• รายแรกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จัดสรรพื้นที่คอนโดเอพีเป็น “พื้นที่ช่วยชีวิต” ติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เพื่อคุณภาพชีวิตของลูกบ้านเอพีกว่า 25,000 ครอบครัว
• เอพีรณรงค์ให้คนไทยเท่าทันและพร้อมรับมือ ‘ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ
กรุงเทพฯ (4 ก.ย. 60) – บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนเมืองและคอนโดมิเนียมติดแนวรถไฟฟ้า จัดแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญเพื่อสังคม “ขอพื้นที่เล็กๆ ให้หัวใจได้เต้นต่อ” (The Smallest Space to Save Lives) ต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คุณภาพไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมเอพีและสังคมวงกว้าง ด้วยการตระหนักถึงอันตรายจาก “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ที่คร่าชีวิตคนไทยได้ในทุกเพศ ทุกวัย ด้วยการเดินหน้าติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) ในคอนโดมีเนียมของเอพีที่ส่งมอบไปแล้ว รวมถึงคอนโดมิเนียมโครงการอื่นๆ ที่บริหารจัดการโดยบริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด บริษัทบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเครือเอพี รวมทั้งสิ้นกว่า 40 โครงการ คิดเป็นผู้อยู่อาศัยกว่า 25,000 ครอบครัว และเตรียมร่วมรณรงค์ส่งต่อความรู้การกู้ชีพขั้นพื้นฐานก่อนส่งถึงมือแพทย์สู่ประชาชน เพื่อให้ตระหนักและพร้อมรับมือเมื่อพบผู้ประสบภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันคือสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดอันดับที่ 3 (รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุ) คร่าชีวิตคนไทยถึง 54,000 คนต่อปี (เฉลี่ยถึง 6 คนต่อชั่วโมง) ปัจจุบัน เอพีได้เริ่มทะยอยติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ในคอนโดมีเนียมที่บริหารจัดการโดยทีมเอพีแล้ว โดยแผนจะติดตั้งให้ครบทั้งสิ้นกว่า 40 โครงการที่โอนกรรมสิทธิ์เข้าอยู่แล้ว
งานแถลงข่าวครั้งนี้ บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) โดย นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม ร่วมกับ พล.ต.ต. นายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัทรักษาความปลอดภัยไทยซีคอม จำกัด รณรงค์ถ่ายทอดความรู้ การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support – BLS) สู่สังคม นอกจากนี้ เอพีพร้อมเป็นตัวแทนเชิญชวน ทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ผ่านแคมเปญ “ขอพื้นเล็กๆ ให้หัวใจได้เต้นต่อ” (The Smallest Space to Save Lives) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของเอพี คือ “การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย โดยเริ่มต้นที่สังคมเล็กๆ ในโครงการต่างๆ ของเอพี” พร้อมกันนี้ เอพียังได้มอบเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ให้กับศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ท่าเรือสาทร และศูนย์ประสานงาน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เขตธนบุรี เพื่อติดตั้งเป็นสาธารณะประโยชน์ในการช่วยกู้ชีพหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าคอนโดมิเนียม บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ผู้ประสบภาวะดังกล่าวควรได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพราะมิฉะนั้นอาจถึงแก่ชีวิต บมจ. เอพี เราให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณภาพชีวิต และการสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ทุกพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิต เราจึงริเริ่มจัดสรรพื้นที่ 0.1 ตารางเมตรภายในคอนโดของเราเป็น ‘พื้นที่ช่วยชีวิต’ โดยได้เริ่มติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED เพื่อช่วยชีวิตในเบื้องต้นของผู้ที่ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก่อนส่งถึงมือแพทย์ ประกอบกับการสนับสนุนด้านข้อมูลพื้นฐานที่ได้รับจากพันธมิตรทางธุรกิจของเอพีอย่าง มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ถือเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตพื้นฐานที่ติดตั้งในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น ทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ติดตั้งมากที่สุดในโลกประมาณ 6 แสนกว่าเครื่อง”
“ปัจจุบัน เอพีมีคอนโดที่สร้างเสร็จและบริหารจัดการโดยบริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด บริษัทบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเครือเอพีอยู่รวมกว่า 40 โครงการ และราวกว่า 25,000ครอบครัวที่เราดูแล เราจึงไม่ลังเลที่จะติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED เพื่อให้ลูกบ้านรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจในคุณภาพชีวิต โดยเราเดินหน้าทะยอยติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED แล้ว และจะติดตั้งให้ครบทั้งหมดกว่า 40 โครงการโดยเร็วที่สุด และสำหรับคอนโดมิเนียมใหม่ที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2560 นี้เป็นต้นไป บริษัทก็จะมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ไว้เช่นกัน” นายวิทการกล่าว
