ในยุคที่ขยะล้นเมือง และทรัพยากรกำลังจะหมดโลก นวัตกรรม วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งในด้านการออกแบบ และ BioMarble คือหนึ่งในโปรเจ็คต์ที่น่าจับตาของปีนี้
นวัตกรรม งานดีไซน์วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม BioMarble เกิดจากฝีมือการคิดค้นของ Hannah Elisabeth Jones ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์ในการศึกษาด้านสิ่งทอที่ Manchester School of Art ตัววัสดุทำจากขยะกระดาษ นำมาผ่านกรรมวิธีหล่อขึ้นรูปและย้อมสีเป็นชิ้นส่วนโมดูลาร์หกเหลี่ยม ในชุดสีที่แตกต่างกัน
ด้วยผิวสัมผัสที่แตกต่าง และสะดุดสายตา ผนวกเข้ากับโครงสร้างวัสดุที่มีทั้งความยืดหยุ่นคล้ายผ้า ขณะเดียวกันก็สามารถคงตัวเป็นรูปทรงได้เหมือนวัสดุเนื้อแข็ง BioMarble จึงเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ และหาไม่ได้ง่ายนักในวัสดุทั่วไป
Hannah ได้แรงบันดาลใจจากการเย็บผ้า “ควิลท์” แบบดั้งเดิมที่เกิดจากการนำเศษผ้ามาต่อกันจนเป็นผืนใหญ่ ซึ่งก็เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับการนำวัสดุจากเศษขยะกระดาษมาต่อกันจนเกิดรูปทรงแปลกใหม่ BioMarble ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และแฝงเจตนาในการบอกเล่าถึงแนวคิดวัสดุยั่งยืน สะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม กระตุ้นจิตสำนึกในการลดขยะ และการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ใหม่
นอกเหนือไปจากขยะกระดาษที่มีอยู่มากมายจนกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ดูเหมือนไม่มีวันหมด ระบบการผลิตแบบโมดูลาร์ก็ช่วยให้ BioMarble มีอนาคตอีกยาวไกลในการพัฒนาสู่วัสดุในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในตอนนี้ BioMarble ก็ได้ออกแสดงในงานแฟร์ต่างๆ มากมาย รวมถึงยังได้รับความสนใจจากองค์กร และแกลอรี่ต่างๆ ในฐานะงานศิลปะ ใครสนใจติดตามเพิ่มเติมได้ทันทีที่ www.hannahelisabethdesign.co.uk
เรื่อง MNSD
ภาพ Hannah Elisabeth Jones