รูมรวม 10 ผลงาน สถาปัตยกรรมไทย ที่ได้รางวัลระดับโลก ซึ่งน่าสนใจและสร้างแล้วเสร็จในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเพิ่งได้รับการประกาศรางวัลในสาขาต่างๆ ในหลากหลายเวทีระดับสากลในปี 2017 นี้
การให้รางวัลกับงานออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นวัฒนธรรมหนึ่งในวงการสถาปัตยกรรมและอสังหาริมทรัพย์ที่มีหลายสื่อหลายองค์กรทั่วโลกจัดให้เกิดเป็นประจำทุกปี เพื่อเชิดชูคุณค่าของงานออกแบบ รวมถึงยกย่องความอุตสาหะของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งหลาย
เมื่อสถาปัตยกรรมได้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง สถาปนิกก็เหมือนได้ก้าวไต่ความสำเร็จขึ้นเป็นลำดับ แม้จะดูเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มเฉพาะวงการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานออกแบบที่มีเครื่องหมายการันตี ย่อมหมายถึงผลงานนั้นได้ให้คุณค่าบางอย่างซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลให้ต่อวงการออกแบบ และต่อสังคมโดยรวม
และต่อไปนี้คือ 10 ผลงานออกแบบที่เปี่ยมด้วยพลังการสร้างสรรค์ จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
- Thailand Creative and Design Center (TCDC) – Department of Architecture
ผลงานรีโนเวตส่วนหนึ่งของอาคารไปรษนีย์กลางบางรักให้เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” หรือ “TCDC”ชนะเลิศในสาขา Best Interior Project: Work ของรางวัล 2017 Blueprint Awards ที่ลอนดอน รวมถึงชนะเลิศรางวัล 2017 FX International Interior Design Awards (UK) ในสาขา Workspace Environment (Large) และอีกหลากหลายรางวัลในต่างประเทศ
- The Wine Ayutthaya – Bangkok Project Studio
ร้านอาหารซึ่งโดดเด่นด้วยวัสดุไม้อัดยาง เป็นผลงานล่าสุดของ ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio ที่ได้รับรางวัลทางสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011 ล่าสุด ในปี 2017 ก็เพิ่งได้รับรางวัล Bronze Awards จาก DFA Design for Asia Awards 2017 ซึ่งจัดโดย Hong Kong Design Centre ประเทศฮ่องกง
อ่านต่อ: The Wine Ayutthaya – จิบไวน์เคล้างานดีไซน์ในกรุงเก่า
- MAIIAM Contemporary Art Museum – all(zone)
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยของเมืองเชียงใหม่ โด่งดังด้วยฟาซาดโมเสคกระจกซึ่งสะท้อนบรรยากาศโดยรอบที่ตั้ง ทำให้อาคารทั้งโดดเด่นและกลืนหายไปกับบริบทในเวลาเดียวกัน เพิ่งได้รับรางวัล The Best New Museum of Asia/Pacific 2017 จาก Leading Culture Destinations awards หรือที่ผู้ให้รางวัลรวมถึงสื่อหลายสำนักขนานนามรางวัลว่าเป็น “Oscars” ของโครงการพิพิธภัณฑ์
อ่านต่อ: MAIIAM CONTEMPORARY ART MUSEUM
- โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว – Vin Varavarn Architects
หนึ่งใน 9 โครงการห้องเรียนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเชียงรายเมื่อปี 2557 ได้รับการชื่นชมด้วยการเป็นห้องเรียนซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยและให้พื้นที่ใช้งานที่น่าสนใจสำหรับเด็กๆ จนคว้ารางวัลมากมาย เช่นล่าสุดคือรางวัล Winner in architectural Design ของ The American Architecture Prize ปี 2017 ในสาขา Educational Buildings และ Other Architecture
อ่านต่อ: โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา กับรางวัล The American Architecture Prize 2017
- โรงเรียนบ้านหนองบัว – Junsekino Architect and Design
อีกหนึ่งใน 9 โรงเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงราย เพิ่งได้รับรางวัล WINNER: Excellent Communications Design Architecture จาก German Design Award 2018 ในฐานะที่เป็นอาคารซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ภายใต้โครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย ใช้วัสดุในท้องถิ่นซึ่งสื่อสารอย่างเป็นมิตร แต่แข็งแรงและยืดหยุ่นพอสำหรับแรงแผ่นดินไหว