พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน วัดยาง ณ รังสี - room

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน วัดยาง ณ รังสี

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน วัดยาง ณ รังสี
พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านแห่งแรกของประเทศไทย

อย่างที่ทราบกันว่าคนสมัยก่อนนิยมสัญจรกันทางน้ำโดยมีเรือเป็นพาหนะหลัก ซึ่งเรือแต่ละชนิดก็มีการใช้งานแตกต่างกันไป กระทั่งเมื่อมีถนนตัดผ่านความจำเป็นในการใช้เรือก็ลดน้อยลงพลอยทำให้เรือท้องถิ่นค่อยๆสูญหายไปจนคนรุ่นหลังไม่รู้จักหน้าค่าตาของเรือเหล่านี้กันอีกแล้ว แต่สำหรับตัวผมเองชีวิตในวัยเด็กที่เคยอยู่ติดคลองติดแม่น้ำทำให้สนใจเรื่องเรือเป็นทุนเดิมอยู่แล้วประจวบกับได้มาพบ พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน วัดยางณรังสีที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความการตื่นตัวในการอนุรักษ์เรือพื้นบ้านของคนในชุมชนซึ่งก็ยิ่งทำให้รู้สึกสนใจมากขึ้นจนกลายเป็นที่มาของการเดินทางในครั้งนี้ครับ

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน
ศาลาการเปรียญไม้เก่าที่ได้แรงบันดาลใจจากวิหารกลางน้ำพระสมุทรเจดีย์

อาคารจัดแสดงเรือพื้นบ้านแห่งนี้เคยเป็นศาลาการเปรียญไม้ที่สร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2470เวลาผ่านไปก็เกิดชำรุดทรุดโทรมแต่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ยังคงความสวยงามอยู่มากโดยได้แรงบันดาลใจจากวิหารกลางน้ำที่พระสมุทรเจดีย์ทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้อยากอนุรักษ์เอาไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของลูกหลานและบุคคลทั่วไปจึงได้รวบรวมเงินกันบูรณะขึ้นใหม่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เรือชะล่าหัวเป็ด ทำจากการขุดไม้เนื้อแข็งเช่นไม้ตะเคียน หรือไม้เคี่ยม ลักษณะเหมือนเรือชะล่าทั่วไปมีเพียงส่วนหัวเรือและปากที่ยื่นออกไปเหมือนเป็ดส่วนหางก็คล้ายหางเป็ด ใช้เพื่อการหาปลา โดยที่กาบเรือจะมีตาข่ายหรือแหติดอยู่ด้านหนึ่งสูงประมาณ 1 เมตรและมีกระดานไม้ทาสีขาวติดกับกาบเรืออีกข้างหนึ่งแล้วจมลงไปในน้ำส่วนหนึ่ง เมื่อ ปลาเห็นกระดานขาวก็จะตกใจกระโดดขึ้นเรือแต่ไม่พ้นตาข่ายที่ยกสูงไว้ ถึงได้เรียกเรือผีหลอก เพราะเอาไว้หลอกปลา เรียกว่าเป็นการจับปลาโดยไม่ต้องลงน้ำเลย นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยปัจจุบันยังคงมีให้เห็นอยู่บ้างตามแถบคลองชลประทานแถวบ้านหมี่จังหวัดลพบุรี

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรือโบราณที่หาชมได้ยากอาทิเรือเข็มเรือหางเหยี่ยวเรือชะล่าเรืออีโปงและที่เด็ดสุดก็คือเรือมาดลำใหญ่ซึ่งมีใช้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งบางลำเราไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนระหว่างที่เดินชมก็จะมีน้องๆที่พักอาศัยในละแวกนั้นมาเป็นไกด์อธิบายให้เห็นถึงความเป็นมาและประวัติของเรือแต่ละชนิดฟังกันเพลินเลยล่ะครับ