“คอนโดมิเนียมกว่า 40 โครงการที่มีการติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED นั้น จะมีเจ้าหน้าที่ภายใต้การดูแลของบริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด รวมกว่า 300 คน ซึ่งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) ที่ได้รับการรับรองจากบริษัทรักษาความปลอดภัย ไทยซีคอม และคณะกรรมการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคอนโดมิเนียมในแต่ละโครงการจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการและพร้อมให้ความช่วยเหลือหากลูกบ้านของเอพีประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันตลอด 24 ชม.” นายวิทการกล่าวเสริม
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างทันที ซึ่งภาวะนี้เกิดได้กับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวอื่น และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เมื่อหัวใจหยุดเต้นลงจะไม่มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะใดๆ ในร่างกาย สมองเมื่อขาดเลือดมาเลี้ยงจะหยุดทำงานในทันที ดังนั้นผู้ที่สมองขาดเลือดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะหมดสติลงในเวลาเพียง 10 วินาที ซึ่งผู้ป่วยที่หมดสติควรได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลา 4 นาที หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื้อสมองจะเริ่มเสียหาย หากผู้ที่อยู่ใกล้เคียงมีประสบการณ์การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED สลับกับการทำ CPR จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
*จากสถิติที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หากได้รับการช่วยชีวิตภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังเกิดเหตุด้วยการทำ CPR (การช่วยฟื้นคืนชีพ หรือปั้มหัวใจด้วยมือ) สลับกับการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED จะสามารถเพิ่มโอกาสในรอดชีวิตได้มากถึง 50% แต่หากได้รับการช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR เพียงอย่างเดียวจะมีโอกาสรอดชีวิตเพียง 27%
พล.ต.ต. นายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “จากการศึกษาพบว่า การสอนแพทย์กู้ชีพเพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ เนื่องจากภาวะนี้มักเกิดนอกโรงพยาบาล และผู้ป่วยไม่สามารถถึงโรงพยาบาลภายใน 4 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทัน ดังนั้นการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือการส่งต่อความรู้ให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เมื่อประสบเหตุ และควรมีอุปกรณ์เครื่อง AED ติดตั้งอยู่ในจุดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ทันที”
“ในฐานะตัวแทนประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผมขอชื่นชมเอพี (ไทยแลนด์) ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย โดยการริเริ่มติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ทำให้สังคมไทยทัดเทียมนานาประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความตระหนักถึงภัยใกล้ตัว ซึ่งถ้าทุกคนมีความรู้ในการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน รู้จักวิธีการโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเฉพาะด้านซึ่งที่ประเทศไทยคือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เบอร์ 1669 เราทุกคนสามารถร่วมกันลดปริมาณการสูญเสียได้” พล.ต.ต. นายแพทย์โสภณกล่าวและเสริมว่า “นอกจากอาคารที่พักอาศัยที่มีหลายครอบครัวพำนักอย่างคอนโดมิเนียมแล้ว สถานที่ที่มีผู้คนสัญจรคับคั่งและควรมีการติดตั้ง AED เพื่อช่วยชีวิตด้วย ได้แก่ สนามบิน สถานีขนส่ง ท่าเรือ รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น”
เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED เป็นเครื่องที่ใช้กับผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยเครื่องจะทำการวินิจฉัยคลื่นหัวใจโดยอัตโนมัติและทำการรักษาด้วยการปล่อยกระแสไฟเพื่อกระตุกหัวใจทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ เพียงผู้ใช้อุปกรณ์ปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่เสียงบรรยายของเครื่อง AED ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชีวิตผู้ที่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) คือ บริษัทพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดีไซน์เพื่อพื้นที่ใช้สอยที่ไม่จำกัดเพื่อการใช้ชีวิตของคนเมือง ครอบคลุมทั้งมิติด้าน คุณภาพ การบริการ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้าง ‘คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นกับสังคมเล็กๆ ในโครงการต่างๆ ของเอพี เพื่อมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทย’
ติดตามข้อมูลแคมเปญเพิ่มเติมได้ที่ http://www.SmallestSpaceToSavLives.com
“เอพี ไทยแลนด์ — พื้นที่ชีวิตคุณภาพ ที่เราคิดมาเพื่อคุณ”
###
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด
โทรศัพท์ 02-664-9500 กัณฑิชา บุญโพธิ์แก้ว (ต่อ 112) หรือ ภัตติมา ก้อนฝ้าย (ต่อ 113)