บ้านอาจจะดูมีลูกเล่นมากกว่าที่คิดได้ จากความคิดที่อยากมี บ้านตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีสีสันและล้อมรอบไปด้วยต้นไม้
ลึกเข้ามาในซอยของหมู่บ้านจัดสรรที่เรียกได้ว่าเป็นโครงการแรก ๆ ในแถบรังสิต สองข้างทางขนาบด้วยตัวบ้านหน้าตาอย่างที่เราคุ้นเคย ร่องรอยของน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ยังคงเหลือให้เห็นบนกําแพงและในหัวใจของลูกบ้านซึ่งอยู่ที่นี่มาร่วม 30 ปี เช่นเดียวกับครอบครัวของ คุณนัก – วัลลภ ประสพผล ผู้กํากับโฆษณามือฉมังของเมืองไทยที่เปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสปรับปรุงที่ดินเดิมให้กลับมาเป็นศูนย์รวมของครอบครัวอีกครั้ง
“บนที่ดินผืนนี้ตอนแรกเป็นบ้านสองหลัง คือบ้านหลังที่อยู่อาศัย และอีกหลังเป็นมินิมาร์ทปิดร้างเอาไว้ หลังจากน้ำท่วมใหญ่ก็ทุบทิ้ง เหลือพื้นที่ประมาณ 60 ตารางเมตร ตอนนั้นความคิดเรื่องบ้านตู้คอนเทนเนอร์มีอยู่ในหัวตั้งแต่แรกแล้ว คิดว่าคงสนุกดีถ้าได้อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่รอบๆ มีต้นไม้เยอะๆ ต่อมาก็คิดเรื่องสีสันว่าจะมีสีอะไรบ้างที่ช่วยให้บรรยากาศดูสนุกสนาน”
จนมาลงตัวที่สีเหลืองมัสตาร์ดซึ่งเป็นสีโปรดของคุณนัก และเป็นสีที่ตัดกับสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ในบ้าน แล้วจึงค่อยเลือกสีเทาและสีน้ำตาลเข้มมาช่วยเสริมให้ภาพรวมดูเท่ขึ้น ส่วนเรื่องตู้คอนเทนเนอร์นั้น คุณนักเป็นผู้จัดวางแปลนบ้านเองทั้งหมด และได้บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเทนเนอร์โดยเฉพาะมาช่วยแนะนําเรื่องโครงสร้าง จนมาลงตัวที่ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 2.50x12x2.50 เมตร จํานวน 2 ตู้ และ 2.50x6x2.50 เมตร จํานวน 2 ตู้ ที่นํามาประกอบรวมกัน
“เราได้แลกเปลี่ยนไอเดียกับทางบริษัท คุยกันไปมา จนเขาถามว่า พี่ทํางานอะไรครับ ทําไมเรเฟอเรนซ์เยอะจัง ก็บอกเขาไปว่าทําโฆษณา”
ด้านการวางผังบ้านคุณนักเลือกยกใต้ถุนด้านล่างเล็กน้อย ก่อนขึ้นพื้นบ้านชั้นแรก ด้านหนึ่งเป็นห้องสําหรับพี่สาวกับลูกชายที่มาพักสัปดาห์ละครั้ง ส่วนอีกด้านเป็นใต้ถุนเปิดโล่งใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ จัดวางโต๊ะกลางและแขวนชิงช้าสําหรับพักผ่อน “จริง ๆ อยากทําบ้านชั้นเดียว แต่พอน้ำท่วมก็คิดว่าไม่ดีแน่ ๆ เลยทําเป็นสองชั้นแบบเล่นระดับ ให้ความรู้สึกขี้เล่นหน่อยๆ แล้วพอมีลานกว้างปุ๊บ ก็ปิ๊งไอเดียว่า ทําบ่อปลาคาร์พด้วยดีกว่า เพราะเป็นความฝันเลยว่าอยากมีบ่อน้ำอยู่ใกล้ๆ” ส่วนชั้นสองเป็นห้องใหญ่ซึ่งเป็นเรือนหอของน้องชาย ในขณะที่ตู้สีเหลืองมัสตาร์ดจะเป็นโซนของคุณนักเอง
เมื่อถามถึงอุปสรรคระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากที่นี่เป็นหมู่บ้านเก่ามีซอกซอยขนาดเล็กและยังเดินสายไฟระโยงระยาง จึงทําให้เกิดปัญหาเรื่องการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาติดตั้งรวมทั้งเรื่องพื้นฐานการก่อสร้างที่คุณนักคาดไม่ถึงเหมือนกัน ว่าต้องตอกเสาเข็มเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวบ้านด้วย ส่วนเรื่องการระบายความร้อนก็ไม่ต้องห่วง เพราะมีการวางผังตู้ในทิศทางที่ลมพัดผ่าน และยังกรุฉนวนกันความร้อนทั้งใต้ฝ้าภายในและภายนอกตู้ แล้วปิดท้ายด้วยการทําหลังคาแบบดับเบิ้ลรูฟให้ลมพัดพาความร้อนเหนือตัวตู้ออกไป จึงไม่มีการสะสมความร้อนที่ตัวตู้คอนเทนเนอร์แต่อย่างใด
“ตอนแรกที่ทําบ้าน คุณแม่ก็ทําหน้างอนๆ นิดหน่อยนะ ว่าแกทําอะไรเนี่ย เพราะตอนแรกมันเป็นกล่องๆอย่างเดียวมาตั้งไว้ แต่พอเสร็จสมบูรณ์เป็นบ้านปุ๊บ ท่านก็พูดประมาณว่า เหนื่อยจังเลยต้องมานั่งรับแขก ก็รู้เลยว่าท่านชอบจนถึงทุกวันนี้ยังสนุกอยู่เลย ยังมีเพื่อนมาขอดูบ้าน มาเที่ยวแล้วทุกคนก็บอกว่า ถ้าฉันเป็นแกจะอยู่แต่บ้านนอนเล่นไม่ออกไปไหนแล้ว”
ถึงแม้อาชีพผู้กํากับโฆษณาจะทําให้คุณนักอยู่ไม่ค่อยติดบ้านสักเท่าไหร่ แต่ความผูกพันกับบ้านหลังนี้ก็ยังเต็มเปี่ยมในความรู้สึก
“บ้านเป็นเหมือนที่ที่เละเทะได้ เละเทะในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าบ้านรก แต่พอกลับมาบ้านแล้วเราสามารถทําอะไรก็ได้ เพราะตอนทํางานโฆษณาเราต้องวางแผนเวลาการทํางานทุกอย่างให้เป๊ะหมด มุมโปรดก็จะเป็นชิงช้าตรงลานกว้างใต้ถุนบ้าน เพราะนั่งสบายมาก และเป็นจุดที่ลมพัดเย็นสบาย แล้วยังมีต้นไม้กับบ่อปลาด้วย เวลาตื่นเช้าพอออกจากห้องแล้วผมมักออกมายืนริมระเบียงด้านบน มองลงมาเห็นบ้านทั้งหมด มันสวยดีและก็แฮ็ปปี้มาก”
บ้านหลังนี้จึงเป็นการสร้างเรื่องราวใหม่บนความทรงจําเดิมและเพิ่มเติมความสนุกสนานจากแขกที่แวะมาเยี่ยมเยียนบ่อยๆ แม้ว่าจะยังมีเรื่องต้องห่วงอยู่บ้างว่า ในระยะยาวบ้านคอนเทนเนอร์หลังนี้จะเป็นไปในทิศทางใด แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่คุณนักได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับบ้านที่เขารัก ซึ่งถอดแบบมาจากความตั้งใจของเขาอย่างแท้จริง
เรื่อง : skiixy
ภาพ : จิระศักดิ์
วีดีโอ : Yak Yai
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : July 2015 No.149
http://www.baanlaesuan.com/78208/ideas/iron_furniture/
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x