หากคุณมีโอกาสสร้าง โฮมออฟฟิศ สักหลังเป็นของตัวเอง คุณอยากให้บ้านของคุณเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาหรือลักษณะแบบไหนกัน? “ถ้ามีบ้านผมอยากปลูกต้นไม้เยอะ ๆ คงจะมีความสุขมาก ถ้าได้ถอดรองเท้าเดินย่ำไปบนสนามหญ้า”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: INCHAN Atelier
นี่คือความปรารถนาของ คุณนนท์–อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ สถาปนิกแห่ง INCHAN Atelier ผู้เป็นทั้งผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านหัวหมาก09 โฮมออฟฟิศ หลังนี้ โดยเขาเลือกจะหยิบยกบ้านของตัวเองมาเป็นงานทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีต่าง ๆ ที่เคยร่ำเรียนมา คลุกเคล้ากับประสบการณ์ด้านการออกแบบ จนได้งานสถาปัตยกรรมที่เล่าเรื่องราวของตัวเอง พร้อมเผยเสน่ห์แห่งสัจวัสดุที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
หลังจากคุณนนท์และภรรยา คุณพลอย-ธริศราย์ จันทร์ทิพย์ เริ่มหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้าน โดยเลือกทำเลที่ใกล้กับบ้านของคุณแม่คุณพลอย ทั้งคู่จึงตกลงซื้อที่ย่านหัวหมาก ซึ่งเป็นบ้านในหมู่บ้านเก่าอายุกว่า 30 ปี บนเนื้อที่ 80 ตารางวา และตัดสินใจรื้อบ้านหลังเดิมออกทั้งหมด เนื่องจากมีปัญหาระดับพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับถนน ประกอบกับความต้องการใช้งานพื้นที่เพิ่มมากขึ้น นำมาสู่การออกแบบก่อสร้างอาคารหลังใหม่สูง 4 ชั้น มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 490 ตารางเมตร ในรูปแบบของพื้นที่มิกซ์ยูส รวมฟังก์ชันออฟฟิศ บ้านพักอาศัย และสตูดิโอทำงานศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน
“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการออกแบบวางผังที่เน้นการระบายอากาศและแสงแดด ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าถึงอย่างไรเราคงหนีเรื่องแดดลมฝนไม่พ้น ปัจจัยด้านสภาพอากาศจึงกลายมาเป็นโจทย์หลักในการออกแบบ จากนั้นก็ตั้งเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้บ้านหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับสภาพอากาศเขตร้อนชื้นเหมาะแก่การอยู่อาศัย“
นำมาสู่การวางแผนผังพื้นที่ใช้งานออกเป็น 2 ส่วน คือฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ โดยยกพื้นที่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทางทิศเหนือให้เป็นสวน ส่วนที่เหลือคือพื้นที่ตั้งอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดตัวยาวตามแนวตะวันออก-ตก เพื่อขวางทางลมแล้วใช้การเจาะช่องเปิดในขนาดต่าง ๆ กัน สำหรับรับลมและแสงให้เข้ามาสู่ตัวบ้านในปริมาณที่เหมาะสม
