ความงามตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นมีอะไรดีจึงสามารถส่งอิทธิพลกระเพื่อมหัวใจคนรักงานมินิมัลได้ทั่วโลก เราเชื่อว่าทริปเยี่ยมบ้านญี่ปุ่นของ room จะมอบคําตอบให้คุณผ่านการเดินทางเข้าไปสํารวจแนวคิดตั้งแต่เริ่มต้นไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการลงมือทํา ให้คุณอิ่มเอมไปกับความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าของบ้านแต่ละหลังและความละเมียดละไมสไตล์ญี่ปุ่นไปพร้อมกันกับเรา
มองเผิน ๆ บ้านหลังนี้ก็ดูเหมือนบ้านทรงกล่องสไตล์โมเดิร์นทั่วไป หากแต่กล่องใบนี้บรรจุความปรารถนาของครอบครัวโคบายาชิไว้อย่างสมบูรณ์ ในวัยที่ลูกหลานต่างก็มีครอบครัวเป็นของตัวเอง ถึงคราวที่คนรุ่นพ่อแม่จะลุกขึ้นมาปัดฝุ่นความฝันของตนให้เป็นจริงบ้าง ฝ่ายสามีชอบสะสมรถซูเปอร์คาร์เป็นชีวิตจิตใจ จึงอยากทําโรงรถให้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์สําหรับรถยนต์รุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น ซึ่งเป็นเสมือนงานศิลปะล้ำค่า ส่วนฝ่ายภรรยาต้องการห้องชาแบบโบราณ เพราะร่ำเรียนพิธีชงชาแบบดั้งเดิมตามประเพณีญี่ปุ่นมานานหลายปี Waro Kishi + K.ASSOCIATES/Architects โดย ศาสตราจารย์วาโระ คิชิ และทีมสถาปนิก จึงเป็นผู้รับหน้าที่เข้ามาผสมผสานองค์ประกอบที่ต่างกันสุดขั้วทั้งสองนี้ให้ลงตัวกลมกล่อม
“เริ่มต้นจากทางเข้า ถึงแม้บ้านหลังนี้จะมีขนาดใหญ่แต่ขนาดทางเข้ากลับเล็กมาก นั่นเพราะเป็นบ้านสําหรับสองคน (และสุนัขหนึ่งตัว) บริเวณชั้น 1 ประกอบด้วยห้องนอน โรงรถ และห้องชา ถูกโอบล้อมด้วยผนังทึบทั้งหมด”
/ บ้านคอนกรีต ทรงกล่องสไตล์โมเดิร์นสุดเรียบง่าย
ที่ภายในบรรจุรายละเอียดและวิธีคิดตามแบบฉบับญี่ปุ่นเอาไว้ได้อย่างกลมกล่อม /
การใช้คอนกรีตสีขาวทั้งส่วนโครงสร้างและพื้นผิว ถือเป็นความท้าทายอย่างมากในการทําบ้านหลังนี้ เพราะคอนกรีตที่เราคุ้นเคยมักเป็นสีเทาหรืออย่างดีก็สีเทาอ่อน การใช้คอนกรีตสีขาวจึงเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่เพื่อให้ดูคลีนและไม่มีใครเหมือน ทีมสถาปนิกจึงต้องคิดค้นสูตรการทําคอนกรีตสีขาวขึ้นมาเอง และพาเจ้าของบ้านไปถึงแหล่งผลิตที่นะโงะยะ เพื่อสร้างความมั่นใจในความงามของวัสดุตัวนี้
พื้นที่สําหรับความหลงใหลส่วนตัวของเจ้าของบ้านทั้งสองท่านได้รับการจัดวางไว้อย่างเป็นสัดส่วนที่บริเวณชั้นล่าง ส่วนโรงรถมีสกายไลท์และช่องแสงตามยาวด้านข้างเพียงหนึ่งจุดเพื่อให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้ามาได้ เป็นเหมือนกับสปอตไลท์นําสายตาให้รถแต่ละคันเผยความงามของตัวเองออกมา ส่วนห้องชานั้นเป็นแบบดั้งเดิมทําขึ้นจากไม้ ดิน และกระดาษ โดยได้ช่างไม้ชั้นครูซึ่งสืบต่ออาชีพนี้ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษมาเป็นผู้ออกแบบและรังสรรค์ให้งดงามตรงตามประเพณีให้มากที่สุด
บันไดขึ้นชั้นสองของบ้านแบ่งเป็นสองทาง คือขึ้นจากในบ้านและขึ้นจากหลังบ้านที่เชื่อมต่อกับโรงรถ โดยระเบียงชั้นสองนี้กินพื้นที่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของขนาดพื้นที่ใช้สอยของตัวบ้านทั้งหมดเกือบ 500 ตารางเมตร
“ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของชั้นสองคือระเบียงขนาดมหึมา สามารถมองเห็นพระราชวังฮิเมจิได้จากตรงนี้ และเหตุผลที่คุณโคบายาชิเลือกซื้อที่ดินตรงนี้สําหรับสร้างบ้าน ก็เนื่องจากมองเห็นพระราชวังฮิเมจิซึ่งเป็นโบราณสถานอันทรงคุณค่านี่เอง
“ส่วนชั้นสองเป็นส่วนพักผ่อนและรับประทานอาหาร ทําเป็นกลาสบ็อกซ์แบบง่าย ๆ เพื่อสร้างความขัดแย้งกับชั้นล่างที่ปิดทึบทั้งหมด โดยเปิดให้เห็นทัศนียภาพภายนอกแบบ 180 องศา แต่อย่าลืมว่าเมื่อคุณมองเห็นข้างนอก คนข้างนอกก็มองเห็นคุณเหมือนกัน จึงทําบานเกล็ดแนวตั้ง แบบเคลื่อนที่ได้ช่วยอําพรางสายตาห้องกระจกที่อยู่ในส่วนหน้าบ้าน”
นอกจากความพิเศษของกลาสบ็อกซ์ โครงสร้างหลังคายังได้รับการออกแบบเป็นพิเศษจากเหล็กกล้าหน้าตัดรูปตัวเอกซ์ (X) ที่หนาเพียง 9 เซนติเมตร เพื่อให้หลังคาดูเบาและเป็นอิสระเหมือนลอยได้
จากงานสถาปัตยกรรมที่เผยให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุที่ทําหน้าที่เป็นโครงสร้าง ผ่านการออกแบบอย่างละเอียด เพื่อให้ได้สัดส่วนสวยงาม โดยยังคงคํานึงถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัยในเวลาเดียวกัน เราถามคุณโคบายาชิถึงพื้นที่ที่เขาชอบมากที่สุดในบ้าน แน่นอนว่าคําตอบต้องเป็นส่วนของโรงรถอย่างไม่ต้องสงสัย
“เพราะรถยนต์เหล่านี้คือชีวิตจิตใจของผม” คุณโคบายาชิกล่าวพร้อมกับเล่าเรื่องราวที่มาของรถแต่ละคัน และการผจญภัยต่าง ๆ นานากว่าจะได้มาซึ่งรถยนต์หายากเหล่านี้ ชนิดที่ว่าภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการสื่อสารเลย นั่นทําให้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่า บ้านหลังนี้คือ บทสรุปช่วงชีวิตอันทรงคุณค่าที่ผ่านมากว่า 50 ปี และเป็นสถานที่เติมเต็มแพสชั่นให้กับชีวิตของทั้งคู่ในช่วงบั้นปลายได้อย่างมีความสุข