แบบบ้านโมเดิร์น สถาปัตยกรรมในประติมากรรมหินอ่อน - room

MARBLE HOUSE สถาปัตยกรรมในประติมากรรมหินอ่อน

ความโดดเด่นของ Marble House สะท้อนผ่านรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่สะดุดตา และเมื่อรวมกับวัสดุกรุผิวที่สวยโดดเด่น ยิ่งช่วยขับเน้นให้องค์ประกอบทุกอย่างดูลงตัวขึ้นความน่าสนใจของบ้านหลังนี้ ต้องบอกว่าเริ่มตั้งแต่ที่เจ้าของบ้านได้ให้โจทย์กับทีมนักออกแบบจากบริษัท Openbox Architects โดยต้องการให้บ้านเป็นบิลบอร์ดในตัวเอง สร้างความโดดเด่นและเป็นที่จดจำไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ผู้ออกแบบจึงต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเพื่อให้บ้านแสดงศักยภาพออกมาให้มากที่สุด นอกเหนือไปจากการอยู่อาศัยที่สะดวกสบายและมีความสุข

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Openbox Architects

บ้านพักอาศัยสองชั้นหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 354 ตารางวา ย่านรัชดาฯได้รับการออกแบบฟังก์ชันหลัก ๆ เพื่อรองรับครอบครัวขนาดเล็ก แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของเจ้าของบ้านที่ต้องการให้บ้านทำหน้าที่เป็นมากกว่าบ้าน จึงต้องใช้เวลาออกแบบถึง 9 เดือน และก่อสร้างอีก 2 ปี เนื่องจากทางผู้ออกแบบต้องคิดถึงความเป็นไปได้ทั้งงานสถาปัตยกรรมงานตกแต่งภายใน และงานภูมิสถาปัตยกรรมไปพร้อม ๆ กัน

บ้านหินอ่อน แบบบ้านโมเดิร์น

แบบบ้านหินอ่อน

MASSING MODEL

เพราะต้องการให้บ้านมีลักษณะพิเศษและเป็นที่จดจำจึงต้องใส่ใจงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ คุณหนุ่ยรติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ หัวหน้าทีมอออกแบบจาก Openbox Architects มีแนวคิดการออกแบบโดยนำเรื่องของวัสดุอย่างกระเบื้องลายหินอ่อนที่เจ้าของบ้านชื่นชอบมาใช้เป็นหลัก จากนั้นก็ตีความในเชิงการออกแบบ โดยเปรียบเทียบบ้านหลังนี้เหมือนงานประติมากรรมหินอ่อนขนาดใหญ่ที่มีการแกะสลักและลดทอนองค์ประกอบลง จนเกิดเป็นบ้านที่ดูเหมือนกำลังลอยอยู่เหนือพื้นดิน เศษหินแกะสลักที่หล่นตามพื้นถูกตีความมาเป็นส่วนของลานบ้าน บันได และที่นั่งหินในสวน ส่วนจังหวะช่องเปิดและเส้นเฉียงของด้านนอกตัวบ้าน คุณหนุ่ยบอกว่าเกิดจากความพยายามของทางผู้ออกแบบที่ต้องการให้บ้านออกมาดีที่สุด จึงจำลองโมเดล 3 มิติหลาย ๆ รูปแบบ อีกทั้งยังใช้ประสบการณ์ที่มีทั้งหมดมาประกอบเพื่อหาจุดลงตัวให้บ้านหินอ่อนหลังนี้

แบบบ้านโมเดิร์น MARBLE HOUSE

FUNCTIONAL DESIGN

บ้านที่ดีนอกจากความสวยงามแล้ว แน่นอนว่าต้องเป็นบ้านที่อยู่แล้วสบาย ทางทีมผู้ออกแบบจึงออกแบบฟังก์ชันไปพร้อม ๆ กับรูปทรงของสถาปัตยกรรมภายนอกโดยเริ่มจากการกำหนดตัวบ้านไว้ด้านทิศใต้ของที่ดิน หันหน้าบ้านออกทางทิศตะวันออก และวางตำแหน่งฟังก์ชันที่สำคัญของบ้านไว้ทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่สามารถนั่งเล่นพักผ่อนได้ตลอดทั้งวัน วางตำแหน่งพาวิลเลียนและสระว่ายน้ำไว้อีกด้านหนึ่งของที่ดิน การวางตำแหน่งของฟังก์ชันต่าง ๆ นี้ช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถใช้ทุกส่วนของที่ดินได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด และทุกฟังก์ชันที่เกิดขึ้นก็สามารถใช้งานได้จริงอย่างมีศักยภาพ

แบบบ้านโมเดิร์นสองชั้น

หากมองจากแปลนจะเห็นได้ชัดว่า บ้านหลังนี้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสตามข้อจำกัดของโครงการ ซึ่งเป็นลักษณะแปลนที่ไม่เอื้อต่อภาวะอยู่สบาย ดังนั้นผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาด้วยการเจาะ Void หรือช่องเปิดตามจุดที่เหมาะสม มีทั้งช่องเปิดขนาดใหญ่ที่เจาะตั้งแต่หลังคาทะลุลงมาถึงชั้น 1 และช่องเปิดที่เจาะเฉพาะบริเวณชั้น 2 เท่านั้น การเจาะช่องเปิดเหล่านี้เป็นการช่วยให้บ้านมีแสงธรรมชาติเข้ามาในปริมาณที่พอเหมาะ ลดการใช้ไฟแสงสว่างที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้สึกอยู่สบาย เพราะการเจาะช่องเปิดทำให้ทางเดิน (circulation)ของแปลนเปลี่ยนไป ผู้ใช้พื้นที่จึงไม่รู้สึกว่าถูกบังคับด้วยรูปทรงจัตุรัสแต่อย่างใด

มุมสวนในบ้าน สวนกลางบ้าน

ชม INTERIOR DESIGN  ต่อหน้า 2 คลิก