โดยตัวบ้านมีความกว้างเพียง 4 เมตร หรือเทียบเท่ากับความกว้างของตึกแถวทั่วไป แต่ละด้านมีการก่อผนังซ้อนกันอีกชั้นในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดช่องว่างสำหรับถ่ายเทอากาศ และเป็นเหมือนฉนวนกันความร้อนไปในตัว ช่องว่างรอบบ้านที่เกิดขึ้นนี้นำไปสู่การจัดพื้นที่ฟังก์ชันหลัก ๆ เพื่อให้สัมพันธ์กับสภาพอากาศ และทิศทางของลมและแสงแดด โดยช่องวางทางทิศใต้ได้กำหนดให้เป็นแนวบันได ช่องว่างทางทิศเหนือและทิศตะวันออกออกแบบเป็นพื้นที่ระเบียงและส่วนเซอร์วิสต่างๆ ต่อเนื่องไปถึงด้านทิศตะวันตกที่ก่อผนังสองชั้นเชนกัน เพื่อให้เกิดเอกภาพในงานออกแบบที่กลมกลืนกันทั้งอาคาร
“เพราะว่าแต่ละชั้นมีการใช้งานคนละแบบ จึงนำมาสู่วิธีคิดว่าจะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าเราใช้พื้นที่แต่ละส่วนได้อย่างคุ้มค่าท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เหมือนกันในแต่ละชั้น”
ด้วยวิธีคิดที่ชัดเจนจึงทำให้พื้นที่ใช้สอยของอาคารทั้ง 4 ชั้น ได้รับการแบ่งออกตามลักษณะฟังก์ชันการใช้งาน เริ่มจากชั้น1 กับการออกแบบให้เป็นออฟฟิศสถาปนิก แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองห้องหลัก ๆ คือห้องใหญ่สำหรับทำงานเป็นทีม จัดวางโต๊ะทำงานตัวยาว ส่วนอีกห้องเป็นห้องทำงานขนาดเล็ก รวมฟังก์ชันห้องประชุมและห้องสมุดไว้ด้วยกัน เลือกใช้โต๊ะกลมที่เหมาะกับการคุยงาน โดยห้องทั้งสองยังสามารถมองเห็นกันได้เพราะกั้นด้วยกระจกใสเต็มบาน
ขยับมาที่ชั้น 2 ซึ่งถือเป็นชั้นเริ่มต้นของพื้นที่พักอาศัยส่วนตัว แบ่งเป็นพื้นที่นั่งเล่น เชื่อมต่อกับส่วนครัว และส่วนรับประทานอาหาร ช่วยให้พื้นที่ทั้งชั้นดูโปร่งโล่ง ถัดมาที่ชั้น3 พื้นที่สุดไพรเวท บรรจุไว้ด้วยสองห้องนอนหนึ่งห้องน้ำ ประกอบด้วยห้องนอนของคุณนนท์-คุณพลอยหนึ่งห้อง และห้องนอนสำหรับคุณแม่อีกหนึ่งห้อง มีห้องน้ำคั่นกลางระหว่างห้องนอนทั้งสอง และใช้ห้องน้ำร่วมกัน โดยวางผังห้องน้ำแบบโอเพ่นแปลน มีห้องแต่งตัวอยู่ภายในที่รายล้อมด้วยตู้เสื้อผ้ารอบ ๆ
สุดท้ายคือชั้น 4 จัดให้เป็นพื้นที่สตูดิโอ คุณนนท์ตั้งใจออกแบบไว้สำหรับใช้รังสรรค์และเสพผลงานศิลปะอย่างเต็มที่ โดยมีฟังก์ชันการใช้งานที่มีความยืดหยุ่นสูง เตรียมพร้อมไว้สำหรับรูปแบบการใช้งานที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต เมื่อสมาชิกตัวน้อยของบ้านค่อย ๆ เติบโต
เมื่อฟังก์ชันลงตัวแล้ว อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจคือการเลือกใช้วัสดุที่เปลี่ยนแปลงไปในงานสถาปัตยกรรม โดยมีกาลเวลาค่อย ๆ ทำหน้าที่เผยความงามผ่านสีสันและพื้นผิว
“เวลาที่เราดูงานสถาปัตยกรรมเก่าแก่ หรือแม้กระทั่งบ้านของชาวบ้านทั่วไป เรามักมีความรู้สึกว่า “อาคารมันแก่ไปตามกาลเวลา” ยิ่งโฟกัสลึกลงไปยิ่งทำให้เราเห็นค่าความงามของวัสดุที่ผ่านกาลเวลา แต่เห็นการทำงานของช่างอย่างประณีตปรากฏอยู่ในงานไม้บ้างหรืองานอิฐบ้าง ผมจึงอยากให้บ้านหลังนี้เป็นเหมือนการบันทึกโมเม้นของช่างขณะที่ค่อย ๆ ลงมือสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมราวกับบ้านหลังนี้เป็นงานศิลปะ”