การได้มาชมเรือโบราณที่หายากอย่างนี้ทำให้ผมเข้าใจว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดควรเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและรักมากที่สุดเหมือนอย่างน้องๆไกด์ท้องถิ่นซึ่งทุกครั้งที่ฟังน้องพูดผมรู้สึกได้ว่าน้องเขาพูดด้วยน้ำเสียงใสกังวานฟังดูเป็นธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าเขารักและภูมิใจในสิ่งที่ชุมชนของเขามีอย่างน้อยการมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็ไม่สูญเปล่าเพราะได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีใจรักษ์ท้องถิ่นให้ยังคงเล่าขานประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไปอีกนานเท่านาน         การเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ใช้เส้นทางลพบุรี – บางปะหัน ขับรถเลียบคลองชลประทานมาจนถึงกิโลเมตรที่ 9 วัดจะตั้งอยู่ด้านขวามือ หรือโทร.สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ด้านล่างครับ

เรือชะล่า เป็นเรือที่ขุดจากซุงไม้สัก เพราะถากง่ายน้ำหนักเบาและลอยน้ำได้ดี หัวและท้ายเรือมีลักษณะป้าน จึงทำให้ต้านน้ำพายได้ช้าท้องเรือแบน ใช้ค้ำถ่อยันไปเหมาะสำหรับใช้บรรทุกสิ่งของเล็กๆน้อยๆได้
เรืออีโปง หรือเรือหลุ่มโปง หรือเรือตะลุ่มโปง ทำจากต้นตาล ไม้สัก ไม้กระท้อน ไม้ตะเคียน โดยนำไม้ดังกล่าวมาตัดเป็นท่อนขนาดยาวพอสมควร อีโปงที่ทำจากต้นตาลก็จะเริ่มใช้ตั้งแต่โคนต้นตาลขึ้นมาจนถึงความยาวที่ต้องการ นำมาผ่าซีก แล้วนำแกลบมาสุมไฟให้เนื้อไหม้จากนั้นถากออกเป็นรูปเรือยาวเพรียว แล้วนำไม้มาพาดเป็นที่นั่งของคนพายเรือ นิยมใช้พายเรือไปมาหาสู่กันในครอบครัว
เรือเข็มหรือเรือโอ่ ทำด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบาเช่นไม้สัก หรือไม้มะยมหอม เป็นเรือต่อที่ยาว 3-4 วา ลักษณะหัวเรือกับท้ายจะเรียวและเชิดมีพนักพิงกลางลำเรือพายใช้แบบสองใบพายนิยมใช้ในการแข่งขัน อีกทั้งเป็นเรือที่บ่งบอกฐานะของผู้เป็นเจ้าของเปรียบเหมือนรถสปอร์ตบนท้องถนนเลยก็ว่าได้
เรือหางเหยี่ยว ว่ากันว่ามีเพียงหนึ่งเดียวในโลก เป็นเรือต่อที่มีขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่งหาดูได้ยาก ทำจากไม้สักหนา 1.5 นิ้วกว้าง 6-8 นิ้ว มีกงเป็นโครงสร้าง ยึดด้วยมือลิง หัวและท้ายเรือมีลักษณะคล้ายหางเหยี่ยว ใช้ถ่อหรือจะติดเครื่องยนต์ก็ได้ ในสมัยก่อนใช้บรรทุกสิ่งของจำพวกข้าวสารอาหารแห้ง
เรือมาดหัวโขน (หัวพญานาค) เป็นเรือขุดจากไม้ตะเคียนเหมือนเรือพระที่นั่ง ใช้คนพายมากน้อยตามขนาดของเรือ ส่วนมากใช้ในงานพระราชพิธี เป็นเรือที่มีใช้มาตั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เชื่อกันว่ามีมานานกว่าสี่ร้อยปีแล้วจัดเป็นเรือที่เก่าแก่มากอีกประเภทหนึ่งที่ปรากฏอยู่บนแผ่นดินไทย

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านวัดยางณรังสี
หมู่ 2 ตำบลตะลุง อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี
โทรศัพท์ 0-3665-6788

เรื่อง:“ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ : สมศักดิ์ แสงพลบ


“ บ้านบาตร ” ชุมชนของคนทำบาตรพระ

 

คนทำ หัวโขน : งานศิลป์ชั้นสูงที่ทุกคนสามารถทำได้