมาวิ่งและขี่จักรยานกันแต่เช้าก่อนไปทำงาน ฉันแวะร้านกาแฟชื่อดัง Letefoho ซึ่งส่งออกเมล็ดกาแฟและสร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อย (กาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวที่พอเชิดหน้าชูตาให้ติมอร์ได้บ้าง) ช่วงสายได้ไปดูตลาดผ้าฝ้ายพื้นเมืองและงานหัตถกรรมเล็กน้อย หลังจากนั้นก็ไปเยี่ยมสุสาน Santa Cruz  เพื่อระลึกถึงชาวติมอร์ที่ถูกสังหารหมู่โดยทหารอินโดนีเซีย ขณะที่พวกเขาออกมาเดินขบวนอย่างสันติเพื่อร่วมพิธีไว้อาลัย ณ สุสานแห่งนี้ในปีค.ศ.1991 จากนั้นฉันก็ไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติติมอร์หรือ Resistance Museum เพราะฉันอยากจะเข้าใจที่มาที่ไปของการได้มาซึ่งอิสรภาพของประเทศที่น้อยคนนักจะได้มาเยือน ใช้เวลาซึมซับประวัติศาสตร์ชาติติมอร์อยู่ชั่วโมงกว่าๆ ก็ไปทานอาหารพื้นเมืองที่ทำได้เก๋ไก๋จนแปลกใจที่ Agora Food Studio เนื่องจากติมอร์ต้องนำเข้าวัตถุดิบแทบทุกอย่าง อาหารจึงปรุงแบบเรียบง่ายจากพืชผักท้องถิ่นเท่าที่มี อีกทั้งใช้เนื้อสัตว์น้อยมาก ถึงแม้จะมีภูมิประเทศเป็นเกาะติดทะเลเกือบทุกด้าน แต่การประมงยังคงเป็นแบบพื้นบ้านมากๆ ไม่ใช่จับกันเป็นอุตสาหกรรม

เช้าตรู่ที่กรุงดีลี
Cristo Rei รูปปั้นพระเยซูที่อยู่บนยอดเขา ว่ากันว่ารูปปั้นนี้ใหญ่เป็นที่สองรองจากที่ริโอเลยทีเดียว
ตลาดผ้าในกรุงดิลี กับแม่ค้าเคี้ยวหมาก
ในตลาดผ้ายังมีการขายธงชาติติมอร์-เลสเต รับวันชาติด้วย
บรรยากาศภายในสุสาน Santa Cruz ซึ่งเป็นสถานที่รำลึกถึงชาวติมอร์ที่ถูกสังหารหมู่โดยทหารอินโดนีเซีย
Resistance Museum หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติติมอร์
ร้านอาหารในกรุงดิลี

อาหารพื้นเมือง
น้ำกล้วยรสชาติหวานเจี๊ยบที่มีขายเกือบทุกร้าน