ด้วยความหลงใหลในการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของงานสถาปัตยกรรม ทำให้คุณนนท์เลือก “ซีเมนส์บล็อก” มาเป็นวัสดุหลักในงานก่อสร้าง โดยตระเวนไปหาซื้อตามโรงงานที่สามารถผสมเนื้อหิน ซีเมนต์ ทราย ได้ในสัดส่วนที่พอเหมาะเหมือนกับบล็อกช่องลมที่เราเคยพบเห็น แล้วจึงนำซีเมนต์บล็อกนี้มาเป็นวัสดุหลักในการทำฟาซาดที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร
“เป็นความโชคดีที่วัสดุที่เราชอบราคาไม่แพง แต่ถ้าจะทำมันให้ดีเราต้องอยู่กับช่างเยอะ ๆ เราจึงเลือกใช้วัสดุที่มีความเรียบง่าย ประหยัดเงินในกระเป๋า เพื่อนำไปลงทุนกับค่าแรงช่างและทำงานร่วมกับช่างอย่างใกล้ชิด”
นอกจากสีสันที่จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลและคราบที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติบนผนังซีเมนต์แล้ว วัสดุนี้ยังสัมพันธ์ต่อเนื่องไปกับระบบการก่อ ซึ่งเป็นที่มาของความสูงอาคารที่ได้รับการกำหนดด้วยจำนวนซีเมนต์บล็อก 15 บล็อก หรือเท่ากับความสูง 3 เมตร โดยมีคานเป็นโครงสร้างที่ช่วยกำหนดรูปด้านของอาคารไปในตัว
เมื่อมองจากภายนอก ตัวบ้านจะมีลักษณะเหมือนกล่องที่สูง 3.60 เมตร วางซ้อนกันสี่ชั้น ส่งผลให้อาคารนี้กลายเป็นงานสเกลค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับบริบทโดยรอบ สถาปนิกจึงใช้การออกแบบเพื่อลดทอนขนาดอาคารและแสดงความถ่อมตนต่อชุมชนโดยรอบ ด้วยการออกแบบให้กำแพงรั้วและผนังภายนอกบ้านชั้น 1 ทาสีขาวกลมกลืนกับบ้านหลังอื่น ๆ ในละแวกเดียวกัน เมื่อมองจากภายนอกในระดับสายตาจึงไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกมากนัก คล้ายว่ากล่องสีเทา 3 ชั้นสุดเท่นี้วางอยู่บนฐานสีขาวข้างล่างแทน
หากบอกว่าสถาปนิกอย่างคุณนนท์แอบเทใจไปให้สวนรอบบ้านก็คงไม่ผิดนัก เพราะพื้นที่เกือบครึ่งของที่ดินถูกแทนที่ด้วยสวนสีเขียว ซึ่งเขาเป็นคนออกแบบทั้งการเลือกต้นไม้และลงมือปลูกเอง
“ผมชอบปลูกต้นไม้แต่ว่ายังหาความสัมพันธ์ของงานสถาปัตย์กับสวนไม่เจอ จึงเริ่มต้นจากตามดูงานที่เราชอบ อยากดูความประณีตของเขา อยากรู้ว่าเขามองอะไร แต่ขณะที่มองเราก็พบว่าควรจะให้สถาปัตย์ช่วยทำงานด้วยประมาณหนึ่ง โดยให้สถาปัตย์ทำหน้าที่เป็นแบ็กดร็อป แล้วให้สวนซึ่งมีความงามที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาและฤดูกาลเข้ามาเติมเต็มชีวิตชีวาให้บ้านมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น”
ภายในสวนใช้การเล่นระดับเพื่อให้ดูมีมิติมากขึ้น เลือกปลูกต้นไม้แบบผสมผสานกัน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาการออกดอกของพรรณไม้แต่ละชนิด ช่วยให้สวนมีดอกไม้ให้ชมตลอดปี เพิ่มสีสันด้วยการเลือกพรรณไม้สีม่วง อย่างเข็มม่วง ช่อม่วง และสร้อยอินทนิล สร้างร่มเงาด้วยไม้ยืนต้น อย่างต้นชุมแสง จิกน้ำ และซิลเวอร์โอ๊ก
และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของระนาบสีเขียวจึงเชื่อมโยงสวนจากแนวราบสู่แนวดิ่งด้วยการแทรกสวนกระถางไปบนระเบียงในทุก ๆ ชั้น เสริมทัพด้วยตะแกรงไม้เลื้อยบนผนังอาคาร ไปจนถึงสวนกระถางบนดาดฟ้า โดยตั้งใจให้สวนทำหน้าที่ช่วยลดความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวอาคาร
นอกจากงานออกแบบที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาแล้ว ชีวิตคนเราก็เปลี่ยนไปตามอายุขัยเช่นกัน คุณนนท์จึงมีการวางแผนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตในอนาคต ด้วยการเตรียมปรับเปลี่ยนฟังก์ชันในส่วนของออฟฟิศด้านล่าง ให้กลายเป็นห้องนอนในวันที่แก่จนเดินขึ้นบันไดไม่ไหวอย่างไม่เสียดาย
“มันต้องมีพื้นที่บางส่วนที่เลิกใช้งาน แล้วเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นให้มีรูปแบบการใช้งานใหม่ ๆ เพราะเราตั้งใจว่าจะไม่ทำบ้านอีกหนึ่งหลังในพื้นที่เดิม เพื่อให้พื้นที่สีเขียวในสวนยังคงอยู่ต่อไป”
เรียกว่างานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับการคิดมาอย่างดีตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นงานสเกลใหญ่อย่างการออกแบบวางผังงานโครงสร้าง รวมถึงการใส่ใจในสภาพแวดล้อมทั้งแดด ลม ฝน เพื่อรอเวลาให้งานสถาปัตยกรรมนี้ ค่อย ๆ เผยความงามที่เจ้าของบ้านเรียกว่าเสน่ห์ออกมาทีละนิด ๆ
“ไม่แน่ว่าบ้านผมอาจจะเป็นงานที่ทำให้ใครหลายคนกลับมาสนใจวัสดุธรรมดา ๆ ที่ถูกมองข้ามไปก็เป็นได้”
เจ้าของ : คุณอินทนนท์ – คุณธริศราย์ จันทร์ทิพย์
ออกแบบ : INCHAN Atelier โทร. 09-0909-4935
TOTAL NEW LOOK! พบ room โฉมใหม่ฉบับราย 2เดือน ได้ 1 พ.ย. นี้ เล่มนี้ว่ากันด้วยเรื่องราว
Design Cases
– Residential : Riz Carlton Residences Bangkok ห้องพักหรูระฟ้าบนตึกมหานคร
– Bar : Soi 16 บาร์เปิดใหม่กลางเมืองพัทยา
– Restaurant : Nowhere ร้านอาหารสไตล์โมเดิร์นบนรู
Theme
– Design Documentary : สถาปัตยกรรมพร้อมอาศัยในวัน
– Special Scoop : 20 Best Design housing of 2017 รวมโครงการอยู่อาศัยที่เราว
Home
– TRIANGLE HOUSE เรื่องราวของรูปสามเหลี่ยมก
– READY-TO-PAINT CANVAS อิสระในการอยู่อาศัย เติมเต็มชีวิตให้บ้านไม่ต่า
– HUAMARK 09 บ้านมิกซ์ยูสรวมฟังก์ชันออฟ
Inspiration
Product
– Ong-Orn แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ เข้าถึงตัวตนผู้ใช้ด้วยการผ
Material
– แนะนำพรมรุ่นใหม่จาก Express Carpet ตอบโจทย์ดีไซน์ที่หลากหลายข
Event
– Dyson Singapore Technology Centre ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีของไดสั
สอบถามสั่งซื้อนิตยสาร Room ได้ที่ช่องทางต่อไปนี้
1. ฝ่ายสมาชิกนิตยสาร Room: โทร 02-423-9889
2. ID Line : @naiinfanclub
3. Inbox FB : www.facebook.com/messages/
4. Website naiin.com : naiin.com/
อ่านต่อ :
http://www.baanlaesuan.com/78225/houses/ts-residence/
เรื่อง : foryeah!
ภาพ : นันทิยา บุษบงค์
ผู้ช่วยช่างภาพ : ณภัทร ภัทรยานนท์
สไตล์ : สมบุญ กริ่งไกร