Anti-Office syndrome
เคยไหมที่คร่ำเครียดเพราะต้องทำงานที่ตัวเองไม่อยากทำแต่เจ้านายอยากได้ หรือต้องทนทำไปโดยไม่มีทางเลือกเพราะหัวหน้าสั่งมา ไหนจะความกดดันจากเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานด้วยกันอีก เพราะกลัวว่าหากเกิดทำอะไรผิดพลาดก็อาจจะเกิดปัญหาให้ต้องทะเลาะหรือถกเถียงกันไม่รู้จบ หรือจะเป็นความสัมพันธ์ที่ห่างเหินระหว่างเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้างๆ ที่แทบจะหันหน้ามาพูดคุย ทักทาย หรือยิ้มให้กันวันละนับครั้งได้ นั่นยังไม่รวมถึงพาทิชั่นที่ยังจะมาเป็นกำแพงขั้นแบ่งอาณาเขตส่วนตนของกันและกันอย่างชัดเจน ตลอดจนสำนักงานที่รกไปด้วยกองเอกสารและข้าวของที่ไม่ได้ถูกจัดระเบียบ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อสำหรับการทำงานทำใดนักไปโดยปริยาย
อ่านต่อ: REUSE REPAIR UPCYCLE
เข้าใจว่าบางครั้งคนเราก็เลือกไม่ได้ที่จะได้ทำงานในออฟฟิศสวยๆ ที่ออกแบบมาเพื่อพนักงานทุกคนเสมอไป หรือหนีปัจจัยต่างๆ จากย่อหน้าข้างต้นนี้ไปพ้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงของมนุษย์ออฟฟิศที่อาจเป็นต้นตอของการเกิด โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) นั้นเกิดจากการกระทำของตัวเราเองนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการเอาแต่จดจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ของตัวเอง จนหลงลืมนับระยะเวลาสะสมในแต่ละวันว่าตัวเองต้องขลุกตัวอยู่ที่โต๊ะทำงานมานานแค่ไหนแล้ว ได้ลุกออกไปสูดอากาศบ้างหรือยัง หรือใส่ใจกับท่านั่งทำงานว่าถูกต้องหรือไม่มากน้อยแค่ไหน การละเลยสิ่งเหล่านี้อาจกลายมาเป็นสัญญาณของอาการป่วยโรคออฟฟิตซินโดรมโดยไม่รู้ตัว เช่น อาการปวดหลังเรื้อรังที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
อ่านต่อ: INTELTION : ฉีกกฎออฟฟิศใหม่ ให้ออกกำลังกายไปพร้อมกับการทำงาน
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมอนามัย โดย ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ที่ให้เราลองสังเกต 3 อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยในหมู่มนุษย์ออฟฟิศ และเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าคุณอาจสุ่มเสี่ยงการป่วยด้วยโรคออฟฟิตซินโดรม ได้แก่ อาการปวดหลังเรื้อรังจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งอาจเกิดจากการนั่งหลังค่อม ตัวงอเพื่อเอาสายตาไปจดจ้องที่หน้าจอ อาจเกิดจากการปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะไม่เหมาะสมกับสรีระ จนเป็นสาเหตุให้กล้มเนื้อต้นคอเมื่อยเกร็งตลอดเวลา กระบังลมไม่สามารถขยายตัวเต็มที่ ส่งผลกระทบไปถึงสมองที่รับออกซิเจนได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
อ่านต่อ : Charcoal Design – รีโนเวตบ้านเก่า ให้เป็นออฟฟิศเก๋าของเหล่านักออกแบบ
ยังมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือ ไมเกรน ที่อาจเกิดจากความเครียดสะสม การพักผ่อนไม่เพียงพอ การถูกแสงแดดและความร้อน ตลอดจนการขาดฮอร์โมนบางชนิดก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคได้อีกเช่นเดียวกัน สุดท้ายคืออาการมือชาหรือนิ้วล็อค ที่เกิดจากการจับเมาส์ในท่าเดิมๆ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือหรือเส้นเอ็นจากกล้ามเนื้อที่กดทับเส้นประสาท นอกจากนี้แล้วภาวะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ตลอดจนเครื่องปรับอากาศที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นเวลานาน หรือฝุ่นละอองที่เกาะตามกองเอกสารในสำนักงาน ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเช่นกัน
10 โรคยอดฮิต ที่ติดมากับการไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ออฟฟิศที่ไม่ใส่ใจสุขภาพ
- นิ่วในถุง น้ำดี : เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ มักพบในหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ : เกิดจากการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ ซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- โรคเครียด : โรคฮิตสำหรับวัยทำงานที่ไม่รู้จักการผ่อนคลาย และหมกมุ่นกับการทำงานจนเสียสุขภาพจิต
