หลายปีที่ผ่านมานี้ได้ยินข่าวความเคลื่อนไหวของคนหลายกลุ่มที่ตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ ต้นไม้ใหญ่ ในกรุงเทพฯมากมาย ทั้งการต่อต้านการตัดต้นไม้ใหญ่ไปจนถึงความพยายามในการเก็บรักษาต้นไม้เล็กๆ ที่เกิดขึ้นข้างทาง
ต้นไม้ใหญ่ โดยมีการรวมกลุ่มกันและจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนเห็นคุณค่าของธรรมชาติและช่วยกันสอดส่องดูแล จากจุดเริ่มต้นที่มีสมาชิกเพียงหลักร้อยคนกลับเพิ่มจำนวนเป็นหลายแสนคนในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนั้นยังต่อยอดขยายตัวออกไปเป็นกลุ่มที่มีแนวทางเดียวกันในหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในทุกวันนี้โหยหาสัมผัสของธรรมชาติจากพื้นที่สีเขียวมากเพียงใด
หากพิจารณาในแง่ของการออกแบบที่อยู่อาศัยแล้วต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ในที่ดินเดิมเหมือนเป็นต้นทุนสำคัญในการออกแบบอาคารและภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่านักออกแบบส่วนใหญ่มักจะพยายามหาวิธีรักษาต้นไม้เหล่านั้นเอาไว้ให้ได้มากที่สุดแต่ในระหว่างขั้นตอนการออกแบบก็มักจะมีปัจจัยมากมายที่ทำให้ต้องตัดต้นไม้ใหญ่ในที่ดินไปบางส่วนหรือในบางครั้งอาจต้องจำใจตัดต้นไม้ใหญ่ไปจนแทบจะหมด
สาเหตุส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจากเรื่องความคุ้มค่าในการบริหารจัดการพื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดแต่ถ้ามองในแง่ของความรู้สึกของผู้ใช้งานแล้วการรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ในพื้นที่มีอาจจะมีความสำคัญในเชิงของคุณค่ามากกว่าความคุ้มค่าในการใช้งาน
“ผมนึกถึงประเด็นนี้ขึ้นมาในระหว่างที่กำลังยืนมองต้นไม้จามจุรีขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านแผ่กิ่งก้านปกคลุมบริเวณลานไม้สลับกับสนามหญ้าเล็กๆบริเวณสวนส่วนกลางของคอนโดมิเนียมย่านบางซ่อน”
โดยมีฉากหลังเป็นรางรถไฟฟ้าที่พาดอยู่เหนือถนนด้านหน้า คาดเดาด้วยสายตาจากขนาดของลำต้นแล้ว ต้นไม้ต้นนี้น่าจะมีอายุมากกว่าสิบปี หลังจากที่ได้เดินดูจนทั่วทั้งโครงการจึงพบว่านี่ไม่ใช่เพียงต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวที่ตั้งอยู่ในโครงการนี้ แต่ยังมีต้นไม้ใหญ่อีก 5 ต้นที่แทรกตัวอยู่ตามมุมต่างๆ รอบอาคาร
ในช่วงบ่ายผมขออาศัยห้องอ่านหนังสือที่อยู่ชั้นล่างของโครงการเป็นโต๊ะทำงานชั่วคราว มองทะลุกระจกออกไปเห็นบางครอบครัวพาเด็กๆ ลงมาวิ่งเล่นอยู่บริเวณลานใต้ร่มไม้ใหญ่นั้น ผ่านไปจนถึงช่วงเย็นแสงแดดข้างนอกเริ่มอ่อนแรงลงสวนทางกับความหนาแน่นของผู้คนที่เริ่มเดินทางกลับมาถึงที่พัก มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งนั่งล้อมวงกันกินขนมพลางหยอกล้อเล่นกันหัวเราะสนุกสนาน หนุ่มพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งนั่งเอนหลังบนม้านั่งก้มหน้าเล่นโทรศัพท์สลับกับชะเง้อมองไปยังถนนด้านหน้าคล้ายกับกำลังรอใครสักคน
“ตลอดเวลาหลายชั่วโมงที่นั่งอยู่ตรงนั้นผมเห็นผู้คนมากมายและหลากหลายกิจกรรมที่หมุนเวียนกันมาใช้งานพื้นที่อเนกประสงค์แห่งนี้ โดยมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่เป็นตัวเชื่อมโยงทุกชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่เข้าไว้ด้วยกัน”
ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตอนที่ดีไซเนอร์และเจ้าของโครงการหารือกันว่าจะเก็บต้นไม้ใหญ่เหล่านี้เอาไว้หรือไม่ พวกเขาได้จินตนาการถึงภาพเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากได้มาเห็นภาพเหมือนกับที่ผมเห็นในวันนี้เชื่อว่าพวกเขาคงดีใจที่ตัดสินใจไม่ผิด
ด้วยรูปแบบไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบันที่จำเป็นต้องผูกวิถีชีวิตไว้กับเมืองเป็นหลัก ทั้งการเรียนและทำงานทำให้คอนโดมิเนียมใจกลางเมืองกลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับหลายคน เพราะสามารถตอบสนองเรื่องการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วมากกว่าเมื่อเทียบกับการเลือกบ้านในแถบชานเมือง ซึ่งแม้จะมีพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าแต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้เวลาอยู่บนท้องถนนมากขึ้น
“การเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ในโครงการนอกจากจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ต้นไม้ให้กับเมืองแล้วยังเป็นเหมือนการให้ของขวัญชิ้นสำคัญให้กับผู้อยู่อาศัยในคอนโดให้ได้มีพื้นที่สีเขียวแบบส่วนตัวไว้สำหรับพักผ่อนเติมความสดชื่นให้กับร่างกายและจิตใจ”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ที่จำนวนต้นไม้ใหญ่ในเมืองเริ่มลดน้อยลงไปทุกที แนวคิดนี้จึงอาจจะนำไปใช้เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่น่าจะตอบโจทย์ความต้องการทางด้านจิตใจของคนกรุงในปัจจุบันได้อย่างตรงประเด็น
เรื่อง: Damrong Lee
ภาพ: นันทิยา บุษบงก์