- ความดันโลหิตสูง : เกิดจากความเครียดสะสม รวมถึงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด เช่นเดียวกับผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่เป็นประจำ คือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- โรคอ้วน : คนทำงานที่มือจับคียบอร์ด ปากเคี้ยวอาหาร ทำงานไปกินไป และไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอมีโอกาสเผชิญโรคนี้สูง
- กรดไหลย้อน : มักพบในผู้ที่รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวอาหารไม่ละเอียดแล้วกลืมลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเครียดจัดจนอาหารไม่ย่อย และแน่นอนผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่จัดก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้เช่นกัน
- ปวดหลังเรื้อรัง : มักพบในผู้นั่งติดหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง และนั่งทำงานในท่าที่ไม่ถูกต้อง
- ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือ ไมเกรน : มักเกิดกับผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดจากความเครียดสะสม
- มือชา เอ็น อักเสบ นิ้วล็อก : เกิดจากการจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นอักเสบ
- ต้อหิน ตาพร่ามัว : ผู้ที่ใช้สายตานาน ๆ เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน โดย 1 ใน 10 ของคนอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อหินสูง
วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงของโรคออฟฟิศซินโดรม
- ปรับระดับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับสรีระร่างกาย เพื่อรองรับท่านั่งทำงานที่สะบายที่สุด
- นั่งทำงานหลังตรงพิงพนักเก้าอี้ ไม่งอตัวเพื่อจดจ้องไปที่หน้าจอคอมพิวเตอร์
- ควรปรับระดับหน้าคอมพิวเตอร์ให้ขอบหน้าจออยู่ในระดับสายตา
- กระพริบตาบ่อยๆ และควรพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที
- วางคีย์บอร์ดอยู่ในระดับข้อศอกและข้อมือ
- เปลี่ยนอิริยาบถการทำงานทุกๆ 20 นาที และควรขยับตัวหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อของมือและแขนอย่างน้อยๆ ทุก 1 ชั่วโมงครั้ง
- นั่งทำงานในที่ปลอดโปร่งหรืออากาศถ่ายเทอย่างน้อยๆ ในช่วงเวลาเช้าและกลางวัน
- ปลูกต้นไม้ในร่มเพื่อช่วยสร้างออกซิเจนและดูดซับสารพิษ รวมถึงเป็นจุดพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
อ่านต่อ: PLANTS FOR OFFICE : ต้นไม้ในออฟฟิศ
อ่านต่อ: 10 ต้นไม้ อยู่ในบ้านก็ได้ อยู่นอกบ้านก็ดี
ปัจจุบันหลายองค์กรใหญ่ๆ หันมาใส่ใจกับการออกแบบออฟฟิศให้เอื้อต่อการทำงาน และช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานร่วมกันของบุคคลากรมากขึ้น แต่ทั้งนี้การตกแต่งออฟฟิศให้ดูน่าทำงาน หรือมีบรรยากาศเอื้อต่อการใช้ความคิดแค่ไหน ก็ไม่สามารถเยียวยาอาการออฟฟิศซินโดรมเหล่านี้ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวคุณเองจะมีวิธีบริหารจัดการงานที่หนักสะสมตามภาระหน้าที่ ให้สอดคล้องไปกับการดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองอย่างไร การปล่อยให้ความเครียดจากการทำงานเข้ามาครอบงำ จนทำให้สุขภาพแย่ลงไปไม่ได้ส่งผลดีกับตัวเราเองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อฉีกกรอบการทำงานจากเดิมๆ ก่อนที่จะสายเกินไป “รักสุขภาพของตัวเองให้เท่ากับการรับผิดชอบในหน้าที่การทำงาน” สิ่งนี้มนุษย์ออฟฟิศทุกคนควรท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ
ข้อมูลอ้างอิงจาก
www.msdbangkok.go.th
www.thaihealth.or.th
https://www.bnhhospital.com/spine/office-syndrome/
เรื่อง : ND24 (เขียนและเรียบเรียง)
ภาพ : W Workspace, ธนกิตติ์ คำอ่อน, นันทิยา, แฟ้มภาพบ้านและสวน, แฟ้มภาพจาก room